xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

2วันอันตรายขึงพืด “ยิ่งลักษณ์” รัฐสภาชำแหละนโยบายรบ.ปูแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - 23-24 สิงหาคมนี้ คือสองวันสำคัญที่จะเป็นด่านทดสอบแรกทางการเมืองในห้องประชุมรัฐสภา ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

กับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหารจะต้องแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อผ่านตรงนี้ไปแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงจะถือว่าเป็นรัฐบาลสมบูรณ์แบบตามรัฐธรรมนูญ

โดยสองวันดังกล่าวได้ข้อตกลงกันแล้วในการประชุมตัวแทนสามฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สมาชิกวุฒิสภา ว่าจะประชุมกันตั้งแต่ 9.00-24.00 น. แบ่งเป็นส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอภิปราย 11 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 11 ชั่วโมง วุฒิสภา 6 ชั่วโมง ส่วนหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และนายกรัฐมนตรีไม่จำกัดเวลา

สำหรับรูปแบบการอภิปราย จะอภิปรายกันแบบกรอบร่างนโยบายรวมทั้งฉบับ ที่มีด้วยกันประมาณ 34 หน้า

กระบวนการก็คือ เมื่อเริ่มเปิดประชุม นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็จะอ่านสรุปกรอบร่างนโยบายดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อ 16 สิงหาคม และส่งให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อนายกรัฐมนตรีแถลงจบ จากนั้นก็จะเปิดฟลอร์เวทีประชุมให้ทั้ง ส.ส.รัฐบาล -ฝ่ายค้าน-ส.ว.ได้อภิปรายกันเต็มที่

สำหรับพวกส.ส.รัฐบาล คงไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็คงออกแนว “ยอวาที-ชเลียร์”กันเป็นส่วนใหญ่ ว่านโยบายรัฐบาลซึ่งก็คือนโยบายพรรคเพื่อไทยทั้งดุ้น พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีส่วนอะไรแม้แต่น้อย ดียังงั้น เลิศยังงี้ สุดยอดทุกอัน ไม่อย่างงั้นประชาชนคงไม่เลือกส.ส.เพื่อไทยมาเกินกึ่งหนึ่ง

“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ” เชื่อว่าพวกส.ส.เพื่อไทย ทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ คงใช้เวทีนี้ อภิปรายยกยอปอปั้นเอาใจ “นายหญิง-ยิ่งลักษณ์” กันล้มหลามแน่นอน

เผลอๆ อาจได้เห็นส.ส.เพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายชเลียร์ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตรด้วยแน่นอน ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายพรรคเพื่อไทยตามคอนเซ็ปต์ ทักษิณคิด-เพื่อไทยทำ ซึ่งวันนี้แปรรูปออกมาเป็นนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อหวังให้เข้าตาทั้ง นายใหญ่-นายหญิง กันไปเลย

ขณะที่ซีกสภาสูงก็คงได้เห็นสมาชิกวุฒิสภา ที่ทำการบ้านมาดี ข้อมูลแน่น หลักการมั่นคง ได้ลุกขึ้นอภิปรายร่างนโยบายรัฐบาลว่าแต่ละเรื่อง มีข้อดีข้อเสียอย่างไร แต่หากให้ประเมินส.ว.ที่จะทำหน้าที่ส่วนนี้อย่างจริงจัง คงมีอยู่ไม่มาก เพราะส.ว.ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะส.ว.เลือกตั้งหลายสิบคนก็ล้วนแล้วแต่เครือข่ายพรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง และพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่แน่ สภาสูงแทนที่จะเป็นสภาตรวจสอบกลั่นกรองฝ่ายบริหาร อาจมีส.ว.บางคนลืมตัวลุกขึ้นอภิปรายชเลียร์ยิ่งลักษณ์ไปด้วย ก็อาจมีให้เห็น!

ที่เป็นไฮไลต์ ต้องจับตาคือ การทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ ยุคพ่ายแพ้เลือกตั้งภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะกลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏรเร็วๆ นี้

ไม่รู้ว่าห่างเหินการเป็นฝ่ายค้านมาสองปีกว่า สนิมจะเขรอะกันหรือไม่ สำหรับประชาธิปัตย์ ที่ได้ชื่อว่า ฝ่ายค้านมืออาชีพ กลับมาเล่นบทตรวจสอบรอบนี้ ก็ต้องใช้จังหวะโอกาสนี้โชว์ฝีปากอย่างเต็มที่ ให้ได้ใจประชาชน โดยเฉพาะพวกที่เลือกปชป. หรืออาจไม่ได้เลือก แต่กำลังมีอารมณ์....

