xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ถล่ม“ขุนค้อน-พท.” เลื่อนถก“กรอบเวลาสภา”มีเลศนัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (10ส.ค) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยวาระแรกคือ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุมเพื่อรับทราบเรื่อง พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี และพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
จากนั้นที่ประชุมได้มีการปรึกษาหารือในการกำหนดวันและเวลาการประชุมสภาฯ รวมทั้งกำหนดวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ตามมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญ
โดยนายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนขอเสนอให้มีการประชุมวันพุธเวลา 13.30 น. และวันพฤหัส 10.30 น. โดยไม่กำหนดเวลาเลิกประชุม แต่ให้ประธานเป็นผู้วินิจฉัยเวลาเลิกประชุมเอง ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้ง 35 คณะก็จะใช้เวลาช่วงเช้าเป็นเวลาประชุมของกมธ. และต่อเนื่องมาถึงช่วงเช้าวันพฤหัสได้ในบางคณะกมธ. ซึ่งจำเป็นต้องให้เวลาการประชุมของกมธ. ทั้งนี้ ในวันพุธอาจจะประชุมจนถึงเย็นหรือกลางคืนได้ ทั้งหมดต้องได้ความพร้อมเพรียงของส.ส. เพื่อให้การทำหน้าที่ 2 ส่วนของสภาฯ มาบอกองค์ประชุมมาโยนความผิดของฝ่ายที่ไม่กดบัตร ไม่แสดงตน ซึ่งหากแบ่งแล้วติดปัญหาต้องวิ่งไปวิ่งมา จะได้ไม่ต้องประชุมซ้อนกัน แบ่งเวลาให้ดีเลิกประชุมสภาฯ มืดหน่อยก็ไม่เป็นไร
นพ.วงรค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คิดว่าเราเคยปรับเวลาจากบ่ายมาเริ่มเช้าเป็ฯเก้าโมง เจตนาของประชาชนที่เลือกเรามาก้คงอยากให้มาทำหน้าที่เป็นหลัก อดีตที่ผ่านมาใครประชุมกมธ.ก็ประชุมไป และเป็นที่รับทราบว่า สภาฯ ได้มีการออกกฎหมายมาหลายฉบับ ซึ่งหากประชุม 09.00 น. เป็นต้นไป จะเป็นประสิทธิภาพสูงสุด จึงน่าจะยืนยันเริ่มประชุม 09.00 เป็นต้นไปทั้ง 2 วัน
นายบุญจง วงไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้ประชุมวันพุธ-พฤหัสบดี แต่เรื่องเวลาการประชุมขอเสนอให้เริ่มเวลา 09.00 น. ทั้ง 2 วัน โดยช่วงเริ่มประชุมเปิดโอกาสให้ส.ส.หารืออย่างเต็มที่ โดยวันพุธขอให้เลิกประชุมประมาณ 19.00 น. วันพฤหัสเลิก 17.00 น. ที่เสนอเพราะส.ส.ได้รับเงินเดือนอัตราใหม่แล้วจึงอยากให้ทำงานอย่างเต็มที่
ขณะที่นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อวาน (9 ส.ค.) ได้มีการประชุมระหว่างประธานและวิปทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีมติให้วันพุธ 10.30 น. เปิดให้มีการหารือชั่วโมงครึ่ง ส่วนกมธ.ก็ประชุมกันตอนเช้าไป พอประมาณเที่ยงกมธ.ก็จะเลิกประชุม แล้วที่ประชุมสภาฯ ก็จะเริ่มประชุมเข้าสู่ระเบียบวาระพอดี ซึ่งเป็นที่สอดคล้องกันพอดี ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติว่าในวันพฤหัสเริ่มประชุมเวลา 10.30 น. เลิกประชุม 17.30 น. ซึ่งที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจนเลิกตอนไหนก็ตอนนั้น เพื่อสมาชิกจะได้บริหารเวลาได้ และให้องค์ประชุมสมบูรณ์ แต่วันนี้ (10 ส.ค.) การที่ทั้ง 3 พรรคมาเสนอไม่ตรงกับมติที่คุยกันไว้เมื่อวานเลย สุดท้ายก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุมว่าจะลงมติอย่างไร ทั้งนี้ ตนอยากให้สมาชิกมาหารือกันอีกรอบ แล้วสัปดาห์หน้าค่อยมาประชุมกันอีกที เรายังมีเวลาเพราะรับาลยังมีเวลา 15 วันที่จะแถลงนโยบาย หรือเราจะหารือกันวันนี้ให้จบเลย
