สมการการเมือง
โดย : พาณิชย์ ภูมิพระราม
กิตติรัตน์ ณ ระนอง และธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประสานเสียงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้รัฐบาลผลักดันนโยบายประชานิยมให้เห็นผลก่อน
ไม่ว่าผลของนโยบายดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
“ขอยืนยันว่าต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากขณะนี้เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ไม่ได้เกิดมาจากเศรษฐกิจที่มีความร้อนแรงจนเกินไป ดังนั้น ธปท.จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อมาควบคุมเงินเฟ้อ” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ บอกกับผู้เข้าร่วมสัมมนาในงาน“เดินหน้านโยบายปากท้อง”
เช่นเดียวกับ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รมว.คลัง แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ ธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่สูงกว่ากรอบ 0.5-3% และเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.รอบที่แล้วน่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของปีนี้
“ถ้า ธปท.จะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก ก็จะขอขยับกรอบเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก เพราะดอกเบี้ยเป็นตัวเพิ่มต้นทุนรายจ่ายของประชาชนและเอกชน”
นั่นหมายความว่า การเตรียมเพิ่มรายได้ 300 บาทต่อวัน หรือการปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้ข้าราชการเพื่อให้เงินเดือนของผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้ 15,000 บาท หรือแม้กระทั่งการงดส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ล้วนแล้วแต่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
รัฐบาลจึงกลัวการปรับอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติมากเป็นพิเศษ
เนื่องจากหากแบงก์ชาติปรับอัตราดอกเบี้ย นั่นหมายความว่า ความกลวงของนโยบายประชานิยม จะทำให้โครงการเหล่านั้นไม่เห็นผล
มิหนำซ้ำอาจจะส่งผลเสียต่อคนทั่วไป
ยังไม่รวมถึงโครงการจำนำข้าวที่จะต้องใช้เงินกว่า 4 แสนล้านบาท
โดยรัฐบาลจะทดลองลองตลาดเป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วหากรัฐบาลไม่สามารถขายข้าวได้ตามแผน จะมีการทบทวนสัดส่วนลดการเพาะปลูกข้าวจาก 58 ล้านไร่ เพื่อหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นทดแทน เช่น พืชตระกูลถั่ว
“รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินนโยบายด้านการเงินเฟ้อ เพราะว่าตอนนี้มีการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อล่วงหน้า ถ้ากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าจำเป็น เช่น ก๊าซหุงต้ม ไข่ เนื้อสัตว์ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นมาจริงๆ ซึ่งหากเกิดภาวะเงินเฟ้อแล้ว นโยบายการปรับขึ้นรายได้จะไม่ได้ผลมากนัก” ภานุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ขยายความอันตรายของอัตราเงินเฟ้น
นอกจากนั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการลดภาษีสรรพาสามิตในโครงการรถยนต์คันแรก
มีการกำหนดเงื่อนไขว่า หากเป็นรถยนต์นั่ง ต้องไม่เกิน 1,500 ซีซี ในราคาไม่เกินคันละ 1 ล้านบาท ส่วนรถกระบะนั้น ไม่กำหนด ซีซี และผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงผู้ที่เริ่มทำงานใหม่ตรงตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 54-31 ธ.ค. 55 นี้เท่านั้น รวมทั้งต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ)
สำหรับรูปแบบการคืนเงินนั้น หลังจากที่ซื้อรถแล้ว ผู้ซื้อต้องนำเอกสารการซื้อไปยื่นขอรับเงินภาษีสรรพสามิตรถยนต์คืนได้ที่สรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ 280 แห่ง โดยกรมสรรพสามิตจะคืนเป็นเช็คให้หลังจากวันที่ซื้อรถแล้ว 1 ปี และมีเงื่อนไขว่า ผู้ซื้อต้องถือครองรถนาน 5 ปี ไม่สามารถโอนได้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีความต้องการซื้อรถใหม่เพิ่มขึ้น 500,000 คัน และส่งผลให้การเก็บภาษีรถยนต์ในปี 55 สูงขึ้นมาก เพราะการคืนภาษีจะเริ่มในปีถัดไป
นั่นคือแนวทางการคืนภาษี 1 แสนบาท ประกอบด้วย
1.ผู้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555 ต้องยื่นคำขอคืนเงินกับกรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ พร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
-หนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี
-สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ซื้อ
-สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ (ในกรณีเช่าซื้อ)
2.กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่มีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อขอตรวจสอบการครอบครองรถยนต์คันแรก และแจ้งการสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปีของผู้ซื้อ
3.กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบและบันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ลงในคอมพิวเตอร์และในสมุดคู่มือการจดทะเบียน
4.กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดส่งหนังสือรับรองการครอบครองรถยนต์คันแรก และสำเนาคู่มือการจดทะเบียนที่บันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ให้กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่
5.กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 เป็นต้นไป
กรมสรรพสามิตประเมินว่า ในปี 54 นี้คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรถยนต์ 1.9 ล้านคัน ส่งขายต่างประเทศ 1 ล้านคัน ซึ่งไม่เก็บภาษี และขายในประเทศ 900,000 คัน ดังนั้น รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการดังกล่าว จึงน่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศในปีหน้า เพิ่มขึ้นอีก 50% จากฐานในปี 54 ขึ้นอยู่กับว่าผู้ซื้อรถจะอินกับนโยบายนี้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณ สำหรับคืนเงินให้ผู้ซื้อรถ ในโครงการนี้ ระหว่าง 9,000-30,000 ล้านบาท แต่หากใช้สิทธิถึง 500,000 คัน จะต้องตั้งงบประมาณคืนเงิน 30,000 ล้านบาท
แต่ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ ตกการคำนวณ คิดเลขไม่เป็น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่มาตรการงดส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้แก๊ซโซฮอล์มีราคาเท่ากับเบนซิน จนเบนซิน 91 ขาดตลาด
สวนทางกับนโยบายการใช้พลังทดแทน
มิหนำซ้ำราคาสินค้ายังไม่ได้
ลดได้แค่ 50 สตางค์ค่ารถเมล์เท่านั้น
มาตรการคืนภาษีสรรพสามิต 1 แสนบาท ก็กลับไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อคนในสังคมวงกว้าง
“แนวทางการส่งเสริมยังไม่กระจายในวงกว้าง จำกัดอยู่แค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น คือ รถอีโค คาร์ และปิกอัพ แต่ข้ามรถในกลุ่ม บี-เซ็กเมนท์ หรือซับคอมแพคท์ ที่มีโครงสร้างราคาอยู่ระหว่าง อีโค คาร์ กับปิกอัพ และเป็นรถที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มรถยนต์นั่ง มีผู้จำหน่ายหลายราย และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าโครงการรถคันแรกได้ ต่างจากอีโค คาร์ ที่เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อย ที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา” นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายตัวเลขคณิตศาสตร์การตลาดให้รัฐบาลคิดเป็นทำเป็นมากขึ้น
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดคนเดียวกันนี้บอกว่า รถในกลุ่ม บี-เซ็กเมนท์ จัดอยู่ในกลุ่มรถที่เรียกว่า new entry หรือรถคันแรกของผู้บริโภค ก่อนที่จะเกิดโครงการอีโค คาร์ ที่สำคัญผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังคงเลือก บี-คาร์ เป็นรถคันแรก เนื่องจากเห็นว่าอีโค คาร์ มีขนาดเล็กเกินไป และไม่เหมาะกับใช้งานต่างจังหวัด หรือขับทางไกล โดยรถที่ทำตลาดในปัจจุบัน เช่น โตโยต้า ยาริส โตโยต้า วีออส ฮอนด้า แจ๊ซ ฮอนด้า ซิตี้ มาสด้า 2 ฟอร์ด เฟียสต้า เชฟโรเลต อาวีโอ เป็นต้น และมีสัดส่วนการขายสูงกว่า 50% ของตลาดรถยนต์นั่ง
“ลูกค้ารถในกลุ่มตอนเดียว และรุ่นมีแค็บ ที่ลูกค้าซื้อไปประกอบอาชีพนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ประจำ เช่น เกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมา ใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สวน หรือเรือสำหรับชาวประมง เป็นต้น ทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้”
ดังนั้น จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครได้ประโยชน์จากโครงการขี้โม้เหล่านี้อีกเช่นเคย