xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลปูอย่าเพิ่งคันหู 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย (อย่างเดียว)!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นับเป็นอีกครั้งในหลายครั้งที่กัมพูชายืนหยัดอย่างต่อเนื่องไม่เคยเปลี่ยนแปลงว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร เป็นของกัมพูชา โดยไม่เคยเรียกว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน พื้นที่พิพาท หรือพื้นที่อื่นใด

ในขณะประเทศไทยดูจะไม่มีความเชื่อมั่นและแสดงท่าทีอย่างอ่อนหัดอยู่ตลอดเวลาในเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรมาโดยตลอด

ภาคประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกพื้นที่นี้ตามบรรพบุรุษไทยว่า “ดินแดนไทย”

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในยามที่เป็นฝ่ายค้านจะเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าเป็น “ดินแดนไทย” แต่เวลาเป็นรัฐบาลส่วนใหญ่จะเรียกพื้นที่นี้ว่า “พื้นที่พิพาท”

ส่วนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดูจะสาหัสและอันตรายมากกว่านั้น เพราะวันที่ 16 กันยายน 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากจะไม่กล้ายืนยันว่าเป็นของไทยแล้ว ยังให้ปฏิบัติตามคำสั่งและแนวทางของศาลโลก ต่อมาวันที่ 17 กันยายน 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กแก้ไขสถานการณ์ยืนยันว่าเป็นของไทยแต่เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างจึงเรียกว่า “พื้นที่ทับซ้อน”

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และทนายผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหาร ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2502-2505 ได้เคยเขียนบทความ “4.6 ตารางกิโลเมตรไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน” เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 ความตอนหนึ่งว่า:

“เนื่องจากมีการกล่าวถึง “พื้นที่ทับซ้อน” ของไทย-กัมพูชาอย่างพร่ำเพรื่อและต่อเนื่อง ในฐานะที่ผมใกล้ชิดกับคดีปราสาทพระวิหารมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ผมขอยืนยันว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรหาได้เป็นพื้นที่ทับซ้อน หรือพื้นที่พิพาทแต่ประการใด การกล่าวอ้างดังกล่าวจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศปรากฏอย่างชัดเจนว่า กัมพูชาฟ้องเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ แม้ต่อมากัมพูชาได้พยายามขยายคำฟ้องอีกหลายครั้งหลายหนให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องเขตแดนตามแผนที่ระวาง 1:200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่กัมพูชาผนวกต่อท้ายคำฟ้อง แต่ศาลก็ได้ปฏิเสธทุกครั้งเนื่องจากศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเกินคำฟ้องเดิม ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้พิพากษารวม 4 ท่านได้มีคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนในคำพิพากษาแย้งและคำพิพากษาเอกเทศว่าในบริเวณเขาพระวิหารนั้น เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา (ฝรั่งเศสเดิม) อยู่ที่ขอบหน้าผาอันเป็นสันเขาที่ปันน้ำ

2. ดังนั้น พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่อยู่ฝั่งไทยจึงเป็นของไทยโดยสิ้นเชิง รวมทั้งตัวปราสาทพระวิหารด้วย ส่วนอีกฟากฝั่งของเส้นสันปันน้ำ คือ เลยขอบหน้าผาไปเป็นเขมรต่ำ ศาลมิได้ชี้ขาดว่า ปราสาทพระวิหารมิได้อยู่ในฝั่งไทยของเส้นสันปันน้ำ ศาลเพียงแต่ลงมติเสียงข้างมากว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารตามหลักกฎหมายปิดปาก ซึ่งผมก็ได้เคยชี้แจงไว้แล้วว่า ศาลตัดสินผิดและไม่มีอำนาจบังคับคดี การที่ไทยยินยอมอนุญาตให้คนจากเขมรต่ำขึ้นมายังปราสาทพระวิหารโดยข้ามชายแดนไทยเข้ามานั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของไทย แสดงว่าประเทศไทยมิได้เคยสละอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและยังคงสงวนอธิปไตยของไทยเสมอมา

3. พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น เป็นราชอาณาจักรไทยอยู่แล้ว ตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 เมื่อกัมพูชาพยายามขยายคำฟ้อง ศาลก็มิได้วินิจฉัยแต่ประการใด จึงไม่มีข้อสงสัยและไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลไทยหรือผู้หนึ่งผู้ใดจะเข้าใจอย่างผิดพลาดว่า ส่วนหนึ่งส่วนใดของพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่พิพาทหรือพื้นที่ทับซ้อน หรือแม้แต่จะตั้งข้อสงสัยว่าเขมรมีส่วนเป็นเจ้าของซึ่งเท่ากับเป็นการหยิบยื่นอธิปไตยเหนือพื้นแผ่นดินไทยให้แก่กัมพูชา

4. อนึ่ง พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น เป็นของไทยโดยการปักปันเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว และบริเวณเขาพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดงรัก (เขาบรรทัด) คณะกรรมการปักปันผสมไทย-ฝรั่งเศส ได้เห็นพ้องต้องกันว่าไม่ต้องมีการปักหลักเขต ทั้งนี้ เพราะแนวสันปันน้ำคือเส้นแบ่งเขตธรรมชาติที่ชัดเจน แน่นอน และถาวรตลอดไป”

บทความที่กล่าวมาข้างต้นยังคงต้องนำมาใช้เตือนได้อีกหลายครั้ง เพราะนักการเมืองไทยเวลามาเป็นรัฐบาลมักจะไม่พยายามยืนยันหรือประกาศว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของประเทศไทย

ในวันเดียวกันที่บทความของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล นี้ได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 ก็ได้ปรากฏว่ากระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ออกแถลงการณ์กรณีธงกัมพูชาที่ปรากฏอยู่เหนือ “วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ” ความว่า:

“ตามที่กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชามีคำประกาศลงวันที่ 28 มกราคม 2554 เกี่ยวกับธงกัมพูชาที่ปรากฏอยู่เหนือ “วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ” นั้นกระทรวงการต่างประเทศขอแถลงดังนี้

1. ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (MOU 2543) อนุสัญญาและสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 และค.ศ. 1907 และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้สัญญาทั้งสองฉบับ ถือเป็นเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเขตแดน ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ยอมรับข้ออ้างของกัมพูชาว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เป็นเอกสารที่จะกำหนดเขตแดน

2. กัมพูชาได้ยอมรับในคำประกาศฉบับดังกล่าวว่า คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อปี 2505 (ค.ศ. 1962) มิได้ตัดสินในเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา

3. ประเทศไทยยืนยันว่า “วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ” ตั้งอยู่ในอาณาเขตไทย และเรียกร้องให้ประเทศกัมพูชารื้อถอนวัดแก้วฯ และปลดธงกัมพูชาที่ประดับเหนือวัดแก้วฯ ข้อเรียกร้องนี้เป็นการย้ำถึงการประท้วงหลายครั้งของไทยต่อกัมพูชาเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในวัดแก้วฯ และบริเวณโดยรอบ ซึ่งล้วนเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย

4. กระทรวงการต่างประเทศยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา การกำหนดเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการฯ

แถลงการณ์ดังกล่าวของกระทรวงการต่างประเทศ ถือเป็นแถลงการณ์แรก เป็นแถลงการณ์เดียว และเป็นแถลงการณ์สุดท้ายที่ยืนยันเส้นเขตแดนของประเทศไทยอย่างชัดเจนที่สุด

แต่แถลงการณ์การยืนยันเส้นเขตแดนของประเทศไทยตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ถูกนำมาใช้ทั้งในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อาเซียน หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกเลย นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ไทยกลับเรื่อง MOU 2543 จนทำให้ฝ่ายไทยไม่ตอบโต้ใดๆ ได้อีก ดังนี้

“1.อนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ปี ค.ศ. 1907 ตั้งคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดนระหว่างอินโด-จีนและสยาม คณะกรรมการฝรั่งเศส-สยามได้จัดทำแผนที่ 1:200,000 ขึ้นมาชุดหนึ่ง รวมถึงแผนที่ “ดงรัก” ซึ่งรวมปราสาทพระวิหาร ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอ้างถึงว่า แผนที่ “ผนวก 1”

