ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลงานตามนโยบายของรัฐบาลที่มีการพูดถึงและดำเนินการออกมาเป็นรูปธรรมที่สุดไม่ได้มีแต่โม้เท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ก็คงหนีไม่พ้นมาตรการคืนเงินสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรก 1 แสนบาทที่รัฐมนตรีมือใหม่อย่าง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” รมช.คลัง ที่รับหน้าที่กำกับดูแลกรมจัดเก็บภาษีทั้ง 3 แห่ง ประกอบไปด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร
แรกเริ่มเดิมทีนโยบายนี้ยังมีความสับสนอยู่เล็กน้อยว่าวิธีปฏิบัติจะทำอย่างไรในแง่การคืนภาษีหรือลดหย่อนภาษี เนื่องจากประชากรทั้งประเทศกว่า 64 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 เพียง 9 ล้านรายเท่านั้น หวยจึงมาออกที่กรมสรรพสามิตแทนโดยรูปแบบของโครงการได้เปลี่ยนจากการลดหย่อนภาษีมาเป็นการคืนภาษีแทน เพราะหากใช้การลดหย่อนประชาชนที่ไม่เคยอยู่ในระบบภาษีของกรมสรรพากรก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้แต่อย่างใด
จนในที่สุดโครงการนี้ก็คลอดออกมาให้ประชาชนทั้งประเทศที่เฝ้ารอได้เห็นหน้าตากันสักที โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการคืนภาษีสรรพสามิตสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรกในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้กรมสรรพสามิตลดหย่อนภาษีสรรพสามิตตามจริงไม่เกิน 1 แสนบาท มีขนาดไม่เกิน 1500 ซีซี
กรมสรรพสามิตจะคืนเงินภาษีโดยตรงให้กับผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของรถยนต์ ซึ่งจะเริ่มพิจารณาจากลักฐานการจองซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 และเมื่อสิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2555 จะยึดจากการทำสัญญาซื้อขายกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แล้ว จึงจะมีสิทธิขอคืนภาษี ส่วนการส่งมอบรถยนต์สามารถทำหลังจากนั้นได้
เมื่อผู้ซื้อรถยนต์มีเอกสาร 7 อย่างครบตามที่กำหนดประกอบไปด้วย 1.แบบคำขอคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.สำเนาทะเบียนบ้าน 4.สำเนาสัญญาเช่าซื้อกรณีที่เป็นการเช่าซื้อ 5.สำเนาคู่มือการจดทะเบียน 6.หนังสือยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี และ7.หลักฐานการซื้อขายรถยนต์ จึงจะสามารถนำมายื่นขอคืนคืนภาษีจากรัฐบาลได้ แต่จะได้รับคืนจริงหลังจาก 1 ปีหลังเป็นกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ไปแล้ว ซึ่งหากเป็นการเช่าซื้อ รัฐบาลจะตีเช็คจ่ายคืนภาษีให้กับผู้ซื้อโดยตรง ไม่ใช่สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อแต่อย่างใด
หากผู้ซื้อรถไม่สามารถผ่อนชำระได้ครบตามกำหนดและถูกยึดรถคืน หากกรณีนำรถมาคืนอย่างถูกต้องจะให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ช่วยตามทวงภาษีคืนจากผู้ซื้อรถให้ เพื่อแลกกับการปลดล็อกสิทธิการโอนให้ 5 ปี แต่หากเป็นการละทิ้งไปเลยกรมสรรพสามิตก็จะติดตามเรียกเงินภาษีคืนเช่นกัน แต่ยอมรับว่าการคืนภาษีครั้งนี้ ไม่มีกลไกตามภาษีคืน และไม่ค่าปรับเงินเพิ่มเหมือนกับการไม่จ่ายภาษีกรมสรรพากร เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ใช่บทบัญญัติทางกฎหมายและไม่ใช่มาตรการภาษี รัฐบาลต้องใช้กฎหมายแพ่งตามฟ้องเรียกภาษีคืนจากผู้ซื้อรถเป็นรายๆ ไป
