xs
xsm
sm
md
lg

ใช้GSPส่งออก6เดือนเพิ่ม23%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”เผยยอดส่งออกภายใต้ GSP ช่วง 6 เดือนปี 2554 มูลค่ากว่า 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.94% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 63.14%จากยอดส่งออกสินค้าที่ได้ GSP ทั้งหมด แนะตรวจสอบสินค้าว่าได้ GSPหรือไม่ก่อนทำการส่งออกเพื่อลดต้นทุน
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในช่วง 6 เดือนของปี 2554 (ม.ค.-มิ.ย.) ว่า ไทยส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ทุกระบบมีมูลค่า 7,524.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการใช้สิทธิ 6,120.10 ล้านเหรียญสหรัฐ และคิดเป็นสัดส่วน 63.14% เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับ GSPที่ส่งออกรวมมูลค่า 11,916.01 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้สิทธิ GSP ของไทยแยกเป็นรายประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป มีการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP 7,197.21 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ใช้สิทธิ GSP เพียง 4,889.43 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ 67.94% สหรัฐฯ ส่งออก 3,170.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ 1,765.41 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 55.69% ตุรกี ส่งออก 520.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ 447.27 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 86%
สวิตเซอร์แลนด์ ส่งออก 378.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ 155.45 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 41.10% แคนาดา ส่งออก 276.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ 121.99 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 44.04% รัสเซียและรัฐอิสระ(CIS) ส่งออก 120.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ 83.46 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 69.47% ญี่ปุ่น ส่งออก 169.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ 22.87 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13.51% และนอร์เวย์ ส่งออก 83.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ 38.28 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 45.60%
“ปัจจุบันมี 44 ประเทศที่ให้สิทธิ GSP แก่สินค้าไทย แต่ก็พบว่าไทยยังคงใช้สิทธิ GSP ได้ไม่เต็มตามโควตาที่ให้ไว้ โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิรวมขณะนี้อยู่ที่ 63.14% เกินครึ่งไม่มาก ซึ่งกรมฯ อยากจะขอให้ผู้ประกอบการที่จะทำการส่งออกสินค้าไปยังทั้ง 44 ประเทศเหล่านี้ ขอให้ตรวจสอบดูก่อนว่าสินค้านั้นๆ ได้รับสิทธิ GSP หรือไม่ ถ้าได้ก็ควรจะขอใช้สิทธิในการลดต้นทุนสินค้า
เพื่อทำให้สินค้าแข่งขันได้ดีขึ้น”นายสุรศักดิ์กล่าว
สำหรับสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP สูงในช่วง 6 เดือนปี 2554 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วน 82% ของการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด และสินค้าเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 18% โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่ง เครื่องประดับทำจากเงิน เลนส์แว่นตา เครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง ยางเรเดียลรถบรรทุก สับปะรดกระป๋อง ยางเรเดียลรถยนต์นั่ง และกุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น