xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จลาจล “อังกฤษ” ดุเดือด-ยืดเยื้อ-ลุกลาม “ความยากจน-ไม่เสมอภาค” รากเหง้าปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงฉีดน้ำดับไฟที่เผาไหม้ห้าง ร้านค้า อาคารหลายแห่ง รวมถึงรถยนต์อีกหลายคัน
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นเรื่องบานปลายไปเสียแล้วสำหรับเหตุจลาจลรุนแรงในอังกฤษ ซึ่งปะทุขึ้นโดยมีชนวนเหตุจากความโกรธแค้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิง มาร์ก ดัคแกน ชายผิวสีในย่านท็อตแนม ทางเหนือของกรุงลอนดอนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการต่อต้านการก่ออาชญากรรมด้วยปืนในชุมชนที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ เมื่อวันพฤหัสบดี (4) ซึ่งกระตุ้นให้ประชาชนราว 200 คนออกมารวมตัวกันประท้วงบริเวณสถานีตำรวจท็อตแนมในคืนวันเสาร์ (6) ที่ผ่านมา และเริ่มก่อความไม่สงบ ขว้างปาข้าวของใส่เจ้าหน้าที่ จุดไฟเผารถยนต์ วางเพลิงร้านค้าอาคาร ปล้นชิงทรัพย์ ก่อนที่ความรุนแรงดังกล่าวจะแพร่กระจายไปยังย่านอื่นๆ ของกรุงลอนดอน และลุกลามไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ของอังกฤษไม่ว่าจะเป็นเบอร์มิงแฮม ลิเวอร์พูล บริสตอล และแมนเชสเตอร์

ทั้งนี้ เหตุจลาจลที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายวันนี้ถือได้ว่าร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปี และมีผู้สังเวยชีวิตให้กับความรุนแรงครั้งนี้แล้วด้วย

ด้านรัฐบาลอังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนได้ประกาศใช้มาตรการแข็งกร้าวเพื่อควบคุมสถานการณ์ และฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ด้วยการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 16,000 นายออกลาดตระเวนตามถนนสายต่างๆ ในกรุงลอนดอน ตลอดจนการใช้เครื่องฉีดน้ำขนาดใหญ่ อันเป็นสิ่งที่อังกฤษเคยนำไปใช้ปราบปรามความไม่สงบในไอร์แลนด์เหนือ แต่ไม่เคยนำไปใช้บนเกาะอังกฤษเองเลย ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความมั่นใจในฐานะเจ้าภาพ โอลิมปิก ลอนดอน 2012 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 12 สิงหาคม ปี 2012 ว่าจะสามารถรับมือดูแลความปลอดภัยในมหกรรมกีฬาระดับโลก ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 12 เดือนข้างหน้านี้ได้ ขณะที่ประชาชนในหลายพื้นที่ก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนของตนเองจากอาละวาดปล้นชิงและเผาทำลายของกลุ่มผู้ก่อความวุ่นวายด้วยตัวของพวกเขาเอง

นับตั้งแต่คลื่นความไม่สงบก่อตัวขึ้นในกรุงลอนดอน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้มากกว่า 1,000 รายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มีฐานะยากจน ว่างงาน และมีหลากหลายเชื้อชาติ โดยในจำนวนนั้นเป็นเด็กชายอายุเพียง 11 ปี ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงรากเหง้าของเหตุการณ์ความวุ่นวายในครั้งนี้ว่ามาจากปัญหาความไม่เสมอภาคทั้งทางความมั่งคั่ง และทางโอกาส ในขณะที่อังกฤษเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็มีมากกว่าประเทศอื่นๆ

เหล่าวัยรุ่นเป็นจำนวนมากไม่มีงานทำ อดอยากยากจน ขาดโอกาส และถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ แต่กลับมีข่าวคราวการจ่ายเงินโบนัสก้อนโตให้แก่พวกนายแบงก์ ตำรวจทุจริตรับสินบน บริษัทหลายแห่งหลบเลี่ยงภาษี นักหนังสือพิมพ์ดักฟังโทรศัพท์ ส่วนสมาชิกรัฐสภาก็เบิกเงินหลวงมาใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว นอกเหนือไปจากการที่มีบ้านหรู หรือร้านค้าของราคาแพง ตั้งอยู่ในย่านเดียวกันกับชุมชนคนยากจนของพวกเขา

