xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิ้งค์ชงครม.กู้เงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แอร์พอร์ตลิ้งค์”ลุ้นครม.ไฟเขียวกู้เงิน 1,860 ล้านบาท เผยสบน.ส่งเรื่อง ชงครม.แล้ว คาดพิจารณา 27 ก.ย.นี้ ระบุเพิ่มทุนหมุนเวียนเป็น 2,000 ล้านบาทก้อนแรก 420 ล้านบาทใช้บริหารปี 55 ก่อน เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ 7,035 ล้านบาทก่อนเดินหน้าซื้อรถเพิ่มอีก 5 ขบวน วงเงิน 3,000ลบ.

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิ้งค์) เปิดเผยว่า ได้รับทราบว่าทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง ได้ส่งเรื่องการจัดหาแหล่งเงินกู้ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำนวน 1,860 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วและอยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะนำสามารถนำเสนอครม.พิจารณาได้ในวันที่ 27 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ การจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ บ.รถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด จำนวน 1,860 ล้านบาทนั้นเป็นไปตามมติครม. เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ซึ่งจะให้แอร์พอร์ตลิ้งค์มีทุนหเพิ่มจากทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาทเป็น 2,000 ล้านบาท โดยหากครม.เห็นชอบ แผนกู้เงินในงวดแรกกำหนดไว้ที่ 410 ล้านบาท หรือ 3 เท่าของทุนจดทะเบียน โดยจะนำมาใช้สำหรับการดำเนินงานในปี 2555 ส่วนหนี้ทั้งสิ้นมีประมาณ 7,035 ล้านบาท

นายภากรณ์กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการนั้นจะต้องมีการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าใหม่ ซึ่งตามแผนจะสั่งซื้อทั้งหมดพร้อมกัน 5 ขบวน แบบขบวนละ 4 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1,000 คน จากปัจจุบันที่ 1 ขบวนๆ ละ 3 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 750 คนต่อขบวน ทั้งนี้การจัดซื้อขบวนรถใหม่นั้นจะต้องรอหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้เรียบร้อยก่อนเนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อทั้งหมดประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือ 150 ล้านบาทต่อตู้

“การส่งมอบรถไฟฟ้าใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งตามแผนจะสั่งซื้อในปี 2555 จะรับมอบปี 2557 ขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันจะวิ่งครบ 1 ล้านกิโลเมตรพอดี ดังนั้นจะต้องทยอยนำไปเช็คสภาพและซ่อมบำรุง รถที่ใช้อยู่จะลดลง จากที่มีอยู่ 5 ขบวน แบ่งเป็นขบวนที่วิ่งให้บริการ 4 ขบวน และขบวนสำรอง 1 ขบวน ก็จะเหลือน้อยลงไปอีกหากไม่มีขบวนใหม่เข้ามาทดแทนก็จะเกิดปัญหาขึ้นแน่นอน”นายภากรณ์กล่าว

ปัจจุบันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ขบวนธรรมดา (City Line) เฉลี่ย 3.7 หมื่นคนต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.14 ล้านบาทต่อวัน (31 บาทต่อคนต่อเที่ยว) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดระยะห่างเที่ยววิ่งลงจาก 15 นาทีต่อขบวน เพื่อเพิ่มให้มีความถี่ ซึ่งจะช่วยให้สามารมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น
กำลังโหลดความคิดเห็น