รมว.อุตฯ เดินหน้าถก “พลังงาน-คลัง” เตรียมรื้อโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ทั้งระบบ เผย ร่างเก่าไม่เป็นธรรม และไม่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทั้งการใช้เอทานอล และไบโอดีเซล ยันต้องฟังเสียงผู้ประกอบการทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ตั้งเป้าในอนาคตต้องได้ใช้ “อี100” ขณะที่ “ซีอีโอ” ค่ายรถต่อคิวพบ เพื่อขอความชัดเจน “บุญทรง” สั่งลุยนโยบายรถยนต์คันแรก ยันตัวเลข 1 แสนบาท ไม่ใช่ลดราคา แต่จะลดภาษีแทน
นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานและรถยนต์ที่ใช้เขื้อเพลิงสะอาด โดยระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณามาตรการด้านภาษีโดยนำมาพิจารณาใหม่ทั้งระบบ เพราะร่างโครงสร้างทางภาษีที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่แล้วพิจารณาไม่เป็นธรรม ไม่มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากเท่าที่ควร ทั้งการใช้เอทานอล และไบโอดีเซล รวมทั้งต้องฟังผู้ประกอบการทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ทั้งนี้ ในการพิจารณาใหม่จะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในเรื่องการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการใช้เอทานอลทุกระดับ ทั้งแก๊สโซฮอล์ อี10 อี20 และอี85 ซึ่งต่อไปอาจจะเหมือนกับบราซิล หรือสหรัฐฯ ที่มีการใช้ อี100 เพื่อให้เกิดการใช้เอทานอลมากขึ้น
“เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรีบทำ ต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบที่สุด แม้ว่า ครม.ชุดที่แล้วจะให้เวลาไปศึกษารายละเอียดใน 3 เดือน แต่ก็เป็นเรื่องของ ครม.ชุดก่อน สำหรับตอนนี้ ต้องนำมาพิจารณาใหม่ทั้งระบบ”
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมีนโยบายลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น คาดว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตเอทานอล เพราะรัฐบาลมีมาตรการรองรับและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว อีกทั้งมาตรการดังกล่าวดำเนินการระยะสั้นเท่านั้น และขณะนี้ยังไม่มีโรงงานใดร้องเรียนเข้ามาด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ผู้บริหารค่ายรถยนต์ระดับสูงหลายราย เตรียมที่จะเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อต้องการทราบความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากหลายค่ายกังวลว่า รัฐบาลจะเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมรถยนต์จนส่งผลกระทบต่อแผนดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในเมืองไทย เช่น รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) และรถยนต์ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างแก๊สโซฮอล์ อี85 และก๊าซซีเอ็นสำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวี
รายงานระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ค่ายรถยนต์ห่วงมากสุดตอนนี้ คือ กลัวว่ารัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อยครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความเสียหาย หรืออาจหยุดชะงักได้ ดังนั้น ซีอีโอของแต่ละค่ายรถยนต์ ต่างเตรียมตัวรอคิวที่จะขอเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกรมสรรพากร ว่า กระทรวงการคลังกำลังเดินหน้านโยบายระยะสั้นตามที่หาเสียงไว้ เช่น นโยบายรถยนต์คันแรก เพื่อต้องการให้คนทำงาน นักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงาน มีรถยนต์คันแรกไว้ใช้ในการประกอบอาชีพ หรือขับไปทำงาน เน้นรถยนต์ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เช่น รถปิกอัพ รถยนต์ส่วนบุคคล ห้ามเปลี่ยนมือในช่วง 5 ปีแรก
สำหรับแนวทางการลดภาระภาษีคงไม่ใช้รูปแบบการลดราคาลงให้ 100,000 บาท แต่จะใช้แนวทางการลดหย่อนภาษีแทน ส่วนจะใช้แนวทางใดกำลังหาข้อสรุป โดยจะนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอพร้อมกับนโยบายอื่นให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา และในฐานะกำกับดูแล 3 กรมจัดเก็บรายได้ จะหารือกับอธิบดีทั้ง 3 กรมอีกครั้ง เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษี รองรับการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร คาดว่า ผลการจัดเก็บรายได้ทั้งปี น่าจะเกินเป้าหมายร้อยละ 19.5 จากเป้าหมายในงบประมาณปี 2554 และคาดว่าในปีงบประมาณ 2555 รายได้น่าจะสูงจากฐานปี 2554 ซึ่งจัดเก็บได้ 1.45 ล้านล้านบาท กรมสรรพสามิตจัดเก็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 กรมศุลกากรเพิ่มร้อยละ 5 ดังนั้นการจัดเก็บภาษีคงไม่มีปัญหา สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่มีปัญหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และแถลงให้เกิดความชัดเจน เป็นที่เข้าใจด้วยกันทั้งหมด