ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด ครม.ปูแดง 1 ก็มีมติปูนบำเหน็จตำแหน่งข้าราชการการเมืองให้แก่บรรดาขุนพล-ลิ่วล้อที่เคยช่วยงานกันมาจนได้กลับเข้ามามีอำนาจรัฐอีกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นแกนนำคนเสื้อแดง ถึงจะตกเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง เคยก่อเหตุความวุ่นวายเผาบ้านเผาบ้านเมือง หรือสังคมจะยังสงสัยในพฤติกรรมตลอดจนความรู้ความสามารถสักแค่ไหน ก็ยังได้รับตำแหน่งเดินชูคอเข้ากระทรวงต่างๆ กันอย่างถ้วนหน้า
รวมถึงคนที่ก่อเรื่องฉาวกรณีการส่งอีเมล์รายงานเรื่องการ “ซื้อสื่อ”เพื่อช่วยเหลือ “คุณปู” อย่างนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรค ก็ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาณุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อ ทั้งที่การกระทำของนายวิมนั้น ถูกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนและมีข้อสรุปว่ามีเมล์ดังกล่าวจริง ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทยตามการร้องเรียนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
การแต่งตั้งนายวิมให้ได้รับตำแหน่งดังกล่าวจึงนับว่าท้าทายกระแสสังคมเป็นอย่างยิ่ง แต่เหตุใดผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยจึงให้นายวิมมาทำหน้าที่นี้
นายวิมนั้น มีประสบการณ์ในวิชาชีพสื่อมากกว่า 20 ปี เคยเป็นทั้งผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ พิธีกรรายการทางสถานีโทรทัศน์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ก่อนที่จะเข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตามด้วยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ส่วนพรรคเพื่อไทยนายวิมได้เป็นรองโฆษกพรรคตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2551 เป็นกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 และเป็นผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 108 พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา
จาประสบการณ์และเส้นสายในวงการสื่อมวลชน นายวิมจึงนับเป็นบุคลากรของพรรคเพื่อไทยที่รู้เส้นสนกลในวงการสื่อเป็นอย่างดี และพรรคจำเป็นต้องเก็บไว้ใช้งานเป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคกับสื่อ แม้ว่านายวิมจะก่อเรื่องอื้อฉาวให้กับพรรคแค่ไหนก็ตาม
นายวิม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมหลังเข้าพบ น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า กรณีอีเมลฉาวไม่มีผลกระทบอะไรต่อการทำงานของตน และยังยืนยันความบริสุทธิ์ โดยอ้างว่าทางผู้ใหญ่ของพรรคยังเชื่อว่า ตนไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหา เมื่อตนไม่ได้กระทำผิด ไม่จำเป็นต้องกลัว ในการเลือกตนเข้ามาทำงานในส่วนนี้ เพราะเห็นว่าตนเคยทำหน้าที่ในแวดวงสื่อมวลชนมาก่อน ทำให้เข้าใจว่าสื่อต้องการอะไร
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตั้งขึ้นมาสอบสวนกรณีนี้ ก็จะพบว่านายวิมได้แสดงพิรุธอย่างชัดเจน หลายอย่างที่ส่อว่านายวิมเป็นคนเขียนอีเมล์ดังกล่าวจริง
อีเมล์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางสื่อเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 โดยเนื้อหาที่บ่งบอกว่าคนชื่อ “วิม”เป็นคนเขียน เพื่อรายงานถึง “ท่านพงษ์ศักดิ์” เกี่ยวกับการจัดการสื่อในช่วงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ เพื่อให้ข่าวการออกหาเสียงของ “คุณปู” ปรากฏในสื่อเหล่านั้นในเชิงบวก โดยระบุว่าได้มีการดูแลสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับใดบ้าง ทั้งการจ่ายเป็นเงินที่ละ 2 หมื่นบาท เลี้ยงข้าวและให้ไวน์สื่อมวลชนบางคนด้วย
