xs
xsm
sm
md
lg

คอป.ชง7ข้อปรองดอง จัดรีสอร์ตให้เสื้อแดง เหลิมดึง13ศพให้ท้องที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รายงานฉบับ 2 คอป.ชุด “คณิต” ยื่น 7 ข้อเสนอ “ยิ่งลักษณ์” จัดสถานที่ควบคุมเสื้อแดงที่ไม่ใช่เรือนจำปกติ ให้เยียวยาก่อนรัฐประหาร2549 จัดระเบียบ DSI “เหลิม" สั่งรื้อคดี 13 ศพม็อบแดงให้ สน.ท้องที่ชันสูตร

วานนี้ (16 ก.ย.) นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะของคอป. ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านเว็บไซต์ของคอป. ว่า ก่อนหน้านี้คอป. ได้ส่งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยขอให้รัฐบาลชุดใหม่นำข้อเสนอแนะที่ผ่านมาร่วมพิจารณาและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างบรรยากาศของความปรองดองตามที่ได้แถลงเป็นนโยบายไว้ด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะของคอป.ครั้งล่าสุด ประกอบด้วย 7 ข้อเสนอหลัก คือ 1. รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งด้วยการให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเท่าเทียม โดยในส่วนของประชาชนต้องให้มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมาย ขณะที่ต้องมีการผลักดันให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกฝ่ายที่มีส่วนให้เกิดความรุนแรงรวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องเข้าสู่การวินิจฉัยตามกระบวนการยุติธรรมด้วย

2.ขอให้รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคล และองค์กรต่าง ๆ ไม่ให้กระทบกับบรรยากาศของความปรองดอง โดยเฉพาะรัฐบาลเองแม้จะชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งของชัยชนะมาจากการประกาศนโยบายสนับสนุนการปรองดอง ต้องวางตัวเป็นกลางในสายตาของทุกฝ่าย รัฐบาลต้องกำกับการใช้อำนาจด้วยความอดทน จริงใจ

3. เห็นควรพิจารณาดำเนินคดีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 คดีหมิ่นเบื้องสูง คดีกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องมีการตรวจสอบการแจ้งข้อหาให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินควร และควรสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย

โดยพนักงานสอบสวน อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาความมีเหตุหลบหนี ทำลายพยานหลักฐาน หรือเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ หากไม่มีเหตุดังกล่าวควรมีการยืนยันเพื่อให้สิทธิได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่หากไม่ได้รับการปล่อยตัวรัฐบาลก็ควรจัดสถานที่ในการควบคุมอื่นที่เหมาะสมที่ไม่ใช่เรือนจำปกติ เช่นสถานที่ที่เคยใช้กับนักโทษคดีการเมืองในอดีต
4. เห็นควรให้มีการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยต้องมีมาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติดกับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานปกติ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเยียวยาไม่ควรจำกัดแค่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงเม.ย. -พ.ค. 2553 แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยให้รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน ภาคเอกชน โดยการเยียวยาไม่ควรมีเฉพาะตัวเงินแต่รวมถึงการให้โอกาสในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีองค์กรเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการเยียวยาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

5. ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากการชุมนุม ด้วยการเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินควร ปรับบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังและจำเลย เพื่อเยียวกลุ่มที่ตกสำรวจ ง จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคาพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจาเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวจำเลยที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว

6. คอป. มีความกังวลต่อสถานการณ์กระทำผิดคดีหมิ่นเบื้องสูงและการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคดีหมิ่นเบื้องสูงต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี ทุกฝ่ายต้องยุติการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรใช้ดุลยพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี โดยยึดประโยชน์สูงสุดในการปกป้องสถาบัน และขอให้รัฐบาลทบทวนการดาเนินคดีที่นำประเด็นกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ “ล้มเจ้า” ซึ่งอาจมีการตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนเกินไปและอาจส่งผลต่อ ความปรองดองในชาติ

7.รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ผลักดันให้มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเต็มที่

**“เหลิม”สั่งคืนคดี 13ศพแดงให้ท้องที่

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากหารือกับ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตนต้องการให้เร่งรัดคดีผู้เสียชีวิต 13 ศพ ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยตั้งข้อสงสัยว่า การตายในครั้งนี้เป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ ที่มีการกระทำของเจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งดีเอสไอกลับรับเรื่องไว้ ซึ่งโดยหลักการแล้วพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการชันสูตรพลิกศพนั้น ต้องเป็นพนักงานสอบสวนในพื้นที่เท่านั้น ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการชันสูตรพลิกศพ แต่มีอำนาจในการสอบสวนคดีทั้งหมดได้หากรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งนายธาริต ก็ระบุภายในสัปดาห์หน้าจะส่งเรื่องนี้กลับมาให้ตำรวจนครบาลรับผิดชอบ

