xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ขายบอนด์5หมื่นล้าน อายุ3ปี7ปีดอกเบี้ยรอ"กนง."

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเพิ่มทางเลือกผู้มีเงินออม ออกพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 3 ปี และ 7 ปี วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยรอผลประชุม กนง. 25 ส.ค. เปิดขายวันที่ 26 ส.ค.ถึง 6 ก.ย.54 หวังรองรับความต้องการผู้ออมเงิน การคุ้มครองเงินฝากลดลงและการครบอายุไถ่ถอนของพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯและคลังกว่า 7 หมื่นล้าน ยืนยันไม่เห็ยด้วยนำทุนสำรองฯ ไปลงทุนน้ำมัน เหตุเสี่ยงสูง

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงิน 11 แห่ง ได้ลงนามในบันทึกความตกลงการจำหน่ายพันธบัตร ธปท.อายุ 3 ปี และอายุ 7 ปี วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท โดยจะออกจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงสหกรณ์ มูลนิธิและองค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรทั้ง 2 ประเภทนี้ในวันที่ 26 ส.ค.ถึงวันที่ 6 ก.ย.นี้ และ ธปท.จะประกาศอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้ง 2 ประเภทนี้ หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คือ วันที่ 25 ส.ค.นี้

โดยพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 3 ปี จะให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวโดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 3 เดือน ถือเป็นการออกจำหน่ายเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก ซึ่ง ณ วันที่ 17 ส.ค.อัตราดอกเบี้ย BIBOR อยู่ระดับ 3.53% ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ที่ระดับ 3.25%ต่อปีในขณะนี้ และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระดับ 1.7-2%ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันไดโดยอิงกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในระยะเวลาเท่ากัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.57%

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีในการออกจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 3 ปี และ 7 ปี ให้กลุ่มผู้ออมที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนที่ดี และเป็นการออมระยะยาว รวมถึงเป็นช่วงที่มีการลดการคุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาทขึ้นไป และเพื่อรองรับผู้ถือพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ)และในส่วนของกระทรวงการคลังที่จะครบอายุไถ่ถอนในวันที่ 26 ส.ค.และวันที่ 5 ก.ย.นี้ จำนวน 7.5 หมื่นล้านบาทด้วย ขณะที่ธปท.เองก็ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูดซับสภาพคล่องในระบบให้มีความเหมาะสม

สำหรับผู้ที่สนใจจะต้องซื้อวงเงินขั้นต่ำ 5 หมื่นบาทต่อรายและสามารถซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าของ 1 หมื่นบาท และจะจัดสรรพันธบัตรทั้ง 2 ประเภทให้แก่ผู้สนใจซื้อตามลำดับก่อนหลังจนเต็มวงเงิน และหากความต้องการซื้อของพันธบัตรดังกล่าวรวมกันแล้วมีมากกว่าวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ธปท.ก็พร้อมพิจารณาขยายวงเงินเพิ่มเติมให้เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูดซับสภาพคล่องในระบบ

พันธบัตรอายุ 3 ปี จะได้รับอัตราดอกเบี้ยทุก 3 เดือน คือ ทุกวันที่ 26 ของเดือนก.พ. พ.ค. ส.ค.และพ.ย.ในแต่ะละปีจนครบกำหนดไถ่ถอนเงินต้นในวันที่ 26 ส.ค.57 ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี จะจ่ายอัตราดอกเบี้ยทุก 6 เดือนในวันที่ 26 ของเดือนก.พ. และ ส.ค.ของทุกปีและจะชำระเงินต้นเต็มจำนวนในวันที่ 26 ส.ค.61 ซึ่งพันธบัตรดังกล่าวจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยและจะไม่มีการบวกบวกผลตอบแทนเพิ่มเติม เพราะมองว่าให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่แล้ว

ไม่เห็นด้วยนำทุนสำรองไปลงทุนน้ำมัน

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอให้มีการนำทุนสำรองทางการระหว่างประเทศไปลงทุนในบ่อมัน บ่อก๊าซ หรือน้ำมันดิบว่า สิ่งที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ไปก่อนหน้านี้เป็นการสะท้อนความคิดเห็นโดยรวมของคนธปท.โดยมองว่าการลงทุนในลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงและอย่าลืมว่าผลตอบแทนที่ดีย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง ฉะนั้นหลักสำคัญของทุกประเทศในการบริหารทุนสำรองที่ดี คือ ต้องมีความคล่องตัว และสร้างความมั่นใจได้สามารถรับเงินต้นคืนได้

“หากนำทุนสำรองฯ ไปลงทุนระยะยาว เกิดวันข้างหน้าเกิดมีปัญหาสภาพคล่องลดลงรวดเร็วหรือมีเงินทุนไหลออกที่รุนแรงก็อาจจะมีความเสี่ยงได้ จึงมองว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ธปท.พ.ศ.2551 ที่ใช้บริหารทุนสำรองในปัจจุบันได้ขยายประเภทการนำสินทรัพย์ไปลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นและมีกรอบการลงทุนที่ดีอยู่แล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น