น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตที่ตนเป็นส.ส.และได้มีการประชุมสภาฯ มา เราก็เริ่มประชุมตั้งแต่เช้า พอมาช่วงหลังๆ ก็เริ่มประชุมสายมาเรื่อยๆ จนมาเริ่มประชุมในเวลา 09.00 น. พอมาวันนี้มาเสนอให้ประชุมตอนบ่ายโมง ทำไมสภาฯ ขี้เกียจ ถอยหลังไปเรื่อยๆ ทั้งที่กินเงินเดือนส.ส.แสนกว่าบาทขึ้นมาจากเดิมอีกตั้ง 9,000 กว่าบาท มาขี้เกียจทำสภาฯ ถอยหลังไปอีก ทั้งนี้ การประชุมสภาฯ ส.ส.ควรทำงานให้คุ้มค่าภาษีประชาชน ในอดีตตนเคยเสนอให้ประชุมทั้ง 5 วัน แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมีวุฒิสภาต้องใช้ห้องประชุม แต่หากสร้างสภาเป็น 2 สภาฯ แล้วควรประชุมทั้ง 5 วัน เพราะได้ไปดูงานที่ประเทศอินเดียชื่นชมกับสภาฯ ของเขาที่ประชุมทั้ง 5 วัน ถือว่าทำงานคุ้มค่าภาษี การที่เสนอให้เริ่มประชุมในเวลา 10.00 น. กว่าส.ส.จะมาครบก็เที่ยงพอดี ประชุมไม่เท่าไหร่ก็จะกลับมาอ้างว่าจะต้องลงพื้นที่
น.ส.รังสิมา กล่าวต่อว่า การประชุมกมธ.ไม่ควรประชุมวันที่มีการประชุมสภาฯ ควรประชุมวันจันทร์ วันอังคาร หรือวันศุกร์ คิดดูว่าห้องมีพอหรือไม่ เวลาเชิญคนมาก็ไม่มีที่ให้เขานั่ง การประชุมกมธ.ไม่ควรประชุมวันพุธกับวันพฤหัส แต่ส.ส.ควรมาทำหน้าที่สภาฯ ไม่ใช่วิ่งไปวิ่งมาระหว่างห้องประชุมสภาฯ กับกมธ. มาถึงก็ยกมือไม่รู้เขาพูดอะไรด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ส.ส. 1 คนก็ไม่ควรเป็นกมธ. 2 คณะ มาถึงก็มาเซ็นต์ชื่อเข้าประชุม แล้วก็มารับซอง แล้วก็ไปอีกกมธ.หนึ่ง หลังๆ ทำแบบนี้ห้องประชุมกมธ.ก็ไม่อยู่ ห้องประชุมสภาฯ ก็ไม่มา
“ดิฉันไม่อยากให้สภาถอยหลังไปเรื่อยๆ ให้ประชุม 09.00 น. เหมือนเดิม หากไม่พร้อมก็ให้ส.ส.หารือจนกว่าองค์ประชุมจะครบ การเสนอให้ประชุม 13.30 น. ดิฉันไม่เห็นด้วย หากจะใช้เสียงข้างมากก็ชนะอยู่แล้ว แต่ขี้เกียจอย่างนี้มันไม่คุ้มค่ากับภาษีที่ประชาชนเสียมา ส.ส.เงินเดือนขึ้น แต่ประชาชนเขาก็ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนด้วยเลย” น.ส.รังสิมากล่าว
ทำให้นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บรรยากาศการประชุมยังคงเป็นไปอย่างมิตรภาพ เป็นเพียงการมองต่างมุมเท่านั้น ไม่ใช่ความขัดแย้ง เมื่อวาน (9 ส.ค.) ได้ประชุมกันแล้ว แต่มาวันนี้กลับมีความเห็นต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้บรรยากาศประชุมเป็นไปด้วยดี ตนเห็นว่ายังมีเวลาที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายในอีก 15 วัน ดังนั้น การมาประชุมในสัปดาห์หน้าก็ยังไม่สาย ตนจึงขอใช้อำนาจประธานรับผิดชอบเอง ขอเลื่อนการประชุมไปเป็นวันพุธที่ 17 ส.ค. และสั่งปิดการประชุมในเวลา 11.00 น.