ความไม่เท่าเทียมในสังคมเหล่านี้ยิ่งเร่งเร้าให้วัยรุ่น ที่ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ไม่ได้รับการยอมรับ และรับฟังปัญหา ซึ่งสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อระบบ และเรียกร้องสิทธิของพวกเขาในฐานะพลเมืองของประเทศ

และสิ่งที่ต้องถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวปลุกกระแสความไม่พอใจเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็หนีไม่พ้นนโยบายรัดเข็มขัดลดการการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมพรรคคอนเซอร์เวทีฟ-ลิเบอรัล เดโมแครต ที่อ้างว่าจำเป็นต้องลดหนี้สาธารณะเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ไม่ว่าจะด้วยการตัดการบริการสาธารณะ ลดตำแหน่งงาน ตัดรัฐสวัสดิการ ขึ้นค่าเล่าเรียน ตัดทุนการศึกษา อันเป็นการทำลายชีวิต และอนาคตของเยาวชน ทั้งที่หนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของประเทศที่ขยายตัวมากขึ้นนั้นเชื่อว่า มาจากการเอางบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มธนาคาร ที่เต็มไปด้วยหนี้เสียจากการปั่นหุ้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็มองว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลชุดนี้ไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา

นอกจากนั้น ประเด็นด้านเชื้อชาติก็เป็นอีกชนวนหนึ่ง ที่จุดระเบิดความคับแค้นใจของผู้ที่กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง โดยเฉพาะในย่านท็อตแนม จุดเริ่มต้นของเหตุจลาจลร้ายแรงครั้งนี้ ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว โดยมีคนผิวสีเชื้อชาติแอฟริกัน หรือแคริบเบียนอยู่ประมาณ 1 ใน 4 และยังมีชาวอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และชนเชื้อสายเอเชียอื่นๆ รวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ความโกรธแค้นดังกล่าวน่าจะมาจากความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ที่ใช้ความยากจนเป็นตัวแบ่งแยก ตลอดจนท่าทีก้าวร้าวของตำรวจ ที่รังแกเยาวชน และคนผิวสีอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูจากประวัติความตึงเครียดทางด้านเชื้อชาติในหลายเหตุการณ์ รวมถึงความไม่สงบในครั้งนี้ก็ถูกปลุกเร้ามาจากการที่ตำรวจยิงคนผิวสีในย่านท็อตแนมเสียชีวิตเช่นกัน

สำหรับคาเมรอน ในฐานะผู้นำอังกฤษ ซึ่งต้องยอมตัดช่วงเวลาหยุดพักผ่อนฤดูร้อนกับครอบครัวในประเทศอิตาลีให้สั้นลง เพื่อกลับประเทศไปรับมือกับความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับเมืองหลวงของประเทศในรอบระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ถูกแรงกดดันจากรอบด้านรุมเร้าอย่างหนัก ทั้งจากพรรคฝ่ายซ้าย และภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขาเองว่าดำเนินการไม่แข็งกร้าวพอในการปราบปรามเหตุจลาจล รวมถึงการตัดงบประมาณตำรวจลง 20% ภายในปี 2014-2015 ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องว่างงานลงถึง 34,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม คาเมรอนก็ประกาศให้สัญญาหนักแน่นว่าจะดำเนินการ “ตีโต้กลับ” ผู้ก่อเหตุความไม่สงบอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกความสงบสุขภายในประเทศกลับคืนมาโดยเร็ว ทั้งนี้ ความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศของเขาจะถูกตัดสินจากระยะเวลาที่เหตุจลาจลเหล่านี้จะดำเนินไป ซึ่งหากความไม่สงบยังคงยืดเยื้อ เขาก็คงต้องฝ่าฟันมรสุมที่หนักหนาสาหัสกว่านี้แน่นอน
นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษแถลงข่าวหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิ่ง
ห้างร้านถูกทุบทำลาย
อาสาสมัครในกรุงลอนดอนพร้อมใจกันทำความสะอาดฟื้นฟูเมืองหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ
รถบัส 2 ชั้นถูกเผาในย่านท็อตแนม คืนแรกของเหตุจลาจลในอังกฤษ
กำลังโหลดความคิดเห็น