xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แย่งเก้าอี้ปธ.กมธ.สภาฯ ส.ส.เพื่อไทยป่วนอีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การแย่งชิงเก้าอี้การเมืองกันในพรรคเพื่อไทยผ่านไปสองครั้งแล้ว ครั้งแรกก็คือการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครั้งที่สองที่ผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก็คือตำแหน่งการเมือง พวกเลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

แม้จะไม่ถึงขั้นฝุ่นตลบ เพราะส่วนใหญ่เป็นเก้าอี้เทกระโถนไว้แจกให้พวกส.ส.สอบตก หรือพวกอันดับปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงในพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีข่าวว่า พวกส.ต.หรือสอบตกหลายคนโดยเฉพาะในภาคอีสานไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ เนื่องจากตำแหน่งใหญ่ๆ ในกระทรวงสำคัญๆ เช่น มหาดไทย-คมนาคม-ศึกษาธิการ พวกเครือข่ายเสื้อแดงได้โควต้าไปเพียบ

ทำให้พวกสอบตกบางรายที่พยายามวิ่งเต้นขอตำแหน่งผิดหวังไปตามๆกัน แต่ก็โวยวายไม่ได้เพราะเพื่อไทยยุคนี้ใครๆก็รู้

กลุ่มคนแดงใหญ่คับพรรคคับประเทศ ก็ขนาดนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเป็นนายกฯ ปูแดงเลย

“ทีมข่าวการเมือง” ให้จับตาการแย่งชิงตำแหน่งทางการเมืองครั้งที่สาม ต่อจากนี้ ที่ข่าวว่าเข้มข้นไม่น้อย นั่นก็คือ การชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญของพรรคเพื่อไทยที่พรรคได้โควต้าทั้งสิ้น 19 คณะ จากที่มี 35 คณะ บนหลักการคำนวณจากตัวเลขส.ส.ซึ่งแต่ละพรรคมีอยู่ในสภาผู้แทนราษฏรมาหาสัดส่วน เมื่อพรรคเพื่อไทยมีส.ส.มากที่สุดคือ 265 เสียง ก็ทำให้ได้โควต้าประธานคณะกรรมาธิการฯ จำนวนมาก

แต่ 19 คนที่พรรคเพื่อไทย จะส่งไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะพวกส.ส.ที่อกหัก ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก และหลายรายก็เป็นส.ส.มาแล้ว 4-5 สมัย จึงต้องการเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯในรอบนี้

เพื่อเอาตำแหน่งไว้เสริมบารมี และเป็นเครดิตการเมือง และตำแหน่งหัวโขนตรงนี้ยังมีไว้เผื่อล่วงหน้าให้ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี เอาไว้พิจารณาหากมีการปรับคณะรัฐมนตรี

อีกทั้งกรรมาธิการสามัญฯ แต่ละคณะก็มีงบประมาณของตัวเองไว้ใช้จ่ายโดยเฉพาะงบดูงานต่างประเทศ ที่พวกส.ส.ชอบกันนักชอบกันหนา ไม่นับรวมกับการใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์อื่นๆ

เช่น การเรียกพวกรัฐมนตรี หรือข้าราชการรวมถึงบริษัทเอกชนมาชี้แจงเรื่องต่างๆ ซึ่งหากทำโดยมีวัตถุประสงค์ที่ดี คือเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร หรือเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนปัญหาต่างๆ จากประชาชนก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะตรงนี้คือหน้าที่หลักของฝายนิติบัญญัติอยู่แล้วในการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร

แต่หากใช้ช่องทางกรรมาธิการสภาฯไปในทางไม่ชอบ เช่นทำเป็นจะตรวจสอบเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่สื่อและสังคมสนใจ แล้วก็เรียกพวกรัฐมนตรี-ข้าราชการ-เอกชนไปชี้แจงแล้วลับหลัง ไปข่มขู่ตบทรัพย์-เรียกร้องเงินทอง เพื่อให้ยุติเรื่องที่ตรวจสอบ และ/หรือ เอาเวทีกรรมาธิการไปฟอกผิดให้รัฐมนตรี-ข้าราชการ-เอกชน ซึ่งเรื่องทำนองนี้มักมีข้อครหาอยู่บ่อยๆ และเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง ไม่สมควรเกิดขึ้นเด็ดขาด

