ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าหากจะมองข้ามช็อตจากวันที่ 23-24 สิงหาคมที่เป็นวันแถลงนโยบายของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อรัฐสภาออกไปล่วงหน้า เพราะหลายคนเชื่อว่านี่คือการแสดงโชว์บทบาททั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างฝ่ายต่างอวดอ้างผลงานและจะมีการเกทับบลัฟกันจนน่ารำคาญ แม้ว่าในบางช่วงอาจดูน่าตื่นเต้นบ้างก็ตาม แต่ถึงอย่างมันก็ไม่เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะเป็นเพียงแค่การอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ
แต่ในทางการเมืองที่อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนในวันหน้าได้มากกว่า หลายคนคงจับตาไปที่วันเกิดของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 สิงหาคมของทุกปี และในปีนี้อาจจะ “พิเศษ” ตรงที่บรรยากาศอาจผิดแผกไปจากปีก่อน อย่างน้อยก็ในช่วงสองสามปี หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ กลับมาอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามนั่นคือฝ่ายของ ทักษิณ ชินวัตร อีกครั้ง
หากสังเกตให้ดีจะพบว่า พล.อ.เปรม ได้เก็บตัว ไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณะตั้งแต่มีการยุบสภาจนกระทั่งมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร
ที่ผ่านมาหากพิจารณาตามความเป็นจริงความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.เปรม กับ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นไปด้วยดี และมักเปิดโอกาสให้ อภิสิทธิ์ นำคณะรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะอยู่เสมอ มีการให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งฝ่ายอดีตผู้นำกองทัพในยุคนั้นที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมภาพโดยรวมก็ยังราบรื่น
อย่างไรก็ดี เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือกลับมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามอีกครั้ง และแม้ว่า พล.อ.เปรม ในฐานะของประธานองคมนตรีต้อง “ไม่ยุ่งเกี่ยว” กับการเมืองก็ตาม แต่ในภาพลักษณ์ที่เป็นปูชนียบุคคล เป็นที่เคารพนับถือของทหารในกองทัพ มีลักษณะเป็น “ผู้นำในเชิงบารมี” ผู้คนในบ้านเมืองให้ความศรัทธาก็ย่อมเป็นที่จับตามองเป็นของธรรมดา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันว่าบรรยากาศวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า พล.อ.เปรม ถูก “ระบอบทักษิณ” สร้างภาพให้เป็น “หัวหน้าอำมาตย์” และหาทางทำลายอยู่ตลอดเวลาในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา เคยแม้กระทั่งส่งคนเสื้อแดงไปร้องตะโกนด่า พล.อ.เปรม ถึงหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ก็มี รวมไปถึงการรังควาญสร้างความรำคาญในรูปแบบอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
แต่ล่าสุดบรรยากาศดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปอย่างน่าสังเกต หลังจากที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี “โคลนนิ่ง” ของทักษิณ อย่างน้อยก็มีการแสดงให้เห็นว่าต้องการ “เป็นมิตร” กับอีกฝ่าย โดยเฉพาะกับฝ่ายกองทัพ ซึ่งถือว่าอยู่กันคนละขั้วก่อนหน้านี้
หากจำกันได้ก่อนการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ถึงกับทอดไมตรีต้องการแตะมือกับผู้นำกองทัพ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เพื่อความเหมาะสมในช่วงนั้นก็ยังไม่มีโอกาสได้พบกัน อย่างไรก็ดีบรรยากาศที่เป็นบวกก็ยังเดินหน้าไปด้วยดี เมื่อมีการส่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ และมีคำสัญญาออกมาจากปากทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งก็คือ จะ “ไม่มีการโยกย้ายผู้นำกองทัพ” รวมไปถึงจะไม่มีการแตะต้องโผโยกย้ายนายทหารประจำปี
ล่าสุด นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยังได้ส่งสัญญาณ “พิเศษ” ในช่วงเวลาสำคัญก็คือ อยากจะเข้าไปพบขอคำแนะนำจาก พล.อ.เปรม ในโอกาสครบรอบวันเกิดในปีนี้หากได้รับอนุญาต ทำให้หลายฝ่ายจับตามองเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี “นาทีนี้” ยังไม่มีสัญญาณตอบกลับมาว่าจะ “ไฟเขียว” และแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะได้เข้าพบหรือไม่ก็ตาม เชื่อว่าในส่วนของกองทัพที่นำโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ซึ่งถือว่าเป็นคนคุ้นเคยจะต้องนำ “ขุนทหาร” ตบเท้าเข้าคารวะอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าให้รอฟัง “โอวาท” ว่าจะออกมาอย่างไรเท่านั้น
ขณะเดียวกัน หากมองอีกมุมหนึ่งนี่อาจเป็นเกมที่ต้องการ “กดดันอำมาตย์” ให้เกิดภาพลบ เพราะหากยังไม่เปิดไฟเขียวให้เข้าพบเท่ากับแสดงให้สังคมเห็นว่าไม่ต้องการ “ปรองดอง” แต่ถ้าได้เข้าบ้านสี่เสา เมื่อถึงตอนนั้นสังคมภายนอกก็ไม่ได้รับรู้ แค่เปิดประตูเข้าไป แม้จะไม่ได้พูดอะไรกันภาพที่ออกมาก็ย่อมเป็นบวกต่อฝ่าย “อำนาจใหม่” อีกฝ่ายก็มีแต่เสียกับเสมอตัวเท่านั้น อีกทั้งที่ผ่านมาก็ได้ทำทางมาตั้งแต่ต้นแล้วก็คือไม่มี “หัวโจก” คนเสื้อแดงมีตำแหน่งในรัฐบาลเลยแม้แต่คนเดียว
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอาจมองได้ว่านี่คือแผนที่ต้องการปรองดองกับฝ่ายอำมาตย์ในช่วงที่ตัวเองเพิ่งกลับเข้ามากุมอำนาจรัฐ ยังไม่เข้าที่เข้าทาง แต่ถ้ามองในด้านธุรกิจ และพิจารณาจากแบ็กกราวด์ของ ทักษิณ ที่ทำทุกอย่างเพื่อหวังผล “กำไรสูงสุด” ไม่ได้มีอุดมการณ์ ไพร่-อำมาตย์ อย่างที่พยายามสร้างกันขึ้นมา ถ้ามองแบบนี้มันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่านี่คือความพยายามสร้างไมตรีแบบวิน วิน ด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็เป็นได้!!