บันทึกความเข้าใจฯ ปี 2000 (MOU 2543) ข้อ 1 (ค) อ้างถึงอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 เช่นเดียวกันกับแผนที่ของงานจัดทำหลักเขตของคณะกรรมการผสมปักปันเขตแดนระหว่างอินโด-จีนและสยาม ที่ตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญาและสนธิสัญญาที่กล่าวถึง

2. พื้นฐานคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ปี ค.ศ. 1962 ซึ่งโดยหลักการอาศัยแผนที่ “ผนวก 1” ได้ให้ความเห็นอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้:

“ศาล อย่างไรก็ตาม เห็นว่าประเทศไทยในปี ค.ศ. 1908-1909 ได้รับยอมแผนที่ผนวก 1 ในฐานะเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้จึงจดจำเส้นบนแผนที่นั้นในฐานะเป็นเส้นเขตแดน ผลคือวางพระวิหารในพื้นดินกัมพูชา” …

“คู่ภาคี โดยการปฏิบัติ จดจำเส้นและด้วยเหตุนั้น เป็นผลเห็นชอบให้อ้างเส้นนั้นเป็นเส้นเขตแดน” …

“อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าคู่ภาคีได้แนบสิ่งสำคัญเป็นพิเศษใดลงไปยังเส้นสันปันน้ำ.. ศาล ด้วยเหตุนี้ รับรู้ขอบเขต ตามการตีความสนธิสัญญาที่จะประกาศความชอบของเส้นตามที่ลากไว้ในพื้นที่พิพาท”…ฯลฯ…

ด้วยเหตุนี้ วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระตั้งอยู่บนพื้นดินกัมพูชาโดยชอบตามกฎหมาย และไม่มีเหตุผลใดที่กัมพูชาจะย้ายวัดนี้ไปไว้ที่อื่น และกัมพูชาจะยังคงปักธงชาติไว้ที่นั่น

3. เป็นที่รับทราบอย่างดีในประเทศไทยว่า วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระสร้างโดยประชาชนของกัมพูชา ในปี ค.ศ. 1998 พร้อมธงของราชอาณาจักรกัมพูชาโบกเหนือวัดนี้นับแต่นั้น คำถามคือทำไมประเทศไทยเพิ่งจะเรียกร้องให้ปลดธงชาติกัมพูชาในเวลานี้ กระทั่งปัจจุบัน กัมพูชายังไม่เคยได้รับข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการจากประเทศไทย

4. ความปรารถนาโดยบริสุทธิ์เพียงอย่างเดียวของกัมพูชา คือ การหาทางออกอย่างสันติกับประเทศไทยต่อการจัดทำหลักเขตแดนโดยยึดตามเอกสารทางกฎหมาย รวมถึงข้อตกลงของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) กัมพูชารักษาสิทธิที่จะปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของตนเอง ขณะที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ขู่จะประกาศสงครามต่อกัมพูชา”

ความหมายแถลงการณ์ของกัมพูชาข้างต้นก็คือการใช้ “มูลฐาน” ของการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารให้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชานั้น มาจากการใช้กฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มาผนวกกับแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งระบุเอาไว้ในข้อ 1 (ค) ตาม MOU 2543 ทำให้กัมพูชาถือว่าไทยต้องปฏิบัติตามแผนที่มาตรส่วน 1: 200,000 ในทุกระวาง

ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีการตีความหรือขยายความคำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้และอาจจะตัดสินคดีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ว่าจะเกิดประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน

ถ้าเป็นคุณต่อประเทศไทย สูงสุดก็คือ “เสียดินแดนไม่เกินไปกว่าที่ได้สูญเสียไป”เมื่อปี พ.ศ. 2505

ถ้าเป็นโทษต่อประเทศไทยก็คือการ “เสียดินแดนมากไปกว่าเดิม” เมื่อปี พ.ศ. 2505

ภาษาการค้าก็คือมีแต่ “เจ๊งเท่าเดิม” หรือ “เจ๊งมากขึ้นกว่าเดิม”