หลังเห็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำงานได้แค่อาทิตย์เดียว ผลงานอะไรยังไม่ได้ทำ ปากก็อ้างว่าต้องรอให้แถลงนโยบายเสร็จก่อนค่อยทำงานเต็มตัว แต่ทีกับทักษิณ ชินวัตร นักโทษชายหนีคดี หัวหน้าแก๊งแดงก่อการร้าย กลับไปช่วยเต็มที่ จนญี่ปุ่นออกวีซ่าเป็นกรณีพิเศษให้เข้าประเทศได้ ทำให้ประชาชนเดือดดาลกันไปทั่ว จึงหวังจะเห็นอภิสิทธิ์และพลพรรคประชาธิปัตย์ ซักฟอกถล่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้เละ โดยเฉพาะ

ปึ้ง-สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ที่รับใช้นายใหญ่ชนิดพร้อมจะเอาตำแหน่งไปขัดรองเท้าให้ทักษิณ เพื่อจะได้เข้าญี่ปุ่นไปกินปลาดิบของแท้ ที่เมืองยุ่นตามที่นายใหญ่สั่งการ ถ้า 11 ชั่วโมงที่ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย ทำให้ประชาชนผิดหวัง มีแต่อภิปรายลมเพลมพัด ได้แค่หยิกแกมหยอก ยิ่งลักษณ์-สุรพงษ์ ไม่สามารถอภิปรายให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นและเข้าใจได้ว่า นโยบายหลายเรื่องที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เขียนไว้สวยหรู และนำมาแถลงทั้งนโยบายเศรษฐกิจ -นโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และฟื้นฟูประชาธิปไตย-นโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน มันดีจริงหรือไม่ ทำได้จริงหรือเปล่า เรื่องนี้ “ทีมข่าวการเมือง” เห็นว่าเป็นหน้าที่สำคัญของฝ่ายค้าน ที่ต้องอภิปรายชี้แนะรัฐบาล และทำให้สังคมเข้าใจว่า นโยบายแต่ละเรื่องมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ทำได้จริงหรือไม่ ถ้าทำแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้ทราบข้อมูลรอบด้าน ไม่ใช่ฟังแต่ด้านดีที่รัฐบาลจะนำมาโฆษณาชวนเชื่อ

หากฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในฐานะฝ่ายตรวจสอบ แต่ผลที่ออกมาเห็นได้ว่า ฝ่ายค้านทำไม่เต็มที่ ไม่มีการทำการบ้านมาให้ดีเพียงพอ นอกจากฝ่ายค้านจะเสียทางการเมืองแล้ว ประชาชนก็เสียโอกาสด้วย ที่ไม่มีฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพมาช่วยตรวจสอบรัฐบาล

โดยเชื่อได้ว่าการอภิปรายครั้งนี้ ประเด็นที่ฝ่ายค้านรวมถึงส.ว.เองด้วย จะมีการอภิปรายกันมากที่สุดนอกจากเรื่องนโยบายประชานิยมต่างๆที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ เช่น เพิ่มรายได้รายวันสำหรับแรงงานเป็นวันละ 300 บาท หรือ เรื่องการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ที่ประชาธิปัตย์คงส่งทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ที่เป็นมือเศรษฐกิจของพรรคขึ้นเวทีอภิปรายแล้ว เรื่องที่จะมีการอภิปรายกันมากที่สุดและเชื่อได้เลยว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้การประชุมร่วมรัฐสภารอบนี้ ร้อนแรงที่สุดก็คงไม่พ้นการอภิปรายในเรื่อง

นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล

ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เขียนไว้ในข้อที่ 5 ของ 16 นโยบายเร่งด่วน ที่จะทำทันทีในปีแรกคือ เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และนานาประเทศ

