xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู-แม้ว” ซบ “ป๋า” “คนโขน” แห่งยุค “ทักษิณเริงเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิด 91 ปีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เชื่อแน่ว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นลีลาการ “อ่านนโยบาย” ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยเธอได้อ่านเอกสารแถลงนโยบายทั้งหมด 44 หน้า ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งจนจบ หลังจากนั้นไม่รู้ว่า นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย “หลบฉาก” ไปเล่นเฟซบุ๊กอยู่ที่ไหน(หรือเปล่า)ก็ไม่รู้ ในช่วงเวลาที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และหัวหน้าพรรค(บางพรรค)อื่นๆ ขึ้นอภิปรายซักถามนโยบายของรัฐบาล

แต่ก็เอาเถอะ แม้นายกฯ คนสวยจะใช้วิธี “อ่านโพย” แถลงนโยบาย แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่า “หัวหน้าพรรคบางคน” ที่นอกจากจะไม่ยอมอ่านแล้ว พระเดชพระคุณท่านยังโยนไปให้ลูกพรรคอภิปรายแทนเสียฉิบ! เห็นคนพวกนี้ในสภาทีไร ก็ไม่ต่างกับเห็น “หัวหลักหัวตอ” ทุกทีไป

แต่เรื่องที่น่าสนใจมากกว่าพวก “วอลเปเปอร์” ในสภา ก็คือมีรายงานว่าวันเดียวกันนั้น “ทักษิณ ชินวัตร” ที่อาศัยจังหวะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ก็ได้เปิดแถลงนโยบายรัฐบาลไทยต่อสื่อมวลชนญี่ปุ่น ราวกับ ฯพณฯ เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” นายกฯ “โคลนนิ่ง” ของเขากำลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้วยการอ่านตาม “เอกสาร” ที่มีคนเตรียมไว้ให้อย่างละเอียดยิบ!

แม้ในสายตาของหลายคนจะเวทนา “ยิ่งลักษณ์” ที่โดนพี่ชาย “ขโมยซีน” แต่หากพิจารณาดีๆ ก็จะเห็นการทำงานที่สอดประสานกันเป็นทีมของ “สองพี่น้อง” ที่แม้ปากจะบอกว่า “ไม่เกี่ยวกัน” แต่นับวัน “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ” ยิ่งกระจ่างชัดมากขึ้นทุกที!

อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามวันแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่หลายคนมองว่าเป็นเพียงเวที “โหมโรง” โชว์บทบาทของทั้งจากฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่ในที่สุดแล้วก็ไม่เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะเป็นเพียงแค่การอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ แต่ในเวทีการเมืองที่อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนในวันข้างหน้าได้มากกว่า หลายคนต่างจับตาไปที่วันเกิดของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม ของทุกปี และในปีนี้บรรยากาศน่าจะ “พิเศษ” และผิดแผกไปกว่าปีก่อน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐกลับมาอยู่ในมือของฝ่าย “ทักษิณ” อีกครั้ง

ทั้งนี้ หากสังเกตให้ดีจะพบว่าที่ผ่านมา “พล.อ.เปรม” ได้เก็บตัวเงียบ ไม่ค่อยออกมาปรากฏตัวหรือพูดต่อสาธารณะ ตั้งแต่มีการยุบสภาจนกระทั่งมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์” น้องสาวของทักษิณ

โดยที่ผ่านมาหากพิจารณาตามความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรมกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นไปด้วยดี และมักเปิดโอกาสให้อภิสิทธิ์นำคณะรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะอยู่เสมอ มีการให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งฝ่ายอดีตผู้นำกองทัพที่นำโดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เมื่อครั้งยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภาพโดยรวมก็ยังถือว่าราบรื่น

แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือกลับมาอยู่ฝ่ายทักษิณ “พล.อ.เปรม” แม้ ในฐานะประธานองคมนตรี จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็ตาม แต่ในภาพลักษณ์ที่เป็น “ปูชนียบุคคล” เป็นที่เคารพนับถือของทหารในกองทัพ มีลักษณะเป็น “ผู้นำในเชิงบารมี” ผู้คนในบ้านเมืองให้ความศรัทธา ก็ย่อมเป็นที่จับตามองของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

เพราะในอีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าพล.อ.เปรมถูก “ระบอบทักษิณ” สร้างภาพให้เป็น “หัวหน้าอำมาตย์” ชั่วร้าย สาปแช่ง และหาทาง “ทำลาย” อยู่ตลอดเวลาในช่วง 5 ปีนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร “ยึดอำนาจทักษิณ” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งคนเสื้อแดงไปร้องตะโกนด่า สาดเลือดใส่บ้านพักที่โคราช ขว้างปาก้อนอิฐก้อนหินและสิ่งสกปรกโสโครกสารพัดใส่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ รวมไปถึงการรังควานในรูปแบบอื่นๆ สารพัดอย่างต่อเนื่อง

แต่พอหลังจากที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง “ยิ่งลักษณ์” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดสังเกต จนทำให้คนเสื้อแดงรู้สึกใจหาย “วาบ!” เมื่อเห็นน้องสาวนายใหญ่ที่พวกเขาภูมิใจ “เลือก” ให้มาเป็นนายกฯ กับมือ แสดงอาการอยาก “เป็นมิตร” กับศัตรูจนออกนอกหน้า โดยเฉพาะกับฝ่ายกองทัพ ซึ่งก็รู้อยู่ว่าเป็น “คนละขั้ว” กันก่อนหน้านี้

แม้กระทั่งก่อนการเลือกตั้ง หากยังจำกันได้ ยิ่งลักษณ์ถึงกับทอดไมตรีต้องการอยาก “เกี่ยวก้อย” แตะมือกับผู้นำกองทัพอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แต่เพื่อความเหมาะสมในช่วงนั้น ก็เลยทำให้ “เขาและเธอ” ยังไม่มีโอกาสได้เจอกันสักที

แต่บรรยากาศก็ยังเต็มไปด้วย “มิตรไมตรี” ที่มีให้ต่อกัน เมื่อหลังการเลือกตั้งมีการส่ง “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ และมีคำสัญญาออกมาจากปากทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งว่าจะ “ไม่มีการโยกย้ายผู้นำกองทัพ” รวมไปถึงจะไม่มีการแตะต้องโผโยกย้ายนายทหารประจำปี

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ยังได้ส่งสัญญาณ “พิเศษ” อยากเข้าพบขอคำแนะนำจาก “พล.อ.เปรม” ในโอกาสครบรอบวันเกิดในปีนี้ หากได้รับอนุญาต แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากพล.อ.เปรมว่าจะ “ไฟเขียว” ให้เข้าพบหรือไม่ แม้กระทั่งนายใหญ่ “ทักษิณ” ยังกล่าวอวยพรจากประเทศญี่ปุ่น โดยขอให้(ป๋า)มีสุขภาพแข็งแรง และอยากกลับไปอวยพร(ป๋า)ด้วยตนเอง แต่ไม่มีโอกาส

แต่ไม่ว่านายกฯ คนสวยจะได้เข้าพบ “ป๋า” หรือไม่ก็ตาม ล่าสุด (25 ส.ค.) ในส่วนของกองทัพ ที่นำโดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือเป็นคนคุ้นเคย ได้นำ “ขุนทหาร” ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารระดับสูงของ 3 เหลาทัพ ตบเท้าเข้าคารวะอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 91 ปี ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้เปิดเผยภายหลังเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิด พล.อ.เปรม ว่า พล.อ.เปรมได้กำชับให้ตนเองและกองทัพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อความสบายพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ ทั้งนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ระบุว่า ตนและผบ.เหล่าทัพสามารถทำงานและอยู่ร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น อาจวิเคราะห์ได้ว่านี่คือแผนที่ต้องการปรองดองกับฝ่าย “อำมาตย์” ในช่วงที่ “ระบอบทักษิณ” เพิ่งกลับเข้ามากุมอำนาจรัฐ และอะไรๆ ยังไม่เข้าที่เข้าทาง แต่ถ้ามองในด้านธุรกิจ และพิจารณาจาก “ลักษณะนิสัย” ของทักษิณ ที่ทำทุกอย่างเพื่อหวังผล “กำไรสูงสุด” ไม่ได้มีอุดมการณ์ “ไพร่-อำมาตย์” อย่างที่พยายามสร้างกันขึ้นมา ถ้ามองแบบนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่านี่คือความพยายามสร้างไมตรีแบบ “วินวิน” ด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็เป็นได้

ทั้งนี้ ดูจากรายชื่อคณะรัฐมนตรีทั้ง 35 ตำแหน่งที่ไม่มีรายชื่อ “แกนนำคนเสื้อแดง” แม้แต่คนเดียว ซึ่งหลายคนมองว่า “ทักษิณ” ต้องการที่จะสร้างภาพความปรองดองให้เกิดขึ้น และถ้าหากมองให้ลึกลงไปที่ตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ในชื่อของ “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” ก็จะเห็นความชัดเจนว่า “ทักษิณ” กำลังมุ่งหน้าสู่การปรองดองกับ “กองทัพ” และทางประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่คนเสื้อแดงบอกว่าเป็น “อำมาตย์” ซึ่งเป็นศัตรูผู้ร้ายกาจของพวกเขา

