xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 12

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

            ดูวิธีการแก้ไขปัญหาของญี่ปุ่นแล้วจะรู้ว่า 
          การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นอย่างไร

ประเทศญี่ปุ่นหลังประสบเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมาประสบภัยพิบัติ 3 ประการคือ แผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และการแพร่กระจายของรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ผลกระทบจากภัยพิบัติทั้ง 3 ประการมีแตกต่างกัน ส่วนที่ดูจะมีน้อยที่สุดในปัจจุบันแต่อาจจะมีต่อไปในระยะยาวมากที่สุดคือผลกระทบจากแผ่นดินไหวในคราวนี้ไม่เหมือนกับที่เกิดกับบริเวณเมืองโกเบเนื่องจากมีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยกว่า

ผลกระทบจากกระแสน้ำอันเนื่องมาจากคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่พัดเข้าหาชายฝั่งบริเวณแถบโทโฮกกุหรืออีสานญี่ปุ่นนั้นมีมากกว่าเพราะทำความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนและสาธารณูปโภคเป็นอย่างมาก รวมถึงก่อให้เกิดการขัดข้องในการระบายความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งอีสานญี่ปุ่นตอนล่างของเมืองเซนไดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และมีการรั่วไหลของรังสีออกมาสู่ภายนอกจนต้องมีการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบรัศมี 20 กม.จากโรงไฟฟ้าออกไปอยู่ที่อื่นเพื่อความปลอดภัย

สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นอดีตที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่การแก้ไขบรรเทาผลกระทบดูช่างชักช้าไม่ทันกาลและเป็นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของอดีตนายกฯ คังอยู่ไม่ได้ต้องประกาศลาออกไปเพราะประชาชนเห็นว่าทำงานไม่เป็นมวย

นายกฯโนดะได้กล่าวไว้ในที่สาธารณะหลายครั้งว่า หากไม่สามารถฟื้นฟูส่วนที่ประสบภัยพิบัติได้ประเทศญี่ปุ่นก็ไม่อาจกลับสู่สภาพเดิมได้ การฟื้นฟู หรือ 復興 จึงเป็นแนวคิดและเป็นวาระเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาลใหม่ของนายโนดะ

ความเสียหายจากสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณูปโภคนั้นรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการฟื้นฟู ประเด็นสำคัญมี 2 ส่วนคือ (1) จะหาเงินจากไหนมาฟื้นฟูสร้างสาธารณประโยชน์ที่เสียหายขึ้นมาใหม่ และ (2) จะเอาเงินจากไหนมาใช้คืน

หากเป็นรัฐบาลมักง่ายก็จะเร่งรีบกู้โดยทำงบประมาณเพิ่มเติมฉุกเฉินเป็นการเร่งด่วน และหากเป็นรัฐบาลขี้ฉ้อก็จะเป็นโอกาสอันดีเพราะมีโอกาสที่จะใช้เงินโดยวิธีพิเศษโดยอ้างเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน ยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลขี้โอ่แบบทักษิณก็จะบอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวจะเสกกระดาษให้กลายเป็นเงินให้เอาไปใช้

แต่วิธีการแก้ไขของนายโนดะนั้นดูเรียบง่ายไม่ขี้โอ่ กล่าวคือนายโนดะใช้วิธีให้คนรุ่นนี้เป็นผู้รับภาระเพราะการฟื้นฟูดังกล่าวคนรุ่นนี้ได้ประโยชน์ดังนั้นจึงเป็นภาระของคนรุ่นปัจจุบันที่จะนำเงินมาใช้คืน ไม่ใช่ส่งต่อภาระให้คนรุ่นลูกหรือหลานเป็นผู้รับภาระแทนด้วยการออกพันธบัตรกู้ยืม นายโนดะจึงเลือกวิธีการขึ้นภาษีและขายทรัพย์สิน เช่น รัฐวิสาหกิจ เพื่อมาเป็นรายได้รองรับการใช้จ่ายเพื่อการฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้นมา

นายโนดะมีทางเลือกทางการคลังหลายทาง เช่น การขึ้นภาษีผู้บริโภคหรือที่รู้จักในชื่อภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 8 หรือการขึ้นภาษีเงินได้จากทั้งนิติบุคคลคือกิจการห้างร้านต่างๆ และบุคคลธรรมดา หรือการขึ้นภาษีเหล้าและบุหรี่ หากเป็นเมืองไทยก็คงมีการโวยวายเพราะมีผลกระทบตนเอง แต่ดูเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ต่อต้านเพราะหากจะเอาแต่ปากพูดว่ายินดีทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือ แต่เมื่อถึงคราวต้องเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันเพราะอยู่ในประเทศเดียวกันจะปล่อยให้ภาคหนึ่งอยู่อย่างสุขสบาย ขณะที่อีกภาคหนึ่งเดือดร้อน ประเทศก็คงไม่สามารถก้าวไปไหนได้พ้นจากการพูดแต่ปากหรือเอาแต่ใจช่วย เพราะไม่ก่อให้เกิดมรรคผลอันใดขึ้นมา

สิ่งที่นายโนดะให้โจทย์รัฐมนตรีคลังไปทำดูจะปรากฏออกมาว่าจะมีการขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัทบุหรี่ Japan Tobacco บริษัทรถไฟฟ้าใต้ดินของโตเกียว Tokyo Metro และ/หรือ บริษัทไปรษณีย์ Japan Post Holdings ที่อาจจะได้เงินประมาณ 5 หมื่นล้านเยนร่วมกับรายรับจากการขึ้นภาษีอีกประมาณ 1.2 แสนล้านเยนเพื่อมาเป็นแหล่งรายได้ในการฟื้นฟู

ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายคนออกจากพื้นที่ที่มีรังสีรั่วไหลซึ่งในส่วนนี้ทางบริษัทไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในค่าใช้จ่าย โดยได้มีการกำหนดแนวทางในการชดเชยผลกระทบ เช่น การชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปของผู้ที่ทำงานกินเงินเดือน ค่าโยกย้ายเดินทาง หรือแม้แต่ค่าทำขวัญสำหรับผู้ที่มีความเครียดจากการต้องโยกย้ายออกมาจากที่อยู่อาศัยอีกคนละประมาณ 100,000 เยนต่อเดือนต่อคน โดยคาดการณ์ในเบื้องต้นว่ามีบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องชดเชยจากการโยกย้ายออกนอกเขตห้ามอยู่อาศัยประมาณ 5-6 แสนคน

เงินที่ต้องใช้จะมาจากการขายทรัพย์สินที่บริษัทมีอยู่ เช่น หอพัก บ้านพัก ตึกอาคารสำนักงานต่างๆ รวมถึงหุ้นของบริษัทซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะพอเพียงหรือไม่เพราะยังไม่สามารถกำหนดแนวทางชดเชยให้กับนิติบุคคลหรือกิจการประมงที่ได้รับผลกระทบได้ในปัจจุบัน

เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนของญี่ปุ่นและสอนให้เรารู้ว่า “เงิน” นั้นไม่สามารถเสกขึ้นมาได้เหมือนที่นักการเมืองไทยชอบโอ่ “เงิน” ต้องมีที่มาที่ไป มิเช่นนั้น “เงิน” ก็จะกลายเป็นกระดาษไปโดยไม่ต้องเสกแต่อย่างใด

สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าการชดเชยหรือบรรเทาผลกระทบด้านการเงินก็คือ จะทำอย่างไรต่อไปกับพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำหนดเป็นเขตห้ามเข้าอยู่อาศัยเพราะประชาชนคาดหวังว่าจะได้กลับบ้านของตนเอง แต่ทั้งรัฐบาลและบริษัทก็ยังไม่มีคำตอบให้ได้ว่าประชาชนที่ต้องมาอาศัยบ้านพักชั่วคราวนั้นจะต้องอยู่แบบถาวรไปเลยหรือไม่ หากไม่สามารถหาทางขจัดหรือลดปริมาณรังสีที่มีอยู่ได้

รัฐมนตรีกระทรวงอุสาหกรรมและการค้านายฮัชชิโนที่เพิ่งรับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่วันในรัฐบาลของนายโนดะก็เป็นเหยื่ออีกรายจากการไม่ระมัดระวังคำพูดที่ไปกระทบจิตใจจุดอ่อนไหวของประชาชนในพื้นที่จนต้องลาออกไปเพราะเพียงไปพูดว่าชุมชนต่างๆ ที่เขาได้ไปเห็นมาในเขตดังกล่าวเหมือนเมืองที่ตายแล้ว เพราะไม่มีผู้คนอยู่แม้แต่คนเดียวเหมือนเมืองร้าง

ปัญหานี้จึงดูจะเป็นประเด็นปัญหาในระยะต่อไปเพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น กรณีของเชอร์โนบิล ก็ยังไม่สามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้ หลายๆ เมืองโดยรอบยังคงเป็นสถานที่ห้ามเข้าอยู่จนถึงปัจจุบันและอาจจะต้องรอไปถึงคนรุ่นหน้า นายโนดะคงต้องหาทางออกตระเตรียมเอาไว้เพราะความคาดหวังของประชาชนกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จะทำอย่างไรให้คนที่เคยอยู่อาศัยในบ้านตนเองสามารถรับและเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ได้

แม้ว่านายโนดะจะมีแนวทางที่จะลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะยาว แต่ในระยะสั้นเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับคนในท้องถิ่นให้ยอมรับให้มีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปจนกว่าจะหาพลังงานอื่นมาทดแทนได้มิเช่นนั้นการไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างพอพียงจะเป็นอุปสรรคอันสำคัญที่ทำให้การพัฒนาก้าวไปข้างหน้าของประเทศญี่ปุ่นสะดุดหยุดลงได้ แม้ญี่ปุ่นจะมีเตาปฏิกรณ์ 54 เตาทั่วประเทศ แต่ก็สามารถเปิดเตาเพื่อผลิตกระแสไฟในปัจจุบันได้เพียงไม่กี่เตา ส่วนใหญ่ถูกปิดไปนับจากมีการตรวจซ่อมบำรุงตามกำหนดและไม่ได้เปิดใช้อีก

พลังงานนิวเคลียร์จึงอาจเปรียบเสมือนสิ่งที่พระเจ้าห้ามเอาไว้มิให้มนุษย์เข้าไปแตะต้อง แร่ที่มีกัมมันตรังสีในธรรมชาติแล้วส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในระดับที่เข้มข้นพอที่จะนำไปใช้งานแต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เมื่อมนุษย์ถือดีอวดดีนำเอาวิทยาการไปทำให้แร่เหล่านี้มีความเข้มข้นมากขึ้น ผลกรรมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมนุษย์ยังไม่สามารถแก้ไขความเข้มข้นที่เป็นอันตรายนี้ได้ ต้องรอให้มันสลายตัวไปเองตามธรรมชาติซึ่งกินเวลานาน

รูปจากบริษัทไฟฟ้าโตเกียวแสดงระดับความเข้มข้นของรังสีในบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ (บนซ้ายและล่าง) และพื้นที่อพยพ (บนขวา) จากgoogle จะเห็นได้ว่าระดับรังสีคงที่แต่มีความเข้มข้นแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

*****************************
*1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น