xs
xsm
sm
md
lg

ศึกอื่นเรื่องจิ๊บๆจับตาศึกคลัง-แบงก์ชาติ!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เวลารัฐบาลหรือใครต่อใครพูดถึงคำว่า “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” รวมๆ โดยไม่มีรายละเอียดให้ชัดเจนก็มักจะชวนให้หวาดระแวงว่าอาจจะหมายถึง “ทุนสำรองเงินตรา” หรือ “คลังหลวง” ที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนท่านสั่งเสียเป็นพินัยกรรมไว้ว่าอย่าแตะต้อง จะไปว่าเขาก็ไม่ได้ เพราะในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมามีความพยายามจากทั้งทางแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังที่จะแตะต้องนำสินทรัพย์ส่วนนี้ออกมาอยู่เสมอ

กรณี SWF - Sovereign Wealth Fund หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่รัฐบาลชุดนี้พูดมาเป็นเดือนก็เช่นกัน

ทำความเข้าใจกันแบบชาวบ้านนะว่า “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” ของบ้านเรามีตัวเลขรวมๆ แบบปัดเศษให้จำง่ายๆ ว่ามีอยู่ทั้งหมดขณะนี้เฉียดๆ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

หรือจะจำเป็นเงินบาทก็ 6 ล้านล้านบาท

ดูตัวเลข 6 ล้านล้านบาทเหมือนเยอะ แต่เยอะจริงหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ระหว่างคลังกับแบงก์ชาติ!

ในกอง 6 ล้านล้านบาทของ “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” นี้แบ่งออกเป็น 2 กอง กองหนึ่งเรียกว่า “ทุนสำรองทั่วไป” อยู่ในการบริหารจัดการของฝ่ายการธนาคาร แบงก์ชาติ มีอยู่ 4 ล้านล้านบาท อีกกองหนึ่งเรียกว่า “ทุนสำรองเงินตรา” อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตร แบงก์ชาติมีอยู่ 2 ล้านล้านบาท

กอง “ทุนสำรองเงินตรา” 2 ล้านล้านบาทนี่แหละคือ “คลังหลวง” ที่หลวงตาท่านเรียกขาน!

เรียกว่า “คลังหลวง” เป็นภาษาโบราณๆ ก็เพราะมีที่มาที่ไป เงินกองนี้มาจากพระราชทรัพย์รัชกาลที่ 5 ท่านพระราชทานออกมาครั้งแรกเป็นเงิน 12 ล้านบาท มีไว้เพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรโดยเฉพาะ ไม่ให้ใช้ไปในทางอื่นยกเว้นกรณีวิกฤตของชาติจริงๆ เงินกองนี้จึงไม่ใช่ของแบงก์ชาติ เพราะมีมาก่อนก่อตั้งแบงก์ชาติ อยู่ในสังกัดกรมกองอื่นชื่ออื่นมาก่อนจะจัดระเบียบมาให้แบงก์ชาติเป็นผู้ดูแล

ความสลับซับซ้อนในการทำความเข้าใจก็คือเงินกองนี้ที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตร แบงก์ชาติแบ่งออกเป็น 3 บัญชี คือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา, บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ เงินและทองคำหรือสินทรัพย์ทั้งหมดที่หลวงตาท่านนำบริจาคตั้งแต่ปี 2540 ถูกเก็บรักษาอยู่ในบัญชีสำรองพิเศษ แต่หลวงตาท่านไม่ได้ต้องการแค่ไม่ให้แตะต้องเงินบริจาคของท่านและหรือเงินสินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษเท่านั้น ท่านไม่ต้องการให้แตะต้องทั้ง 3 บัญชี และไม่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายที่จะทำให้สินทรัพย์ทั้ง 3 บัญชีนี้ออกดอกผลมากขึ้นจากการลงทุนที่เสี่ยงขึ้น เพราะท่านเห็นว่านี่คือสินทรัพย์ก้อนสุดท้ายของชาติที่บรรพบุรุษเก็บรักษาไว้ให้เรา สินทรัพย์ส่วนนี้เคยกู้ชาติมาแล้ว 3 - 4 ครั้งในอดีต