ท่ามกลางกระแสข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย วันที่ 6 กันยายนนี้ ที่ประชุมส.ส.ภาค เช่น ภาคอีสาน-เหนือ-กลาง จะมีการหารือกันถึงโควต้าเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการฯ กันก่อนรอบแรกว่าจะเอาอย่างไร จะคุยกันว่าพรรคต้องการประธานคณะกรรมาธิการชุดไหนบ้าง และหลักการแบ่งเก้าอี้กันในพรรค จะเอาแบบไหน

ซึ่งข่าวที่สะเด็ดน้ำแล้วจากพรรคเพื่อไทยคือ เก้าอี้ประธานกรรมาธิการฯ จะใช้หลักโควต้าภาค คือเอา 19 ที่นั่งประธานกรรมาธิการฯไปให้ส.ส.แต่ละภาคแบ่งกัน ในลักษณะแบ่งเค้ก

ภาคไหนมีส.ส.มาก ก็ได้โควต้ามาก ภาคไหนไม่มีส.ส.เลย เช่น ภาคใต้ ก็ไม่มีเก้าอี้ให้ ด้วยเหตุนี้ ภาคอีสานจึงได้โควต้ามากที่สุดเพราะมีส.ส.เขตมากถึง 104 คนได้โควต้าประธานกมธ.ไป 6 คณะ นอกนั้นก็แบ่งกันไปตามสัดส่วนที่นั่ง ส.ส.ของแต่ละโซน

ทำให้ตอนนี้ ส.ส.แต่ละภาค เริ่มวิ่งล็อบบี้แย่งชิงตำแหน่งกันแล้ว ทั้งการวิ่งเข้าหาแกนนำพรรคที่ใครออกสตาร์ทเร็ว ก็ได้เปรียบคู่แข่ง รวมถึงการออกสเปกกันในแต่ละภาคถึงคุณสมบัติคนที่จะได้ตำแหน่ง เพื่อหวังสกัดคู่แข่งที่ไม่ใช่พวกตัวเอง

เช่น กำหนดกันไว้ว่าคนไหนที่รอบที่แล้วได้เป็นประธานกรรมาธิการฯแล้ว มารอบนี้จะมาเป็นไม่ได้ ต้องเปิดทางให้คนอื่นได้เป็นบ้าง รวมถึงกติกาที่ว่า ต้องเป็นส.ส.ไม่น้อยกว่า 4 สมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบเขตหรือปาร์ตี้ลิสต์ถึงจะได้เป็นประธานกมธ. เพื่อทำให้ตัวชิงเก้าอี้เหลือน้อยที่สุด

เหตุที่เพื่อไทยเริ่มต้นศึกชิงเก้าอี้ประธานกรรมาธิการก่อนพรรคอื่นๆ ก็เพราะส.ส.เพื่อไทย เริ่มรู้กันแล้วว่า ตอนนี้พวกส.ส.หลายคนวิ่งเข้าหาแกนนำพรรคแต่ละสายเพื่อขอตำแหน่งประธานกรรมาธิการกันแล้ว

อย่างส.ส.อีสานหลายคน ก็พยายามวิ่งเข้าหา พายัพ ชินวัตร ประธานภาคอีสาน พี่ชายยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อขอตำแหน่ง แต่ส.ส.อีสานบางคนไม่กินเส้นกับพายัพ ก็ใช้วิธีเกาะกลุ่มกันเองให้ได้ตัวเลขส.ส.ไปต่อรองเอาเก้าอี้กับแกนนำพรรค

ขณะที่พวกส.ส.สายเหนือที่อยากเป็นประธานกมธ. ก็ไม่น้อยหน้า ส.ส.หลายคนวิ่งเข้าหา “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวยิ่งลักษณ์ ที่เคยผลักดันคนของตัวเองได้เป็นรัฐมนตรีหลายคน เช่น วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เป็น รมว.ศึกษาธิการ บุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรมช.คลัง พวกส.ส.ภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม เรื่องตัวบุคคลที่จะไปเป็นประธานกรรมาธิการฯ กว่าจะได้ข้อยุติ คงล่าช้าออกไปอีก 1-2 สัปดาห์ เพราะถึงขณะนี้การหารือกันของตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เรื่องโควต้าประธานกรรมาธิการสภาฯ ก็ยังไม่เรียบร้อย พรรคไหนจะได้ประธานกรรมาธิการอะไรก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ตัวแทนทุกพรรคการเมืองปิดห้องคุยกันไปสองรอบแล้วก็ยังตกลงกันไม่ได้

