xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ค่าบาทแกว่งระยะสั้น ยันคุมออกบี/อีไม่กระทบดบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.ชี้ทิศทางเงินบาทยังเป็นแบบ 2 ทิศทางอยู่ แต่อาจมีบางช่วงที่อ่อนค่าไปบ้าง ย้ำการอ่อนค่าเงินบาทไม่ได้นำโด่งกว่าค่าเงินเพื่อนบ้าน ระบุตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอ่อนค่าไป 1.8% พร้อมเผยเฉพาะเดือนก.ย.ต่างชาติขนเงินออกจากตลาดพันธบัตร 2 หมื่นล้านบาทและตลาดหุ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ด้านรองผู้ว่าการธปท.ระบุเกณฑ์คุมการออกตั๋วบี/อีไม่กระทบสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบ

น.ส.วงษ์วธู โพธิรัชต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังมองว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีโอกาสที่แข็งค่าและอ่อนค่าได้อยู่ แต่อาจมีบางช่วงจังหวะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง เนื่องจากผู้ส่งออกไทยมีการขายเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็มีการซื้อเงินดอลลาร์กลับออกไป โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.ถึงปัจจุบันมีเงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตร 2 หมื่นล้านบาท และมีเงินทุนไหลออกในตลาดหุ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท

"เงินบาทยังเป็น 2 ทิศทางอยู่ แต่อาจมีบางช่วงจังหวะเวลาที่แรงไม่เท่ากัน โดยช่วงนี้ข้างคนขายเงินดอลลาร์ค่อนข้างเยอะกว่าคนซื้อเล็กน้อย ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่อ่อนช้ากว่าคนอื่นเทียบกับเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 1.8% ขณะที่เงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าเร็วมาก จากก่อนหน้านี้แข็งค่าถึง 3% ปัจจุบันกลับอ่อนค่า 2% เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์สิงคโปร์จากที่เคยแข็งค่าถึง 3% ในช่วงนี้กลับอ่อนค่า 1.6-1.7%"น.ส.วงษ์วธูกล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินในช่วงนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความเชื่อมั่นของตลาดในระยะสั้นมากกว่า เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติหันไปถือครองสกุลเงินประเทศหลักอย่างสหรัฐ เยอรมัน อังกฤษ กันมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทุกสกุล ซึ่งระดับการอ่อนค่ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยแต่ละประเทศเป็นสำคัญ อีกทั้งตลาดยังรอดูความชัดเจนจากปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้

สำหรับค่าเงินบาทวานนี้ เปิดตลาดที่ระดับ 30.60-30.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.40-30.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าสุดที่ระดับ 30.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าสุดที่ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เกณฑ์คุมบี/อีไม่กระทบสถาบันการเงิน

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวถึงกรณีที่ธปท.ออกหลักเกณฑ์ให้นำตั๋วแลกเงิน(บี/อี)เข้าไปคำนวณรวมกับฐานเงินฝาก เพื่อกำหนดเป็นการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ หลังจากช่วงที่ผ่านมาธนาคารในระบบมีการออกตั๋วบี/อีค่อนข้างมากว่า ก่อนออกมาตรการดังกล่าวออกมาธปท.ได้ทำการตรวจสอบและศึกษาผลกระทบเรียบร้อยแล้ว พบว่า ธนาคารพาณิชย์ในระบบทุกแห่งยังสามารถรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอได้อยู่ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก และเชื่อว่าไม่ได้มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยฝากในการระดมเงินฝากเช่นกัน

ทั้งนี้ การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวออกมา ธปท.ต้องการให้ตั๋วบี/อีมีการปฏิบัติเช่นเดียวกับเงินฝาก โดยมองว่าปัจจุบันในระบบมีตั๋วบี/อีมีอยู่ถึง 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 15-16%ของเงินฝากทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 8 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่มากนัก จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ และเชื่อว่าในระยะต่อไปการออกตั๋วบี/อีของธนาคารพาณิชย์จะลดลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หันออกตั๋วบี/อี เพื่อเลี่ยงต้นทุนการนำส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากในอัตรา 0.4%ต่อปี แต่มองว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เริ่มขยับมาแล้วประมาณ 2% แสดงให้เห็นว่าต้นทุนจากการนำส่งเงินไม่ได้สูงขึ้นแล้ว

"หลักเกณฑ์ตั๋วบี/อี ระหว่างทางต่อจากนี้จะมีอะไรเรื่อยๆ เพื่อดูให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่คงไม่มีประเด็นใหญ่ๆ จนกระทบเสถียรภาพสถาบันการเงินในระบบ และคงเป็นหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ทางฝั่งธปท.คงหมดแล้ว"รองผู้ว่าการธปท.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น