กว่าท่านจะทำให้รัฐบาลและแบงก์ชาติเก็บรักษาเงินบริจาคของท่านไว้ในบัญชีสำรองพิเศษในส่วนของทุนสำรองเงินตรานี้ท่านก็ต้องออกแรงพอตัว เพิ่งจะสำเร็จในปี 2545

ก่อนหน้านั้นเงินและสินทรัพย์ที่ท่านนำบริจาคถูกเก็บรวมไว้ในบัญชีของฝ่ายการธนาคาร ซึ่งมีโอกาสที่แบงก์ชาติจะนำไปใช้จ่ายได้

ดูเหมือนท่านมีกุศโลบายให้เงินบริจาคของท่านที่ท่านเรียกว่า “เงินหัวหน้า” ถูกชู้ตตรงไปที่ทุนสำรองเงินตราก่อน แล้วท่านก็ต่อสู้เพื่อปกป้องเงินทั้งหมดในทุนสำรองเงินตรา ไม่เฉพาะแต่เงินบริจาคเท่านั้น

เงินบริจาคเป็นเสมือนยันต์ปิดหีบทุนสำรองเงินตราหรือคลังหลวงไม่ให้ใครมาแตะต้อง!

แต่กว่ายันต์ผืนนี้จะทำหน้าที่ปิดหีบได้ท่านและลูกศิษย์ทั้งพระทั้งฆราวาสก็ต้องออกแรงต่อสู้กันหลายยก ยกล่าสุดคือในช่วงปี 2550 ผมมีส่วนร่วมต่อสู้ด้วยในระดับหนึ่ง เลยทำให้ได้รับความรู้งูๆ ปลาๆ เรื่องนี้มาเป็นพื้นฐานสำหรับการต่อสู้ยกใหม่ในวันนี้

คุณธีรชัย ภูวนาทนรานุบาล รมว.คลัง เป็นคนจมูกไวใช้ได้และฉลาดเอาการที่เริ่มจับกระแสต่อต้าน SWF จากกลุ่มที่ไม่ต้องการให้แตะทุนสำรองเงินตราหรือคลังหลวง ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านเขียนในหน้าเฟซบุ๊คของท่านเป็นชุดใหญ่ชี้แจงหลักการของ SWF ตามแนวคิดของท่าน ซึ่งก็มีหลายประเด็นที่ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือท่านยืนยันว่าจะไม่แตะต้องทุนสำรองเงินตราหรือคลังหลวง

“แนวคิดเรื่องกองทุนความมั่งคั่งที่ผมขอให้ ธปท.ไปศึกษานั้น ไม่มีการแตะต้องคลังหลวง ไม่มีการแตะต้องเงินสำรองที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้หนุนหลังเงินบาท และไม่มีการแตะต้องทองคำที่ได้รับบริจาคมาใดๆ ครับ เพียงแต่นำเอาส่วนที่ปัจจุบัน ธปท.เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนไปลงทุนในโครงการในภูมิภาคแทน...”

พอรับฟังได้ครับ แม้จะยังมีข้อสงสัยอยู่บ้างแต่ก็พอแลกเปลี่ยนกันได้เมื่อมีโอกาส

เป็นต้นว่า จะต้องให้ชัดเจนว่าไม่แตะต้องทั้ง 3 บัญชีของทุนสำรองเงินตราที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตร, ไม่แตะต้องทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะส่วนบริจาคของหลวงตา, ไม่มีการแก้กฎหมายให้นำสินทรัพย์ในส่วนนี้ไปลงทุนให้ได้ดอกออกผลมากขึ้นแต่ก็เสี่ยงขึ้น และ ฯลฯ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะต้องพูดจากันให้ชัดเจนให้เข้าใจตรงกัน