การที่รัฐบาลไทยได้เคยประท้วง คัดค้าน และสงวนสิทธิ์ต่อองค์การสหประชาชาติว่าจะทวงคืนปราสาทพระวิหาร เอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 นั้น เพราะไม่เห็นด้วยแม้กระทั่งมูลเหตุในการตัดสินคดีนี้ที่อ้างกฎหมายปิดปากในเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 อันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอยุติธรรมสนใจแต่เฉพาะกฎหมายปิดปากจน “ไม่พิจารณา” และ “ไม่กล่าวถึง” ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายไทยได้ยกขึ้นต่อสู้ ในคำพิพากษาหลักเลย อันได้แก่

1. สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน

2. การเขียนแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ทำผิดพลาดในเรื่องสำคัญไม่สอดคล้องกับแนวสันปันน้ำที่แท้จริง

3. ผลงานสำรวจและวิจัยทางวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยาระบุอย่างชัดเจนว่าสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา

4. บันทึกของฝรั่งเศสที่ระบุอย่างชัดเจนในการสำรวจว่า “สันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผามองเห็นได้จากตีนภูเขาดงรัก”

ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงประท้วงและได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ อีกทั้งยังแสดงออกไม่เห็นด้วยกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยการไม่ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยบังคับอีก นับตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารมาจนถึงปัจจุบันมากว่า 50 ปีมาแล้ว

ดังนั้นหากประเทศไทยจะไปยอมรับอำนาจศาลโลกการตีความคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 อีกครั้งในปี 2554-2555 โดยนิ่งเฉย ย่อมแสดงว่าประเทศไทย “กลับลำ” ไม่ปฏิเสธการที่ศาลโลกเคยใช้กฎหมายปิดปากกับประเทศไทยในกรณีแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 เป็นมูลฐานที่ใช้ตัดสินให้ไทยต้องพ่ายแพ้กับกัมพูชาทำให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาไปด้วย

ซึ่งถือว่ามีสุ่มเสี่ยงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปล่อยให้มีการตีความหมายคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ว่า ให้ทหารไทยถอยออกจากพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทนั้นมีขอบเขตมากแค่ไหน!?

ประเทศไทยจึงน่าจะเดินตามแนวทางของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล มากกว่าโดย “ไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” โดยอ้าง “ข้อสงวนของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2505” และ “ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมาเกือบ 50 ปี” อีกทั้งการตีความครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประเด็นใหม่เกินขอบเขตเดิม และไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเดิมครบถ้วนแล้ว ดังนั้นประเทศไทยจึงไม่รับการตัดสินใดๆ เพิ่มเติมจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ประเทศไทยไม่เคยหยิบยกมาใช้เลยในการต่อสู้กับกัมพูชาในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

หรือรัฐบาลชุดนี้เชื่อเรื่องการใช้แนวทางเจรจาแบบสันติวิธี และยังคงรักษาอธิปไตยไทยได้ ก็จะต้องบรรลุเป้าหมาย 3 ประการแสดงให้ดูเป็นอย่างน้อยคือ

1. ให้กัมพูชาถอนคดีปราสาทพระวิหารให้ออกจากการตีความที่ศาลโลก แล้วให้กลับมาเจรจากันใหม่โดยสองประเทศในกรอบเงื่อนไขใหม่

2. ให้กัมพูชาถอนทะเบียนบัญชีปราสาทพระวิหารออกจากมรดกโลกและพื้นที่โดยรอบ (ซึ่งระบุว่าเป็นของกัมพูชาฝ่ายเดียว) แล้วจึงค่อยกลับมาเจรจากันใหม่ในเรื่องมรดกโลก

3. ให้ชุมชนกัมพูชาถอยออกจากการรุกล้ำอธิปไตยในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แล้วมาเจรจากันใหม่

หากทำไม่ได้ตามนี้ก็แปลว่าสันติวิธีของรัฐบาลชุดนี้รักษาอธิปไตยไทยไว้ไม่ได้ หรือหากเสียดินแดนก็ถือว่าเป็นการสร้างสันติภาพโดยยกดินแดนให้ชาติอื่นเป็นของกำนัล

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เสียอธิปไตยเหนือดินแดนรอบปราสาทพระวิหาร “ในทางปฏิบัติ” ไปแล้ว ดังนั้นหากถึงขั้นเสียดินแดนในทางนิตินัยปีหน้าซ้ำอีก ก็ถือว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะต้องรับผิดชอบทั้งคู่!
กำลังโหลดความคิดเห็น