ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่แถไถและพยายามหาข้อแก้ตัวมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ โดยระดมสรรพกำลังทุกองคาพยพในการอธิบายถึงความเป็นกลางของตนในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน แต่แล้วในท้ายที่สุดเมื่อไม่สามารถทำให้ “สังคมเชื่อถือได้” ในที่สุด เครือมติชนก็ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายด้วยการประกาศลาออกจากเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา
ทั้งมติชน ข่าวสดและประชาชาติธุรกิจ
อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิเสธระบบการตรวจสอบความน่าเชื่อจากองค์กรที่เครือมติชนร่วมก่อการจัดตั้งด้วยสองมือของตัวเอง พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นองค์กรสื่ออิสระที่จะตรวจสอบ “คน” ของตัวเอง
ทั้งนี้ การลาออกจากภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติของเครือมติชน ความจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร ถ้าเครือมติชนตัดสินใจทำเสียตั้งแต่เมื่อผลการสอบสวนออกมา แต่เครือมติชนก็เลือกที่จะใช้หน้ากระดาษของตนเองในการอธิบาย และเมื่อถูกคณะอนุกรรมการตอกกลับด้วยข้อมูลที่ไม่สามารถอธิบายได้ ถึงได้ตัดสินใจลาออกเพื่อปฏิเสธผลที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ทั้งนี้ การลาออกจากภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติของเครือมติชน ความจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร ถ้าหนังสือการลาออกของเครือมติชนที่ลงนามโดย “นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด(มติชน) จะชี้แจงและให้เหตุผลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
โดยเฉพาะเนื้อความในจดหมายที่ระบุว่า เครือมติชนให้ความมือกับการทำหน้าที่และกิจกรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตลอดมา เนื่องจากนั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ยิ่งกับกรณีเมล์ฉาวของ “นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา” ที่ปัจจุบันได้รับการปูนบำเหน็จให้ไปเป็นลขานุการรัฐมนตรีของ 'น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสื่ด้วยแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่า ข้อมูลที่เครือมติชนสื่อให้กับสังคมได้รับทราบ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
เพราะข้อมูลของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่มี “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” เป็นประธานคณะกรรมการสอบ นอกจากจะออกมาเปิดเผยความสัมพันธ์ “อันผิดปกติ” ระหว่างเครือมติชนและพรรคเพื่อไทยอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลจากเครือมติชนด้วย
ประจักษ์พยานที่ชัดเจนคือการที่คณะอนุกรรมการได้ทำหนังสือขอความร่วมมือในการให้ข้อมูลไปยังผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าวจำนวน 7 คนและผู้แทนของเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์มาให้ข้อมูลถึง 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่งก็ปรากฏว่าผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดเครือมติชน-ข่าวสดมิได้ให้ความร่วมมือแต่ประการใด
ทั้งจดหมายฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ทั้งจดหมายเชิญลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2554
ขณะเดียวกันเครือมติชนก็ประกาศชัดเจนด้วยว่า จะไม่ขอใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ด้วยข้ออ้างที่เลื่อนลอยและไร้หลักการโดยระบุว่า ไม่ยอมรับผลการสอบสวนที่ผิดปกติของคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากมิได้ประพฤติตามที่ถูกกล่าวหา
แต่สิ่งที่เป็นตรรกะที่ไม่ว่ามองทางใดก็ไม่อาจเข้าใจได้ก็คือ ขณะที่เครือมติชนเลือกที่จะไม่อุทธรณ์ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงปฏิบัติ จากนั้นก็เลือกที่จะลาออกจากภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ เครือมติชนกลับหันไปใช้หน้ากระดาษสื่อของตัวเองในการแก้ตัวอย่างต่อเนื่องและยาวนาน พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติแก้ไขความเสียหายให้กับตัวเอง
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เครือมติชนคิดว่าการกระทำของตนเองถูกต้องและชอบธรรมเช่นนั้นหรือ
แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธความเป็นสื่อมืออาชีพและความเป็นสื่อคุณภาพตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา
แต่เครือมติชนก็ไม่อาจปฏิเสธความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังๆ ที่ทุกคนรับรู้กันดีว่า เครือมติชนเลือกข้างชัดเจน ดังคำให้สัมภาษณ์ของ “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ชื่อดังแห่งเว็บไซต์ประชาไทที่ยอมรับเองว่า คนเสื้อแดงนิยมชมชอบที่จะอ่านสื่อในเครือนี้
ดังนั้น ปมปัญหาของมติชนจึงมิได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอก หากแต่อยู่ที่ปัจจัยภายในของตัวเองว่า จะสามารถยอมรับความเป็นจริงของตนเองได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบุคลากรที่ยอมรับไม่ได้ก็โบกมืออำลาค่ายที่เขารักไปมากต่อมากแล้ว
สุดท้ายแล้ว การกระทำและผลงานของสื่อในเครือมติชนจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความมีจรรยาบรรณในวิชาชีพดังที่ประกาศไว้