และนอกจากเขียนในเฟซบุ๊ค ท่านต้องประกาศเป็นสัจจะต่อสาธารณะด้วยครับ หากท่านมาตอบกระทู้ผมในวุฒิสภาก็จะขอให้ท่านประกาศบันทึกไว้ต่อหน้าสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด

ที่สำคัญจะทำอะไรก็ตามต้องออกเป็น พ.ร.บ.ไม่ใช่ พ.ร.ก.เพื่อให้สังคมได้เห็นรายละเอียดก่อน ได้ศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ก่อน

เมื่อไม่แตะต้องทุนสำรองเงินตราหรือคลังหลวงในฝ่ายออกบัตร ก็ชัดเจนละว่าจะแตะต้องทุนสำรองทั่วไปในฝ่ายการธนาคาร!

ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง!!

โจทย์ 4 ข้อที่แบงก์ชาติรับมาจากท่านรัฐมนตรีเมื่อวันพุธที่แล้ว หนักทุกข้อ แต่ 2 ข้อหนักสุดก็คือเรื่อง SWF นี้ที่ถ้าไม่แตะคลังหลวงก็ต้องแตะทุนสำรองทั่วไปกอง 4 ล้านล้านบาทที่แบงก์ชาติบริหารจัดการอยู่ และเรื่องหาเงินใช้หนี้เงินต้นกองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องแตะทุนสำรองทั่วไปเช่นกัน

4 ล้านล้านบาทนี่มันดูเหมือนเยอะ ดูเหมือนเป็นของเรา แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เงินของเราทั้งหมด มันจึงอาจจะไม่เยอะพอให้ตัดแบ่งก็ได้ เงินและสินทรัพย์ก้อนนี้ผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์การเงินมาคงเข้าใจได้ง่ายว่ามันเป็นผลมาจากการปริวรรตเงินตราระหว่างเงินตราต่างประเทศกับเงินบาท เป็นผลมาจากธุรกรรมทางการค้านานัปการที่แบงก์ชาติเป็นผู้คุมกฎตามกฎหมาย ตัวเลขนี้มีขึ้นมีลงสุดแต่นโยบายเศรษฐกิจในแต่ละช่วง สรุปรวมๆ ว่ามันก็เหมือนเงินที่พ่อค้าและธนาคารฝากไว้กับแบงก์ชาติ มีเยอะแต่ก็ต้องเตรียมไว้ให้เขามาแลกคืนด้วย ผมไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์พออธิบายได้เท่านี้

แบงก์ชาติเจ๊กอั่กมาตลอดกว่า 10 ปีกับสินทรัพย์กองนี้ เพราะไปสู้ในสงครามเงินตราก็แพ้ ทำอะไรก็แพ้ แต่ก่อนนี้ก็พยายามล้างหนี้ด้วยการดึงเงินคลังหลวงมาเกลี่ย แต่ก็ถูกต่อต้าน

เจอคลังรุกเข้าจุดอ่อนตรงนี้เห็นทีจะตอบไง่ง่าย!

คลังเองก็หนัก ทุกวันนี้ต้องแบกภาระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ปีละ 6 - 7 หมื่นล้านบาท นโยบายใหม่ๆ ก็มีแต่ต้องใช้เงินทั้งนั้น หากไม่รุกล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อประหยัดค่าดอกเบี้ยและดึงเงินบางส่วนออกมาหาประโยชน์ให้มากขึ้นจะสาหัส

ศึกคลัง-แบงก์ชาติจึงเป็นศึกใหญ่กว่าศึกใดทั้งหมดในมุมมองของผม ขอตีตั๋วริงไซต์เฝ้าดูด้วยความตื่นเต้นตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป!

คู่ชกแห่งทศวรรษโปรดอย่าฮั้วกันแล้วหันมาประสานมือล้วงคลังหลวงอีกก็แล้วกัน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น