และด้วยท่าทีอันชัดเจนของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่ยืนยันว่า จะไม่มีการแต่งตั้งหรือโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพ ยกเว้น 3 ตำแหน่งที่จะมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากหมดวาระ คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารเรือ อีกทั้งจะเข้าหารือกับ ผบ.เหล่าทัพ เพื่อเดินหน้าผสานรอยร้าวระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกองทัพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนหน้านั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ยังได้เปิดเผยด้วยว่า เตรียมเข้าไปกราบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพและเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา และต่อมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็ได้ทำอย่างที่กล่าวไว้จริงๆ

ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “พล.อ.ยุทธศักดิ์กับพล.อ.เปรม” นั้น บอกได้เลยว่าจัดอยู่ในระดับที่ “ไม่ธรรมดา” พล.อ.ยุทธศักดิ์เคยพูดถึงความสัมพันธ์กับพล.อ.เปรมว่า พร้อมที่จะเข้าไปเป็นผู้ประสาน เพราะเป็นคนที่เข้า-ออกบ้านสี่เสาร์เทเวศร์ของพล.อ.เปรมได้ตลอดเวลา ทั้งงานวันเกิด งานปีใหม่ และไม่มีครั้งไหนที่พล.อ.เปรมไม่ให้เข้าพบ เพราะรู้จักพล.อ.เปรมตั้งแต่ตนมียศเป็นพันตรี

หากไม่เชื่อให้ไปถาม “พล.อ.อำนวย ถิระชุนหะ” แกนนำ ตท.10 ในพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทยสอบตกในเรื่องของการปรองดองสมานฉันท์อย่างเห็นได้ชัด เพราะหากวิเคราะห์ตามรายชื่อของ ครม. ต่างๆ จะเห็นว่ามีเครือข่ายของคนอำมาตย์เข้ามามีบทบาทจำนวนมาก เช่น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ...ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย ต้องการให้ประชาชนสงบศึกกับกลุ่มของอำมาตย์ โดยใช้หลักคิดว่า หากสร้างความพอใจให้อำมาตย์ได้แล้ว จะสามารถสงบศึกได้

นอกจากนี้ ทักษิณยังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอนัล เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 54 ที่ผ่านมาว่า จะนิรโทษกรรมทุกคดีทางการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 49 นั่นย่อมหมายถึงทุกการกระทำความผิดในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 53 อันเป็นผลให้ทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากองค์ประกอบของ ครม. ที่ไม่มีแม้ “เงาหัว” ของแกนนำคนเสื้อแดงแม้แต่คนเดียว บวกกับปัจจัยของการเลือก “พล.อ.ยุทธศักดิ์” มาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เพื่อที่จะปรองดองกับอำมาตย์ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “บารมีของป๋า” ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่เสื่อมคลาย ทั้งในฐานะประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ “ปูชนียบุคคล” ผู้เป็นที่เคารพนับถือของทหารในกองทัพ และ “ผู้นำในเชิงบารมี” ที่ผู้คนในบ้านเมืองให้ความศรัทธา

ดังนั้น แม้ที่ผ่านมา “พล.อ.เปรม” จะถูก “ระบอบทักษิณ” สร้างภาพให้เป็น “หัวหน้าอำมาตย์” ที่ชั่วร้าย และหาทาง “ทำลาย” อยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้“ระบอบทักษิณ” เพิ่งกลับเข้ามากุมอำนาจรัฐใหม่ๆ และอะไรๆ ก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง พวกเขาจึงเลือกวิถีทาง “ปรองดอง” มากกว่าที่จะ “งัดข้อ” กับอำมาตย์ เพราะนั่นน่าจะทำให้หนทางกลับบ้านของ “นายใหญ่” ดูสดใสมากกว่า ที่จะลงไป “เกลือกกลั้ว” กับไพร่เสื้อแดง

และพอ “นายใหญ่” กลับถึงบ้านอย่างสวัสดิภาพเมื่อไหร่ จะเอายังไงค่อยว่ากันอีกที แต่ตอนนี้ขอสวม “หัวโขน” ให้ “พล.อ.เปรม” เป็น “อำมาตย์” ผู้แสนดีไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน...
กำลังโหลดความคิดเห็น