xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ (ตอน 3)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

4. ปัญหาความผิดพลาดจากการทำลายมิตร, แนวร่วม และผู้สนับสนุนพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยประชาชนกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ จากทุกชนชั้นในสังคม เป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะของความเป็นสถาบันการเมืองมากที่สุด เป็นที่บ่มเพาะนักการเมือง รับใช้ประเทศชาติหลายรุ่นจำนวนมากมาย ต่างยุคสมัย เป็นพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้สามัญชน ลูกชาวบ้าน หรือลูกขุนนางข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกชนชั้นในสังคม สามารถสามัคคี และร่วมกันทำงาน โดยมีอนาคตและความก้าวหน้าตามความรู้ความสามารถของแต่ละคน โดยเปิดโอกาสให้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง และเป็นเจ้าของพรรคได้ ในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤต ประชาชนจึงเรียกหาพรรคให้เข้ามามีบทบาทแก้ปัญหา ประชาชนจึงสนับสนุนพรรคด้วยดีตลอดมา

แต่พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การทำงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเลขาธิการพรรคนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของพรรคลง จนแทบไม่มีหลงเหลือ มิหนำซ้ำยังทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพรรคกับประชาชน และมวลสมาชิกลงโดยสิ้นเชิงอย่างไม่น่าเชื่อ

กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พรรคได้ห่างเหินจากประชาชนไปมาก บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคเพื่อสมัคร ส.ส.หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองล้วนแต่เป็นบรรดาลูกหลาน ขุนนาง บุคคลชั้นสูง เหล่าบรรดาผู้มีชาติตระกูล นามสกุลดังๆ ทั้งหลาย ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ เป็นเด็กหนุ่มคนรุ่นใหม่ที่ขาดประสบการณ์ และความเข้าใจต่อปัญหาการเมือง หรือสภาพของสังคมไทยไม่เพียงปรากฏอยู่โดยทั่วไปภายในพรรค แม้แต่เมื่อเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรีต่างแวดล้อมด้วยผู้คน และคณะทำงานประเภทดังกล่าวทั้งสิ้น ทำให้พรรคมีภาพลักษณ์ที่ห่างเหินจากประชาชน ไม่ติดดิน ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนทุกชั้นชนในสังคม ฐานความนิยมของพรรคนับวันแต่จะคับแคบลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าถึงประชาชนในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคอื่นๆ นอกกรุงเทพมหานครได้เลย

นอกจากนี้พรรคยังปิดประตูตัวเอง ไม่ยอมเปิดรับบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถ และมีความนิยมศรัทธาในแนวทาง และอุดมการณ์ของพรรคมาร่วมงาน ไม่เสริมสร้างบรรยากาศที่จะเปิดทางให้บุคคลต่างๆ มาร่วมงานกับพรรค จึงเป็นการปิดกั้นทำลายฐานกำลังของพรรค บุคคลสำคัญที่มีศักยภาพถูกพรรคคู่แข่งช่วงชิงตัวไปร่วมงาน โดยโดดเดี่ยวพรรคของเรา ให้กลายเป็นพรรคที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่มีความจริงใจที่จะร่วมงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พรรคไม่แยกแยะมวลชน กลุ่มการเมืองภาคประชาชน และรู้จักสามัคคีกับกลุ่มพลังต่างๆ ที่เป็นคุณต่อพรรค จึงเป็นความผิดพลาดที่สำคัญ การผลักมิตรไปเป็นศัตรู ในกรณีปัญหาระหว่างพรรคกับพันธมิตรฯ จึงเป็นความผิดพลาดในการทำลายแนวร่วม ผู้สนับสนุน

ยิ่งการปล่อยให้สมาชิกพรรคไปทะเลาะ ขัดแย้ง กล่าวหา หรือเป็นศัตรูกับประชาชน โดยผู้นำพรรคมิได้ห้ามปราม หรือให้แนวคิด แนวทางที่ถูกต้องต่อสมาชิก ผู้ปฏิบัติงานพรรค นับว่าเป็นความผิดพลาดล้มเหลวที่ร้ายแรงยิ่งที่นำพรรคไปสู่ความพ่ายแพ้ ท่าทีของหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคในเรื่องนี้ เป็นปัญหาและอุปสรรคโดยตรงต่อการสามัคคีกับพลังของประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ให้ร่วมกันทำงานกับพรรค

