xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐาน! ทักษิณจะติดคุกไม่กี่ชั่วโมง เพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์วางรากฐานไว้ให้ !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้”


คำถามที่สำคัญและยังหาคำตอบในวันนี้ไม่ได้ว่าทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงจึงทิ้งปัญหานี้ไปกว่า 2 ปี โดยที่ไม่ดำเนินการวินิจฉัยและตัดสินให้เรื่องนี้เสร็จสิ้นไปในทางใดทางหนึ่ง กลับปล่อยให้ปัญหานี้คาราคาซังมาให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาสวมตอต่อได้ ซึ่งก็ต้องคาดเดาได้อยู่แล้วว่าถ้าปล่อยผ่านไปรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็จะต้องมาวินิจฉัยให้เป็นคุณประโยชน์ต่อนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรอยู่แล้วโดยไม่ผิดความคาดหมายแต่ประการใด

ซึ่งหากรัฐมนตรียุติธรรมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตีความและวินิจฉัยว่าขั้นตอนถูกต้องแต่หากถวายความเห็นเสียตั้งแต่ต้นอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ในอดีตว่าไม่ควรพระราชทานอภัยโทษและถูกยกหนหนึ่งไปด้วยเหตุผลใดแล้ว ก็จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นไป 2 ปี ตามมาตรา 264

อย่างไรก็ตาม ในความจริงแล้วแม้ไม่มีผู้ถวายฎีกาเลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะถวายคำแนะนำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการช่วยเหลือคนที่หนีคดีความเพียงคนๆ เดียวเป็นกรณีพิเศษนั้น ขาดความชอบธรรมและอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ได้

สำหรับคดีที่ดินรัชดาภิเษกโดยอ้างการตัดสินของศาลแพ่งที่ให้การทำสัญญาซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกระหว่างคุณหญิงพจมาน ชินวัตรกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นโมฆะว่าจะเป็นหลักฐานใหม่ให้รื้อฟื้นคดีนี้ใหม่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นก็ดูจะเลือนลาง และเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

ดังนั้นการถวายฎีกาเพื่อช่วยๆคนๆเดียว และ การรื้อฟื้นคดีที่ดินรัชดาภิเษกจึงน่าจะเป็นเป้าหลอกมากกว่า

สิ่งที่ทำให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร มั่นใจตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่าจะกลับมาประเทศไทยในปลายปี 2554 เพื่อมางานของลูกสาวนั้น น่าจะอยู่ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ทวิ เสียมากกว่า ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า:

“มาตรา 261 ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้

การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


เป้าหมายที่แท้จริงก็คือ “พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554” ที่น่าจะเตรียมร่างเนื่องในวันมหามงคล 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยให้นักโทษหนีคดีทักษิณ ชินวัตร กลับมาติดคุกไม่นานแล้วได้รับการปล่อยตัวออกมา

โดยคณะรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเตรียมลอกทุกตัวอักษรที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำเอาไว้ในพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ซึ่งได้แก้ไขหลักการอันสำคัญเอาไว้อันเป็นประโยชน์กับนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ล่วงหน้าอยู่แล้ว ในมาตรา 6(2) ง

จากเดิมปรากฏในการตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ย้อนหลัง 4 ครั้ง ก่อนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แก่ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542, วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เนื่องในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ปรากฏว่ามีการการตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ 4 ครั้งก่อนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เกี่ยวข้องกับการพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องโทษที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีนั้น ปรากฏในพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 (2) (จ) และปรากฏในพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ อีก 3 ครั้ง พ.ศ. 2547, พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550 ในมาตรา มาตรา 6 (2) ง ซึ่งมีเนื้อหาและข้อความตรงกันว่า : นักโทษเด็ดขาดที่จะให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปคือ

“เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าห้าปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ตามกำหนดโทษ

แต่ปรากฏว่าในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำเพื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปีที่ 60 วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยมีการเขียนมาตรา 6 (2) ง ให้แตกต่างจากเดิมโดยกำหนดผู้ที่จะให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปคือ

“เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป”

ดังนั้นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานั้นได้ถูกแก้ไขในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากเดิม “จะต้องได้รับโทษมาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ตามกำหนดโทษ” เหลือเพียงแค่ “ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี”

