xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาระหว่างประเทศกระทบเขตอำนาจศาลไทยหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ปัจจุบันมีการกระทำที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศเกิดขึ้นในสังคมประชาคมโลกมากมาย เช่น เมื่อเกิดสงครามก็อาจมีการนำเอาเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไปเป็นทหารในกองกำลังและให้สู้รบในสงคราม การใช้กำลังทางทหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของพลเมืองที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การกักขังและลงโทษบุคคลที่มีแนวความคิดตรงกันข้ามกับกลุ่มพวกพ้องของตนอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งการค้ามนุษย์ ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้มีลักษณะเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นสากล และยังถือเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

จากแนวคิดดังกล่าว ที่ประชุมทางการทูตขององค์การสหประชาชาติ (UN Diplomatic Conference) จึงได้มีข้อสรุปให้ใช้ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นมา หลังจากมีการให้สัตยาบันของ 60 ประเทศ ในขณะนี้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีรัฐที่เป็นภาคีสมาชิกทั้งหมด 116 รัฐ โดยมี 15 รัฐมาจากภาคพื้นทวีปเอเชีย ในส่วนของประเทศไทยได้มีการลงนามรับรองในธรรมนูญกรุงโรมฯ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการให้สัตยาบัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ถูกจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญกรุงโรมฯ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้จากสถิติที่ปรากฏตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2545 ศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับคำร้องขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องมากกว่า 8,733 คำร้อง จาก140 ประเทศ โดยคำร้องส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมันนี รัสเซีย และฝรั่งเศส

ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีโดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นในรัฐภาคี และรัฐอื่นที่ยอมรับอำนาจของศาล และมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล และมีอำนาจไต่สวน ดำเนินคดี และพิพากษาคดีบุคคลได้ แต่มีข้อจำกัดคือ สามารถพิจารณาเฉพาะอาชญากรรมที่กำหนดไว้ใน ธรรมนูญกรุงโรมฯ อันได้แก่

1.อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธ์ (The Crime of Genocide)

2.อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity)

3.อาชญากรรมสงคราม (War Crimes)

4.อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (The Crime of Aggression)

ในปัจจุบัน ศาลอาญาระหว่างประเทศ มีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 คดี เกี่ยวข้องกับประเทศอูกานดา ประเทศคองโก ประเทศแอฟริกากลาง ประเทศซูดาน ประเทศเคนยา และประเทศลิเบีย จะเห็นได้ว่าบางประเทศอาจไม่ใช่ประเทศที่มีสถานะเป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศก็สามารถมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีได้ ตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญกรุงโรมฯ มาตรา 13 ให้มีการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ได้ 3 กรณี

1.รัฐภาคีเป็นผู้เสนอคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่กรณีของ ประเทศอูกานดา ประเทศคองโก และประเทศแอฟริกากลาง

2.คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Nations Security Council) เป็นผู้เสนอคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่กรณีของประเทศซูดาน ที่ไม่ได้เป็นรัฐภาคี และกรณีของประเทศลิเบียซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเสนอคดีต่ออัยการให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554

3.อัยการเป็นผู้เสนอคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่กรณีของประเทศเคนยาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 โดย องค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีเบื้องต้น (Pre-Trial Chamber II) ได้อนุญาตให้อัยการดำเนินการสืบสวน สอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคดี

นอกจากนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศยังมีหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการพิจารณาว่าจะรับคดีที่มีการร้องขอไว้พิจารณาหรือไม่ โดยอาศัยหลักที่เรียกว่า “หลักการเสริมเขตอำนาจศาลภายในของรัฐ” (Principle of Complementarity) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมเขตอำนาจศาลทางอาญาของรัฐ ในกรณีที่รัฐไม่สามารถดำเนินคดีได้ หรือไม่สามารถดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากหลักการเช่นว่านี้เองทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถเข้ามามีส่วนสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในการคุ้มครองผู้ถูกคุกคามตามความผิดที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญกรุงโรมฯ โดยมิได้เข้าไปก้าวก่ายเขตอำนาจศาลภายในประเทศ เพียงแต่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและช่วยแก้ไขปัญหา ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ธรรมนูญกรุงโรมฯ มาตรา 17 จึงได้บัญญัติให้มีเงื่อนไขในการรับคำร้องขอนำคดีเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ โดยมีสาระสำคัญในกรณีที่ศาลจะไม่รับคดีไว้พิจารณาหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า

1.คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายในรัฐภาคีที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น เว้นแต่รัฐนั้นจะไม่สมัครใจ หรือไม่มีความสามารถในการสืบสวน สอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้อย่างแท้จริง

2.คดีนั้นมีการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายในรัฐที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นแล้ว และรัฐตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่การตัดสินใจนั้นเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สมัครใจ หรือไม่มีความสามารถในการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้อย่างแท้จริง

3.บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ถูกดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องนั้นแล้ว และการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นไม่อาจถือว่ายอมรับได้ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นในศาลอื่นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องบุคคลที่เกี่ยวข้องจากความรับผิดทางอาญา หรือการพิจารณาคดีนั้นปราศจากความเป็นอิสระหรือเป็นกลาง

4.คดีนั้นไม่มีสาระเพียงพอที่ ศาลอาญาระหว่างประเ ทศจะยกขึ้นมาวินิจฉัย

นอกจากนี้ ธรรมนูญกรุงโรมฯยังได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมถึงการพิจารณากรณีของข้อยกเว้นในเรื่องของ “ความสมัครใจ” ที่จะสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด โดยศาลต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีลักษณะเป็นการกระทำดังต่อไปนี้หรือไม่

1.การดำเนินกระบวนพิจารณาและการตัดสินคดีในรัฐมีขึ้นเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องพ้นจากความรับผิดทางอาญา

2.มีความล่าช้าเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

3.การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนั้น ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลาง อีกทั้งปรากฏว่ามีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

สำหรับการพิจารณาถึงกรณีที่รัฐ “ขาดความสามารถ” ในการสืบสวนสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดนั้น ธรรมนูญกรุงโรมฯบัญญัติให้ศาลต้องพิจารณาถึง ความสามารถของรัฐภาคีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐาน รวมถึงความสามารถในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมของรัฐนั้นด้วย

จากบทบัญญัติของธรรมนูญกรุงโรมฯที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อมนุษยชาติ และกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้น เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงบางประเภท และสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล ไม่ว่าการกระทำนั้นๆ จะเป็นการกระทำส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐอยู่ หรือว่าการกระทำนั้นจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคล หรือคณะบุคคลที่ต่อสู้ ต่อต้าน หรือเป็นขบถ หรือมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือระบอบการปกครองที่ครองอำนาจรัฐอยู่

ในขณะเดียวกันธรรมนูญกรุงโรมฯฉบับนี้ ก็ยังมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เห็นว่า รัฐทุกรัฐมีหน้าที่ที่จะใช้เขตอำนาจในทางอาญาของตนต่อบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศมีสถานะเป็นเพียงศาลที่ “เสริมเขตอำนาจในทางอาญาของรัฐ” ในกรณีที่รัฐไม่สามารถที่จะดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมที่ร้ายแรงเหล่านี้ขึ้นอีก ประเทศไทยเองก็ได้มีการลงนามรับรองสนธิสัญญานี้ไว้ตั้งแต่ต้น

ดังนั้นหากมีการแสดงเจตนาเพื่อให้สัตยาบันกับธรรมนูญกรุงโรมฯฉบับนี้ ประเทศไทยก็ไม่ได้สูญเสียเขตอำนาจในทางอาญาของรัฐแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังแสดงถึงความเชื่อมั่นและความตั้งใจจริงของประเทศในการที่จะร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น