xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สอนรัฐบาลปูแดง แก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องยอมรับแล้วว่า ปัญหาน้ำท่วมถือเป็นวิกฤตการณ์ปกติที่ประเทศไทยต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกๆ ครั้ง ภาพที่เห็นก็คือการระดมความช่วยเหลือแจกของให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจะว่าไปแล้ว ลำพังให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีลงพื้นที่น้ำท่วมนั่งเรือแจกของคงไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือเยียวยาให้ทันท่วงทีได้ทั้งประเทศ

สิ่งที่คนทั้งประเทศต้องการมากที่สุด ไม่ใช่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเฉพาะหน้าแบบวันต่อวัน หรือขายผ้าเอาหน้ารอด โดยรอให้รัฐบาลแจกของหรืออนุมัติงบประมาณ จ่ายเงินชดเชยความเสียหาย และซ่อมแซมฟื้นฟูเท่านั้น หากแต่ต้องการการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ได้แสดงความเห็นถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวได้อย่างน่าสนใจว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ควรใช้ศัพท์ว่าจัดการปัญหาน้ำท่วม คือที่ไหนอยู่ในวิสัยจัดการสู้ภัยได้ก็ทำ เช่น กรุงเทพฯ ถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็เสริมให้สูงเพื่อให้เป็นคันกั้นน้ำ คลองก็มีประตูบังคับน้ำ มีสถานีสูบน้ำ แต่ไม่ใช่ทุกที่ทุกจังหวัดทำเช่นนี้ได้

“อย่างบางระกำสู้อย่างไรก็สู้ไม่ไหว ต้องเข้าใจภูมิประเทศ สุโขทัยเชื่อมกับแพร่ แพร่ภูมิประเทศสูงเลยไม่ค่อยท่วม พอน้ำในแม่น้ำยมมาถึงสุโขทัย เข้าสู่พิจิตรซึ่งพื้นที่แบนราบ พอมาถึงบางระกำอันนี้แบนแต๊ดแต๋มันก็เลยท่วม เรียกว่าเป็นท้องกระทะ ภูมิประเทศอันนี้คือแก้มลิงโดยธรรมชาติ เป็นที่รวมของน้ำตามธรรมชาติ ไม่ควรสู้เพราะทุกปีก็เป็นอย่างนี้”

นายปราโมทย์กล่าวอีกว่า ที่รัฐบาลบอกบางระกำโมเดลจะมีการทำวอเตอร์เวย์ หรือแก้มลิง บางระกำคือแก้มลิงอยู่แล้ว ดังนั้น จะไปทำที่ไหน แก้มลิงอะไรกัน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาครัฐไม่เข้าใจในพื้นที่ ไม่เข้าใจธรรมชาติและไม่เข้าใจความต้องการของประชาชน

“น้ำมวลใหญ่นี่จัดการไม่ไหว ธรรมชาติไม่อนุญาตให้จัดการเลย จัดการได้คือทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างมีความสุขกับปัญหาที่มี เพราะฉะนั้นเข้าใจต้องเข้าใจทุกมิติ เข้าใจปัญหา ปัญหาที่แท้คืออะไร เข้าใจธรรมชาติ ภูมิประเทศ เรื่องราวสังคม เข้าใจประวัติศาสตร์ ทุกๆมิติ ไม่อย่างนั้นก็ออกแผนคิดคำนึงอีก นั่งประชุมกันแล้วก็ออกแผน เข้าถึงสักแค่ไหน ต้องเข้าถึงรายละเอียดอย่างลึกซึ้ง 2 อย่างนี้เป็นหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องเข้าใจก่อน และเข้าถึง” นายปราโมทย์กล่าวแสดงความคิดเห็น

หรือจะเป็น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ อดีตหัวหน้าโครงการวิจัยการจัดการภัยธรรมชาติน้ำท่วม-น้ำแล้ง ได้ให้ความเห็นว่า ต้องมีองค์การเฉพาะของภาครัฐเป็นหน่วยงานนำ ควบคู่กับการอาศัยความร่วมมือประสานงานที่ชัดเจนและต่อเนื่องจากหน่วยงานเครือข่าย ทั้งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และวางแผนระยะยาว

ที่สำคัญคือต้องมุ่งเน้นการวางระบบเพื่อ "ป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน" เช่น ต้องเน้นกระจายอำนาจการดำเนินการสู่ท้องถิ่น ควบคู่กับการรวมส่วนงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน โดยต้องมีการกำหนดเจ้าภาพ และต้องให้น้ำหนักความสำคัญกับภารกิจของเจ้าภาพอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ สำหรับกลไกกระบวนการบริหารจัดการ ต้องมีจุดเชื่อมโยงการบังคับบัญชา 3 ระดับคือ. ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด สั่งการโดยตรง หรือผ่านการประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง, ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการป้องกันภัย เป็นผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัด รับคำสั่งจากระดับชาติ, ระดับท้องถิ่น มีนายกเทศมนตรี หรือปลัดเมือง หรือนายอำเภอ หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้บัญชาการ รับคำสั่งจากระดับจังหวัด โดยที่ ทั้ง 3 ระดับต้องร่วมกันจัดการปัญหาแบบองค์รวม

และที่ลืมเสียไม่ได้คือ เพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนมีทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และให้มีส่วนร่วมทำแผนป้องกันภัยเบื้องต้น โดยการบริหารจัดการต้องครอบคลุม 4 ส่วนคือ. 1. ป้องกันและลดผลกระทบ โครงการใดควรต้องทำเพื่อแก้ปัญหาในภาพรวมต้องกล้าทำ 2. เตรียมพร้อมรับภัย 3. การจัดการในภาวะฉุกเฉิน 4. มาตรการหลังการเกิดภัย โดยที่ 4 ส่วนนี้ก็ดำเนินการตามกรอบเวลาคือ. ก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น