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จึงเลือกที่จะแจกพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 ให้แก่นักข่าว เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2554
เพราะพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวยังไม่ได้มีการแก้ไขมาตรา 6 (2) ง จึงเป็นการอำพรางให้นักข่าวและประชาชนหลงทาง เพราะเนื้อแท้แล้วประเด็นที่จะแก้ไขนั้นก็เพียงแค่ลอกตามพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่ถวายคำแนะนำโดยมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทุกประการ

จากเงื่อนไขดังกล่าว นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 62 ปี และมีโทษจำคุกเหลือ 2 ปี จึงเข้าข่ายคุณสมบัตินี้ทันที ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการต่อไปนี้หรือไม่ คือ

1.รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะตราพระราชกฤษฎีกา “พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554” โดยลอกทุกข้อความในทุกมาตราจาก “พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ”
โดยจะอ้างว่าดำเนินการตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว และมีการพระราชทานอภัยโทษมาแล้วในปี 2553 โดยไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เพราะถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็จะต้องเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อน

2.นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร กลับมาประเทศไทยเพื่อให้เป็นผู้ต้องโทษก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเร่งรีบจะเปิดเรือนจำที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน โดยอ้างว่าเพื่อรองรับนักโทษที่ต้องโทษในคดีทางการเมืองเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษทุกฉบับที่ผ่านมากำหนดไว้ในมาตรา 2 ว่า

“ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”

ซึ่งปรกติในช่วงเวลาที่ผ่านมาการประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะหลังจากวันที่นายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ 1 วัน และใช้บังคับวันถัดไปหลังจากนั้นอีก 1 วัน แปลว่านักโทษหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร จะสามารถกลับเข้ามารับโทษและรอรับการพระราชทานอภัยโทษที่กำลังจะมาถึงในอีกเวลาไม่นาน โดยจะรู้ตัวล่วงหน้าก่อนพระราชกฤษฎีกาจะมีผลบังคับใช้ถึง 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง ซึ่งการเข้ามาเพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้น จะต้องอยู่ในเงื่อนไขตามที่กำหนดกันมาในพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ในมาตรา 4 คือ

มาตรา 4 ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรืออาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

จากข้อความในมาตรานี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงเวลาจริงก่อนเวลา 48 ชั่วโมงที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษจะมีผลบังคับใช้ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร อาจกลับเข้ามาประเทศจำคุกในเรือนจำพิเศษ หรือ อาจจะแค่ถูกกักขังอยู่ที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอยู่ไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ ก่อนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวพ่วงไปกับผู้ต้องโทษอีกกว่า 3 หมื่นคน

ด้วยเหตุผลนี้นักโทษหนีอาญาแผ่นดิน ทักษิณ ชินวัตร จึงมั่นใจและคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะสามารถกลับประเทศไทยได้ในปลายปี 2554 นี้ และทันงานแต่งงานของลูกสาวตัวเอง เพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้วางรากฐานเอาไว้อย่างเยี่ยมยอดให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาสวมตอต่อ คือ

1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่วินิจฉัยเรื่องการถวายฎีกาคนเสื้อแดงให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลตัวเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 261

2.รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553
ซึ่งได้วางรากฐานเป็นแบบอย่าง ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีเหตุอ้างในการตราพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 โดยแค่ลอกข้อความในทุกมาตราทั้งหมดต่อจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

เพราะฉะนั้นหากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 และทำให้นักโทษหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร กลับมาได้โดยติดคุกหรือกักขังเพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น ก็ถือเป็นผลงานที่วางรากฐานเอาไว้โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น

จากกรณีดังกล่าวข้างต้นที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ทำงานให้พรรคเพื่อไทยสวมตอต่อเพื่อช่วยนักโทษชายหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร นั้น ย่อมทำให้เกิดความสงสัยว่า กรณีการที่ไม่ถอดยศทักษิณ ไม่แจ้งตำรวจสากลให้ตามจับทักษิณก่อนหน้านี้นั้น เป็นการสมรู้ร่วมคิดรู้เห็นเป็นใจกับทักษิณหรือไม่ !?

นักการเมืองทั้งหลายจึงควรเลิกเล่นละครตบตาประชาชนได้แล้ว !?
กำลังโหลดความคิดเห็น