หลังล่าสุดตัวแทน 3 พรรคเล็ก คือ รักประเทศไทย ของชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์-มาตุภูมิของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน -รักษ์สันติของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ได้จับมือกันเพื่อขอโควต้าประธานหนึ่งเก้าอี้ แต่เนื่องจากตัวเลขส.ส.สามพรรครวมกันแล้วได้แค่ 7 คน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละพรรคตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ แม้จะพยายามขอใช้วิธีเอาตัวเลขส.ส.ไปรวมกับภูมิใจไทย เพื่อให้บวกตัวเลขส.ส.แล้วจะได้ประธานกรรมาธิการมาหนึ่งเก้าอี้ โดยพวกพรรคเล็ก จะมาตกลงกันเองว่าจะให้ใครเป็นประธานกรรมาธิการฯ

การประชุมนัดล่าสุด เมื่อ 31 สิงหาคม ตัวแทนหลายพรรค เช่น พรรคภูมิใจไทย ก็ร่วมแก้ปัญหาด้วยการพยายามขอให้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเฉือนมาหนึ่งเก้าอี้ เพื่อนำไปให้ตัวแทนพรรคเล็ก แต่ฝ่ายเพื่อไทยไม่ยอม แล้วก็โบ้ยว่า ทำไมประชาธิปัตย์ที่ได้โควต้า 11 เก้าอี้ โดยเป็นพรรคฝ่ายค้านเหมือนกับภูมิใจไทย-รักประเทศไทย-มาตุภูมิ-รักษ์สันติ ถึงไม่เฉือนโควต้าไปให้พรรคเล็ก จะมาตัดเก้าอี้ไปจากเพื่อไทยที่เป็นพรรครัฐบาลได้อย่างไร

พูดง่ายๆ ก็คือ เพื่อไทยไม่มีวันยอมคายเก้าอี้เด็ดขาด

ก็อย่างที่รู้ๆกัน คือเพื่อไทยเอง ส.ส. 200 กว่าคน แย่งกันจะเป็นประธานกรรมาธิการฯในพรรคหนักอยู่แล้ว 19 เก้าอี้ยังไม่พอจะแบ่งปันกัน เพื่อไทยจึงไม่ยอมเฉือนหนึ่งเก้าอี้ให้พรรคเล็ก ทำให้การประชุมตัวแทนพรรคการเมืองแบ่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการผ่านไปสองครั้ง ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้กับแค่เรื่องเล็กๆแค่นี้

ไม่รู้ว่าการประชุมตัวแทนทุกพรรคการเมืองนัดที่สามที่นัดกันไว้ 8 กันยายน จะได้ข้อสรุปอย่างไร

“ทีมข่าวการเมือง” เห็นว่าหากเป็นไปได้ก็ควรที่ทุกพรรคการเมืองต้องรีบคุยเรื่องนี้ให้จบโดยเร็ว ไม่ควรมามีปัญหากับเรื่องการแย่งชิงเก้าอี้กันแบบนี้

อะไรที่เสียสละได้เพื่อให้งานนิติบัญญัติเดินไปได้ก็ควรต้องทำ อย่าเล่นการเมืองหวงอำนาจกันมากเกินไป

เพราะเห็นแย่งเก้าอี้กันแบบนี้ ครั้นพอแต่งตั้งกันเสร็จ มีประธานกรรมาธิการ มีกรรมาธิการกันแล้ว ก็ไม่เห็นจะทำงานอะไรกัน นัดประชุมแต่ละครั้งก็ไม่ได้เอาเรื่องสำคัญๆ เช่น การตรวจสอบฝ่ายบริหาร หรือตรวจสอบเรื่องที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมาหารือ

มีแต่เรื่องไม่เป็นเรื่องหยิบมาพิจารณา แถมบางวันประชุมกันไม่กี่นาทีก็ปิดประชุม เซ็นรับเบี้ยประชุมกันเสร็จ ก็แยกย้าย กรรมาธิการบางคณะแทบไม่มีการประชุมอะไรกันเลยแต่ละสัปดาห์ก็ยังมี

ทว่าพอปิดสภาฯเมื่อไหร่ นัดหมายยกคณะไปเที่ยวต่างประเทศ ผลาญเงินภาษีประชาชนแล้วก็เขียนโปรแกรมว่าไปดูงานไปทัศนศึกษา

รู้จักแย่งกันทำงาน เหมือนแย่งกันเอาตำแหน่ง ก็คงจะดีไม่น้อย ใช่ไหมพวกส.ส.ทั้งหลาย
พายัพ ชินวัตร
เยาวภา วงศ์สวัสดิ์
ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์
ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
กำลังโหลดความคิดเห็น