ที่แท้จริงแล้วก็คือ การพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อไปเอื้อประโยชน์ให้กับ ทักษิณ ชินวัตร เพราะแค่อาทิตย์เดียว หางโผล่ให้เห็นแล้วกันแล้ว ทั้งกรณีช่วยล็อบบี้ญี่ปุ่น ยกเว้นกฎหมายประเทศตัวเองเพื่อให้เอาทักษิณเข้าประเทศ แล้ว รมว.บัวแก้ว ก็ยังประกาศจะเดินหน้าไปเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ธุรกิจน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่ทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยเร่งด่วน ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้กันดีว่า เรื่องนี้ทักษิณจ้องตาเป็นมันอยู่แล้วในการเข้าไปหาประโยชน์ในธุรกิจปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว และเชื่อว่าอีกไม่นาน พอให้เรื่องเงียบๆ คงได้เห็นการที่กระทรวงต่างประเทศแอบมุบมิบคืนพาสปอร์ต ทั้งพาสปอร์ตปกติ และพาสปอร์ตแดงทางการทูตให้กับทักษิณแน่นอน เพื่อเวลาไปต่างประเทศจะได้ไม่ต้องใช้พาสปอร์ตสัญชาติมอนเตเนโกร อีกต่อไป วิเคราะห์กันไว้ล่วงหน้าว่า ศึกนี้ฝ่ายค้านคงหมายมั่นปั้นมือจะทุบ 

ปู ยิ่งลักษณ์-ปึ้ง สุรพงษ์ ให้น่วมคาห้องประชุมสภาฯให้ได้ !

วิเคราะห์ไว้ล่วงหน้า เพราะก็ยังไม่รู้ว่าถึงเวลาจริงๆ ประชาธิปัตย์ จะทำได้หรือไม่ ไม่ใช่พอถึงวันจริง อภิสิทธิ์ และส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นว่ายิ่งลักษณ์เป็นผู้หญิงเลยไม่อยากปะทะด้วย บอกให้เวลาไปบริหารประเทศก่อน ขืนจัดหนักให้เลยตั้งแต่ยกแรก เกรงจะกลายเป็นเพิ่มคะแนนสงสารให้ยิ่งลักษณ์ไปอีก ถ้าคิดแบบนี้ ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าอะไรที่เห็นว่ามันผิด มันไม่ถูกต้อง หรือปชป.ดูแล้วนโยบายหลายเรื่องอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต

 เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกบรรจุไว้เป็นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แทนที่จะทำให้เกิดการปรองดองกลับกลายจะเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่

แบบนี้ฝ่ายค้านก็ต้องชี้ให้สังคมเห็นว่า สิ่งที่ยิ่งลักษณ์ได้หยิบกระดาษขึ้นมาอ่านนโยบายต่างๆ ต่อที่ประชุมรัฐสภา แต่แค่ยังไม่ทันได้เริ่มทำงานก็มีหลายเรื่องแสดงให้เห็นแล้วว่า

มันไม่ใช่นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในการบริหารประเทศเพื่อพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาประชาชน แต่มันคือ นโยบายการบริหารประเทศเพื่อเอาใจและช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร กับคนเสื้อแดงทั้งสิ้น นี่คือหน้าที่สำคัญของฝ่ายตรวจสอบ

โดยช่วงสุดสัปดาห์นี้ คงได้รู้ว่า ปชป.จะจัดใครขึ้นอภิปรายกันบ้าง จะเป็นพวกสายแข็งหรือพวกสายปานกลาง หรือพวกส.ส.หน้าใหม่ แต่แค่นี้ เชื่อว่า ยิ่งลักษณ์ ก็คงต้องติวเข้มหนักแล้วในการรับมือฝ่ายค้าน เพราะจะหวังพึ่งพวกองครักษ์พิทักษ์ปูนิ่ม จากพวกส.ส.เพื่อไทย ที่พร้อมจะขึ้นชนให้ หากยิ่งลักษณ์โดนฝ่ายค้านลองของ ก็คงไม่ได้ อย่างน้อยมันต้องพึ่งตัวเองให้ได้ก่อน

แต่หากยิ่งลักษณ์ผ่านศึกนี้ไปได้ โดยไม่เกิดอาการ จิตตก-ปากสั่น กลางห้องประชุมเสียก่อน ก็ถือว่า โอเคแล้วสำหรับ ด่านแรกนี้
ทักษิณ ชินวัตร
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
กำลังโหลดความคิดเห็น