หลังจากอีเมล์ดังกล่าวถูกเปิดเผยออกไป นายวิมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นคนเขียนอีเมล์ดังกล่าว และอ้างว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง เพราะอีเมล์ในชื่อของตนนั้น เป็นอีเมล์ที่คนทั่วไปเข้ามาใช้ได้เพราะได้ให้รหัสผ่านแก่นักข่าวไว้เพื่อตรวจสอบกำหนดการหาเสียงของพรรค ซึ่งขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคที่บอกว่า อีเมล์ดังกล่าวอาจมีคนขโมยรหัสผ่าน ซึ่งหากคนทั่วไปเข้ามาใช้ได้จะมีการขโมยรหัสผ่านทำไม รวมทั้งข้อมูลจากผู้สื่อข่าวประจำพรรคเพื่อไทยก็ระบุชัดว่า พรรคมีการจัดระบบการใช้คอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี และไม่มีการให้รหัสผ่านเข้าอีเมล์ของนายวิมแก่นักข่าวแต่อย่างใด
นอกจากนี้นายวิมยังปฏิเสธที่จะไปให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการฯ ของสภาการหนังสือพิมพ์ เพียงแต่โทรศัพท์ให้ข้อมูลเท่านั้น โดยอ้างว่าทำตามคำแนะนำของทนายความของพรรค และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ขอรหัสผ่านอีเมล์ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบว่ามีอีเมล์ฉบับนี้จริงหรือไม่ นายวิมกลับไม่ยอมให้ และอ้างว่า อีเมล์ดังกล่าวอาจจะถูกลบหรือบล็อกไปแล้ว ทั้งที่นายวิมเคยบอกว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคจะตรวจสอบเรื่องนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะลบอีเมล์ดังกล่าวซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายหลักฐาน นอกจากนี้ ในเมื่อนายวิมเป็นเจ้าของอีเมล์ดังกล่าวเหตุใดจึงจะไม่รู้ว่าอีเมล์นี้ถูกบล็อกหรือลบไปแล้ว
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ให้การรับรองรายงานของคณะอนุกรรมการไปแล้ว ตอกย้ำข้อสรุปว่านายวิมเป็นผู้ส่งอีเมล์ถึง “ท่านพงษ์ศักดิ์” เพื่อรายงานถึงการ “ซื้อสื่อ”จริง แต่ด้วยข้อจำกัดของอำนาจหน้าที่ของสภาการฯ ทำให้ยังไม่อาจสรุปแบบฟันธงลงไปว่า สื่อมวลชนที่ถูกระบุชื่อในอีเมล์ได้รับผลประโยชน์จากนายวิมจริงหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่ายังหาใบเสร็จไม่พบ จึงไม่อาจจะมีบทลงโทษสื่อที่ถูกกล่าวหาได้ นอกจากจะมีการเตือนให้สื่อเหล่านั้นรักษาระยะห่างกับนักการเมืองเท่านั้น
ขณะที่สื่อที่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านผลการสอบสวนของสภาการฯ อย่างเครือมติชน ก็มีบางคนออกปฏิเสธอย่างอ้อมๆ แอ้มๆ ว่า นายวิมอาจจะเขียนอีเมล์ดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเอาผลงานเข้าตัว เป็นการสร้างรายจ่ายเพื่อนำไปหารายได้ ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นก็เท่ากับว่านายวิมสร้างเรื่องขึ้นมาเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวจนทำให้เครือมติชนเสื่อเสียชื่อเสียง แต่เครือมติชนกลับไม่กล่าวประณามนายวิมอย่างจริงจังแม้แต่ครั้งเดียว
ขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง หากคิดว่าอีเมล์ฉบับดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริงก็ต้องเอาผิดนายวิมทึ่สร้างเรื่องขึ้นมาหลอกลวงผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อสร้างผลงานให้กับตัวเอง
ตรงกันข้าม นายวิมกลับได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นเลขาณุการรัฐมนตรี กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนเดือนละครึ่งแสนบาท นั่นแสดงว่า ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยเห็นผลงานของนายวิมในการจัดการเรื่องสื่อจนมีส่วนทำให้พรรคได้รับชัยชนะ จึงไว้วางใจให้มาทำหน้าที่เลขาณุการรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลสื่อ ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาล
นั่นเท่ากับว่า เนื้อหาในอีเมล์ฉาวฉบับนั้นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสื่อ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง