xs
xsm
sm
md
lg

3 คำถามที่ประชาธิปัตย์ไม่ตอบ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สังเกตอยู่นานว่าเวลาคำถามต่อไปนี้ประชาชนและสื่อมวลชนไม่เคยได้คำตอบที่ชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถ้าพรรคประชาธิปัตย์สามารถตอบได้ชัดเจนก็จะทำให้คุณภาพการตรวจสอบในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านแข็งแกร่งขึ้น โดยไม่ต้องถูกสวนกลับอยู่ร่ำไปอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ด้วยเนื้อที่อันจำกัดจึงขอเลือกมาเป็น “น้ำจิ้ม” แค่ 3 ประเด็น

ประเด็นแรกการถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

26 ตุลาคม 2552
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือถึง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นเรื่องการถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า

“เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ. 2547 ให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ รวมไปถึงการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548”

ผ่านไป 2 ปีกว่าของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ชุดที่ 2) ยังยืนยันเหมือนเดิมอีกหลายครั้งในการตอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตามการถอดยศและการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด ซึ่งคงหวังอะไรในเรื่องนี้ไม่ได้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

ประเด็นที่สองรัฐบาลประชาธิปัตย์เจรจาลับๆกับฮุน เซน เรื่องผลประโยชน์ในอ่าวไทย(ทั้งๆที่มีพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนจากเส้นเขตไหล่ทวีปเกินความเป็นจริง) และยังคงเดินหน้าตามกรอบของ MOU 2544 ทั้งๆที่ได้มติคณะรัฐมนตรีได้ยกเลิกไปแล้ว โดยลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้

27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าพบนายฮุน เซน เพื่อเจรจาผลประโยชน์ทางพลังงานในอ่าวไทย บ้านพักของนายฮุน เซน ที่ ตาเคมา จ. กัณดาล ประเทศกัมพูชา โดยนายฮุน เซน ได้แถลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การเจรจาครั้งนั้นฝ่ายไทยเป็นฝ่ายหอบเอาแผนที่เกี่ยวกับบล็อคน้ำมันมาเพื่อมาเจรจากับนายฮุน เซน ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณอ้างว่าฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

และผลการเจรจาที่ได้ก็ต้องถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์อีกครั้ง คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ยกเขาพระวิหารทั้งเขาให้เป็นของกัมพูชา ด้วยคำพูดที่ว่า:

“อย่าไปคิดว่าเขาพระวิหารจะต้องมีอะไรโต้แย้งกันระหว่างไทยกับกัมพูชาเพราะศาลโลกตัดสินมาตั้งหลายสิบปีแล้วว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ส่วนการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันก็มีส่วนอื่นๆ

1 สิงหาคม พ.ศ.2552
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยอมรับติดต่อพบกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านพลังงาน ณ โรงแรมเพนนิลซูล่า เกาะฮ่องกง โดยที่ไม่เคยมีการกลับมาแถลงข่าวให้ประชาชนทราบก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการเจรจาเรื่องพลังงานอีกเป็นรอบที่สอง

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิก MOU 2544 ในการกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปและพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา

16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีได้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้พบกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านพลังงาน เพื่อเจรจากันลับๆ ไม่เปิดเผย ณ เมือง คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งเป็นรอบที่สาม

9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามการตั้งกระทู้ของ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ถึงการที่จะยกเลิก MOU 2544 โดยรัฐสภาให้เสร็จ นายกษิต ตอบว่า “ผมตั้งเป้าจะให้เสร็จก่อนสิ้นปีนี้ครับ ก็คิดว่าเราจะมีเวลาอีกสองสามเดือนที่จะเร่งทำงาน”

แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น!?

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 หลังจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปลงสมัครเลือกตั้งซ่อมได้เป็น ส.ส.และกลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมในการเจรจาแบ่งผลประโยชน์อ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา ตามที่ระบุเอาไว้ใน MOU 2544 (ทั้งๆที่มติคณะรัฐมนตรีได้ยกเลิก MOU 2544 ประมาณ 1 ปีเศษแล้ว)

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาสวมตอต่อจากการเจรจาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แถมยังถูกกัมพูชาเปิดเผยการเจรจาลับของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอีกด้วย

ประเด็นที่สามรัฐบาลประชาธิปัตย์มีมติคณะรัฐมนตรีแก้ไขหลักการของพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในอดีตทั้งหมด โดยจะเป็นบรรทัดฐานที่เป็นประโยชน์ต่อนักโทษหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร

จากเดิมในหลักการนักโทษเด็ดขาดที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หากจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ “ให้ปล่อยตัว” ตามพระราชกฤษฎีกาจะต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ตามโทษกำหนด

แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมีมติคณะรัฐมนตรีแก้ไขในหลักการเดิม โดยตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ในมาตรา 6(2) ง ให้เหลือเพียงแค่ “โทษจำคุกเหลือไม่เกิน 3 ปี” โดย “ไม่ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และไม่ต้องรับโทษมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เหมือนกับที่เคยปฏิบัติกันมาด้วย”

และที่ประชาธิปัตย์ตอบกลับมาก็ไม่ตรงประเด็นเพราะไปอ้างเรื่องคุณสมบัติผู้ถวายฎีกาบ้าง หรือไปอ้างเรื่องคุณสมบัติของนักโทษมาตรา 8 ของพระราชกฤษฎีกา เรื่องการพระราชทานอภัยโทษแบบ “ลดโทษ” ว่าต้องเป็นนักโทษชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับมาตรา 6(2) ง ซึ่งว่าด้วยการพระราชทานอภัยโทษแบบ “ปล่อยตัว”

คำถามที่ตอบไม่ตรงประเด็นก็คือ การแก้ไขหลักการ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 “ลดคุณสมบัติ” ผู้ที่จะได้รับ “การปล่อยตัว” ให้บังเอิญเกิดประโยชน์กับนักโทษหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร (หากยอมมาติดคุก)ไปเพื่ออะไร?

เป็นผลทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงสามารถสวมตอต่อจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยการเตรียมแผนตรา “พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554” โดยลอกทุกมาตราจากพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แล้วให้นักโทษหนีคดีทักษิณ ชินวัตร เข้ามาติดคุกไม่นานก่อนจะพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะทำให้นักโทษหนีคดีทักษิณ ชินวัตร มีโทษเหลือเกือบ 2 ปี และอายุ 62 ปี หากทำสำเร็จก็จะมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการพระราชทานอภัยโทษไปด้วย

มิพักต้องพูดถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นในการถวายฎีกาของคนเสื้อแดง กลับปล่อยทิ้งปัญหาถึง 2 ปี ทั้งๆที่มีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 261 !?

สรุป 3 กรณีข้างนี้ยังปราศจากคำตอบที่ชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ

1.ทำไมถึงไม่ถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลตัวเอง ทั้งๆที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว?

2.ทำไมที่อ้างว่า ครม. ยกเลิก MOU 2544 แล้ว พอถึงเวลาจริงกลับไม่ยอมนำเข้าเสนอรัฐสภาให้เสร็จสิ้น ในทางตรงกันข้ามกลับให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปเจรจาลับกับกัมพูชาตกลงเรื่องพลังงานในอ่าวไทย และยังมีมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานกรรมการเทคนิคร่วมในการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในอ่าวไทยตาม MOU 2544 อีก?

3. เหตุใดการถวายฎีกาคนเสื้อแดงรัฐมนตรียุติธรรมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จึงไม่ดำเนินการวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นหรือถวายคำแนะนำไม่ให้อภัยโทษให้เสร็จสิ้น และเหตุใดคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้มีมติถวายคำแนะนำโดยการตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 สร้างบรรทัดฐานใหม่ในมาตรา 6(2) ง “ลดคุณสมบัติ”ของผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ “ให้ปล่อยตัว” ที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเข้าเกณฑ์ได้หากมายอมติดคุกไม่นานก่อนวันบังคับใช้พระราชกฤษฎีกา?

ก่อนที่ท่านผู้อ่านอาจจะแสดงความคิดเห็นในใจหรือโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ท สงสัยว่าทำไมผมถึงไม่ตรวจสอบหรือตั้งคำถามกับรัฐบาลชุดนี้ ก็ขอแจ้งให้ทราบว่าเมื่อดูบทความของผมย้อนหลังแล้วก็จะทราบว่าผมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้อย่างไม่เคยหยุดเช่นกัน ทั้งเรื่อง การคัดค้านการตั้งกองทุนมั่งคั่งโดยล้วงเงินจากคลังหลวง, ความฉ้อฉลของ ปตท.และกระทรวงพลังงาน, การท้วงติงไม่เห็นด้วยกับการเร่งเจรจาผลประโยชน์ในอ่าวไทยที่เสียเปรียบ ฯลฯ

สำคัญเพียงแต่ว่าประชาธิปัตย์จำเป็นต้องตอบคำถามนี้อย่างตรงประเด็น (โดยไม่ต้องเบี่ยงเบนประเด็นไปอย่างอื่น) เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ที่จะรู้ว่า พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านอยู่ขณะนี้เคยคิดสวมตอต่อผลประโยชน์จากรัฐบาลในระบอบทักษิณ หรือเคยสมยอมและสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างนักการเมืองด้วยกันเองหรือไม่?

ท่านผู้อ่านเมื่อเห็นคำถามแล้ว มีคำตอบ “ตรงประเด็น”บ้างแล้วหรือยัง?

กำลังโหลดความคิดเห็น