“เรายืนยันว่ามาตรการดังกล่าวมาถูกทางแล้ว เพราะต้องการให้โอกาสกับคนที่ต้องการเริ่มต้นชีวิต และหากยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นและจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้มากขึ้นตามไปด้วย และไม่ได้สวนทางกกับการประหยัดพลังงาน เพราะได้กำหนดที่รถยนต์ประหยัดพลังงาน ประเภทอีโคคาร์ รวมถึงเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซีที่ไมได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากนัก ซึ่งรัฐบาลจะเปิดตัวโครงการอีกครั้งในวันที่ 4 ตุลาคม”
เหมือนหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบนโยบายคืนภาษีรถคันแรกกำลังจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี เพียงแค่ประกาศเงื่อนไขออกมาข้ามวันทั้งดอกไม้ ก้อนหินและกระถางปลิวกันให้ว่อนกระทรวงการคลังทั้งจากผู้ประกอบการ ประชาชน ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากโครงการนี้
ประเด็นแรกอยู่ที่วงเงินภาษีของประเทศที่ตั้งไว้ 3 หมื่นล้านบาทเพื่อคืนให้กับผู้ซื้อรถยนต์นั้น ถามว่าคุ้มค่าไหม? ก็คงประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจออกมาได้ยากมาก นักวิชาการหลายคนถึงกับส่ายหน้า เงินภาษี 3 หมื่นล้านบาทสร้างรถไฟฟ้าจากรังสิตเข้ามาเชื่อมต่อสายในเมืองที่บางซื่อได้ ขนคนเข้าออกได้วันละนับล้าน ลดปริมาณการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างมหาศาล แต่ในเมื่อหาเสียงไว้แล้วไม่ทำก็ไม่ได้เดี๋ยวเขาจะหาว่าดีแต่โม้ก็ต้องเดินหน้าทำตามนโยบายกันให้เสร็จเป็นรูปธรรมสักเรื่อง
ประเด็นต่อมาผู้ประกอบการรถยนต์ที่ไม่มีรถในข่ายที่จะได้ประโยชน์ก็ขู่ฟ่อๆ จะยื่นฟ้องรัฐบาลต่อองค์การการค้าโลกหรือ WTO เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกีดกันทางการค้าและแทรกแซงกลไกการค้าระหว่างประเทศ แต่รัฐมนตรีบุญทรงก็แจ้นออกมาแก้ข่าวโดยพลันโดยยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการกีดกันทางการค้าหรือการแทรกแซงราคา เพราะเป็นนโยบายภายในประเทศ ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนมีรถยนต์คันแรก โดยเน้นไปที่ผู้ซื้อเป็นหลัก ขณะที่กระบวนการซื้อขายยังเป็นไปตามปกติ
“รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีรถยนต์คันแรก จึงกำหนดไปที่รถยนต์ที่มีการประกอบในประเทศเป็นหลักและเน้นไปที่ผู้ซื้อ ไม่ได้เน้นที่ผู้ประกอบการ จึงไม่ได้มองว่ามีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งการที่ค่ายรถยนต์เตรียมฟ้องร้องรัฐบาลก็จะขอรอดูว่าจะเป็นการฟ้องร้องในรูปแบบไหนอย่างไร จึงจะมีการทบทวนรายละเอียด ของมาตรการ ที่ได้ประกาศไป แต่ตอนนี้ที่ประกาศไป รถที่ซื้อได้ ยังเป็นเฉพาะรถยนต์ที่ประกอบในประเทศเท่านั้น"
แล้วยังมีประเด็นที่บริษัทลีสซิ่งกลัวว่าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการแล้วได้คืนเงินจากรัฐบาลแล้วจะชิ่ง ชักดาบเกิดหนี้เน่าจึงอยากให้รัฐบาลมาอุดหนุนในส่วนนี้ด้วย เพราะเงื่อนไขห้ามโอน 5 ปียังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการการเข้าร่วมโครงการนี้อยู่ ไม่แน่หากปัญหามีจริงก็คงเหลือไฟแนนซ์ไม่กี่รายเท่านั้นที่จะเข้าร่วมโครงการ
วิบากกรรมของโครงการประชานิยมชุดใหญ่เพิ่งจะเริ่มต้น รถคันแรกเป็นนโยบายแรกที่จับขึ้นมาทำปุ๊บก็มีปัญหาปั๊บ คิวต่อไปบ้านหลังแรกจะมีความท้าทายเกิดขึ้นเหมือนรถยนต์คันแรกหรือไม่ บ้านที่เข้าร่วมจะ 3 ล้านหรือ 5 ล้าน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จะเสียงดังกว่าผู้ประกอบการรถยนต์หรือไม่ ผู้ได้ประโยชน์จริงๆ คือใคร และสุดท้ายเงินภาษีหลายหมื่นล้านบาทจะไปอยู่ในมือใครบ้างจงอย่ากระพริบตา!...