“เมื่อครั้งก่อน นายธาริต นำเรื่องนี้มาเข้าสู่คณะกรรมการคดีพิเศษ ตนเป็นคนบอกว่าให้ถอนเรื่องไป เพราะดีเอสไอไม่มีอำนาจในการชันสูตรพลิกศพ คนที่มีอำนาจคือพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ รัฐบาลชุดนี้ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวและว่า ยังจะรวมถึงคดีของนักข่าวญี่ปุ่นและช่างภาพอิตาลีด้วย โดยกฎหมายมีอยู่แล้ว ว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วันนอกจากนี้จะรวมถึงคดีการเสียชีวิตของพล.อ.ขัตติยะ สวัสดิพล หรือเสธ.แดง

ทั้งนี้ยังเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายคณิต ณ นคร ประธานคอป. ที่ต้องการที่จะจัดระเบียบกรมสอบสวนต่างๆ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ในแนวคิดเช่นนี้ ที่สำคัญที่สุดกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องพิเศษจริงๆ ไม่ใช่คดีมโนสาเร่ก็รับหมด

**ธาริต ส่ง คืนตำรวจ 19 ก.ย.นี้

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่าในวันจันทร์ที่ 19 ก.ย.นี้ ดีเอสไอจะนำสำนวนทั้ง 13 คนไปมอบให้ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เพื่อให้ตำรวจท้องที่เกิดเหตุสอบสวน

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ดีเอสไอเคยสรุปสำนวนการเสียชีวิต 89 คน พบว่ามี 13 คน ที่ดีเอสไอพบหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหารอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต จึงได้ส่งสำนวนให้ตำรวจท้องที่ไต่สวน ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นต่างจากดีเอสไอและส่งสำนวนส่งคืนให้ดีเอสไอ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเห็นว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดอ้างว่าการเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติของตนเอง ทั้งนี้ ดีเอสไอร่วมกับอัยการได้พิจารณาสำนวนซ้ำหลายครั้งแล้วพบว่า การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าทำตามหน้าที่ดังกล่าว ตามพฤติการณ์แล้วถือเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่

สำนวนดังกล่าวดีเอสไอกับอัยการถือว่ามีความเห็นต่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต ดังนั้นตามขั้นตอน เมื่อมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจะต้องส่งสำนวนกลับไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสรุปสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องให้ศาลเป็นผู้ไต่สวนชี้ขาด

**ฝ่ายทูตสหรัฐฯเก็บข้อมูลเสื้อแดง

มีรายงานข่าว ที่สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร นางเจสสิกา สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง สถานเอกอัครราชฑูตอเมริกา ประจำประเทศไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ด้านภาษา เดินทางพบนายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เพื่อขอรับทราบข้อมูลของ"ชมรมคนรักอุดร" และคนเสื้อแดงโดยมีนายประจวบ ไชยสาส์น อดีต รมว.ต่างประเทศ ร่วมต้อนรับ พร้อมกับสมาชิกชมรมกว่า 200 คน

จากนั้น เวลา 15.30 น. นางเจสสิก้า ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง โดยถามถึงความเป็นมาของหมู่บ้านเสื้อแดง กว่า 300 หมู่บ้าน และขยายการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงไปยังจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ ในช่วงเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฑูตสหรัฐ ได้เข้าเก็บข้อมูลคนเสื้อแดงทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ ด้วย

**แดงค้าน “ดาว์พงษ์-ไก่อู”ได้ดี

ที่กระทรวงกลาโหม นายกลิ่น เทียมมิตร อายุ 50 ปี ญาติผู้ชุมนุ่มที่เสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา พร้อมญาติผู้เสียชีวิตเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ผ่านทาง พ.อ.หญิงสุริยา สุวรรณประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กระทรวงกลาโหม เพื่อค้านการให้ตำแหน่งพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตน์สุวรรณ เสธ.ทบ. และพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก

**นครบาลคุมเข้มแดงรำลึก18พ.ค.

อีกด้าน พล.ต.ต.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ดูแลงานด้านความมั่นคง เรียกประชุมเพื่อดูแลการชุมนุมของนปช. ที่นัดรวมตัวจัดกิจกรรมครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร และครอบรอบ 15 เดือน เหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะมีเสื้อแดงประมาณ 10,000 คน โดยบช.น.ได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 1,300 นาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น