ธปท.แจง 2 ปัจจัย “การเมือง-หนี้กรีซ” กดดันบาทอ่อน ระบุ เงินบาทอ่อนในช่วงนี้ ยังไม่ถือว่าผิดปกติ สอดคล้องกับภูมิภาค เชื่อ หลังเลือกตั้ง เงินทุนจะไหลเข้ามากขึ้น
นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการสำนักตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 30.94-30.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนกำลังรอความชัดเจนทางด้านการเมือง จึงทำให้นักลงทุนเทขายในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร แต่การเคลื่อนไหวของเงินบาทยังเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค เพราะยังมีปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซกดดันอยู่เช่นกัน
สำหรับทิศทางในวันนี้ ต้องจับตาการประชุมเพื่อให้การช่วยเหลือประเทศกรีซ หากคลี่คลายดีขึ้นจะทำให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้น และทำให้ค่าเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือการไหลออกของเงินทุนที่ผิดปกติ
“ค่าเงินบาทช่วงนี้อ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในประเทศภูมิภาคเล็กน้อย แต่ไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะปัญหากรีซและการเมืองในประเทศที่จะมีการเลือกตั้ง ขณะการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังไม่มีภาวะผิดปกติอะไร โดยเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร แต่หลังเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยดีน่าจะเห็นเงินทุนไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคและไทยมากขึ้น”
นายสิงห์ชัย กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 4 หากเทียบกับสกุลเอเชียอื่นๆ ในภูมิภาคที่อ่อนค่าลงร้อยละ 5 แต่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตร และจะส่งผลให้เงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะกลับมาแข็งค่าได้
“ค่าเงินบาทตอนนี้แม้จะอ่อนกว่าสกุลในภูมิภาคก็ไม่น่าห่วง เพราะอ่อนกว่าไม่มาก การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังปกติ คาดว่า การที่กรีซมีสภาพคล่องมากขึ้นน่าจะช่วยให้เงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้นและทำให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตามด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าหลุด 31 บาทต่อเดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ไม่หลุดเพราะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามเงินยูโร”
อย่างไรก็ตาม ธปท.ก็มีการเตรียมมาตรการและเครื่องมือในการรับมือหากเงินบาทอ่อนค่าและผันผวนมาก หากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ มีผลกระทบรุนแรง หรือปัญหาการเมืองในประเทศวุ่นวาย
นายสิงห์ชัย กล่าวด้วยว่า ธปท.สนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารที่เป็นเงินบาท (BIBOR) เพราะสะท้อนต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจได้ดี ไม่ต้องผูกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ขณะนี้มีความผันผวน โดยดอกเบี้ย BIBOR อ้างอิงดอกเบี้ยในประเทศ ทำให้นักธุรกิจสามารถคำณวนต้นทุนดีกว่า
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีภาคธุรกิจที่ใช้การกู้ยืมด้วยดอกเบี้ย BIBOR ประมาณร้อยละ 8-10 จากยอดสินชื่อคงค้างในระบบ 100,000 ล้านบาท ซึ่ง ธปท.จะส่งเสริมให้มีการใช้ดอกเบี้ย BIBOR มากขึ้น และจะประเมินประสิทธิภาพทุก 6 เดือน