5. ปัญหาความผิดพลาดที่ไม่ยึดหลักนิติรัฐ ไม่จัดการกับระบอบทักษิณ และขบวนการล้มเจ้า นำประเทศออกจากการเมืองที่ล้มเหลว

ปัญหาการไม่ยึดหลักนิติรัฐ ไม่จัดการกับระบอบทักษิณ และขบวนการล้มเจ้า ทำให้การเมืองของประเทศยิ่งจมปลักอยู่กับความล้มเหลว ปัญหานี้คือความคาดหวังของประชาชน และเป็นคำมั่นสัญญาที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศต่อประชาชน แต่เมื่อได้อำนาจกลับละเลยและมิได้ปฏิบัติให้เป็นจริง การมีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูด และการไม่รักษาคำพูด ในหลายครั้งหลายโอกาส รวมทั้งท่าทีในการร่วมมือประนีประนอม หรือออมชอมกับระบอบทักษิณ จึงทำให้ทักษิณฟื้นอำนาจ กลุ่มคนเสื้อแดงฟื้นชีพ การเมืองพลิกขั้วกลับไปสู่ความล้มเหลวหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม สังคมโทษพรรคเราเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้ระบอบเก่าฟื้นชีพ และต่างชี้นิ้วมาที่พรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าพรรคที่ไม่กล้าหาญจัดการกับปัญหาดังกล่าว

วันนี้พวกเขาเข้มแข็งกว่าเดิม เราต้องมองปัญหานี้อย่างเข้าใจ และมียุทธศาสตร์ ยุทธิวิธีที่จะรับมือกับปัญหานี้ และจัดการกับปัญหานี้อย่างมีแนวทางที่ถูกต้อง พรรคจึงยิ่งต้องสามัคคีกับประชาชนทุกหมู่เหล่าให้กว้างใหญ่ไพศาล หากการนำของพรรคยังปิดประตูคับแคบ เป็นไปในแนวทางเดิมๆ และประมาทมึนชาต่อเรื่องนี้ ย่อมยากที่พรรคจะได้รับชัยชนะ

6. ปัญหาความผิดพลาดในการยึดมั่นกับ MOU 2543 และไม่ปกป้องอธิปไตยของชาติ

เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญอันเป็นความผิดพลาดทางการเมืองที่ร้ายแรงมาก ที่พรรคไม่กล้ายอมรับความจริง และแก้ไขจนนำมาซึ่งปัญหาบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างพรรคกับประชาชนผู้รักชาติ รักความเป็นธรรม รักเกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของความเป็นไทย หวงแหนแผ่นดิน และอธิปไตยของประเทศ

การที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงกอด MOU 2543 ไว้แน่น โดยไม่อาจหาเหตุผลอธิบายให้สังคมเข้าใจถึงความจำเป็นที่รับฟังได้ ประกอบกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และจัดการปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ส่อไปในทางที่เสียเปรียบ ไร้ศักดิ์ศรี ปล่อยให้กัมพูชาก่อสงครามยิงถล่มประชาชนชาวไทย จนอพยพหนีตาย หลบภัยอยู่ในอุโมงค์อย่างน่าอับอาย ทั้งที่แสนยานุภาพทางทหารของไทยเหนือกว่ากัมพูชาหลายเท่า

การปล่อยให้กัมพูชารุกเข้ายึดดินแดนไทย บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร รวมถึงจับกุมคนไทยในดินแดนไทยไปขึ้นศาลกัมพูชา นำปัญหาข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลโลก โดยรัฐบาลไทยต้องตามแก้เกมเป็นลูกไล่ หรือฝ่ายถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว จนศาลโลกมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว สั่งให้ไทยต้องถอนทหารออกไปจากบริเวณที่พิพาทอย่างไร้ศักดิ์ศรี ล้วนแต่ทำให้พรรคเสื่อมความนิยมอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาประกอบกับการแสดงจุดยืนต่อปัญหานี้ของหัวหน้าพรรค ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่โลเลไม่ชัดเจน หรือพูดจาต่อประชาชนโดยไม่ยึดมั่นในหลักการ จนถูกกล่าวหาว่า “โกหก” ยิ่งทำให้เสื่อมเสียต่อความน่าเชื่อถือของพรรค และทำลายความเชื่อมั่นต่อผู้นำพรรคอย่างยากที่จะกอบกู้กลับคืนมาได้ หากยังยึดมั่นในแนวทางที่ผิดพลาดนี้ต่อไป (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น