**ปธ.อ้างเหตุวิปแต่ละพรรคมือใหม่
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาที่ประชุมสภาฯ มีความเห็นไม่ตรงกันกับตัวแทนพรรคการเมือง ถึงกรอบเวลาการเปิด-ปิด ประชุมสภา จนเป็นเหตุให้ต้องสั่งปิดการประชุมเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจากกรณีที่วิปของแต่ละพรรคการเมืองที่ยังเป็นมือใหม่ ไม่สามารถนำความเห็นที่เป็นข้อสรุปของการประชุมกำหนดเวลาในการหารือนอกรอบ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ไปชี้แจงและอธิบายให้กับสมาชิกพรรคให้เข้าใจตรงกันได้ เบื้องต้นเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคกับการประชุมในวาระอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามตนเตรียมเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองมาหารือกรอบเวลาเปิด-ปิดประชุมนอกรอบอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวถามว่าการประชุมนอกรอบกับตัวแทนพรรคการเมือง มีการทำบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อยืนยันมติหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สภาฯ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการทำห้องประชุมอยู่แล้ว แต่เรื่องดังกล่าวเป็นในส่วนของตัวแทนแต่ละพรรค เชื่อว่าการประชุมสภาฯ ครั้งต่อไปหากไม่สามารถหารือเป็นข้อสรุปร่วมได้ ก็จะใช้มติของสภาเป็นตัวตัดสิน คือ ให้สมาชิกสภาฯ โหวตเลือก
ด้านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่รับผิดชอบเรื่องกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ กล่าวว่าจากปัญหาของที่ประชุมสภาฯ เรื่องกรอบเวลาเปิด-ปิดประชุมนั้น ทำให้ตนมีความคิดว่าจะต้องมีการจดบันทึกและข้อสรุปของที่ประชุมเพื่อทำเป็นลายลักษณ์อักษร ป้องกันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในส่วนของการจัดสรรโควต้ากรรมาธิการฯ นั้น ตนได้ให้เจ้าหน้าที่สภาออกหนังสือเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองมาหารือเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค. และให้ยึดความเห็นของตัวแทนพรรคเป็นมติของพรรคการเมืองนั้นๆ ซึ่งวันประชุมดังกล่าวจะกำหนดวิธีการเลือกประธานกรรมาธิการ ตามสูตรที่ยึดจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคเป็นหลัก

** “พท.” โวย “สมศักดิ์” สั่งเลื่อน
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ควรที่จะมีการพิจารณาและให้มีการโหวตลงคะแนนให้เสร็จสิ้นเพื่อให้เป็นที่ยุติ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นความเห็นที่ตรงกันทั้งของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า หากเริ่มประชุมในวันพุธ เวลา 13.30 น. แต่เวลาปิดประชุมให้เป็นดุลยพินิจของประธานสภาฯ และวันพฤหัสบดีเริ่มประชุมเวลา 10.00 น.แต่เวลาปิดประชุมให้เป็นดุลยพินิจของประธานสภาฯ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่องสภาล่มเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบได้ ซึ่งจะเห็นได้จากสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เริ่มประชุมสภาฯ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.แล้วสภาล่มมาโดยตลอด แต่ประธานสภาฯ กลับใช้ดุลยพินิจของประธานสภาฯ เองสั่งเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 17 ส.ค. ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยจะถูกต้องและไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก

** ปชป.ขอคำอธิบายหากเพื่อไทย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ค่อยดี ที่จริงประเด็นอย่างนี้จะต้องหาข้อยุติได้ ตนอยากขอให้รัฐบาลอธิบายถึงความจำเป็นหากต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยปฏิบัติมา
ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนของประธานสภาที่ต้องขึ้นอยู่กับมติของพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ประธานสภาคงไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะพรรครัฐบาลเสนอไม่ตรงกับข้อยุติที่ได้พูดคุยกัน ซึ่งนางรังสิมา รอดรัศมีส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้กล่าวท้วงไว้ถือเป็นเหตุผลที่น่าฟัง เพราะประชาชนจะมองได้ว่าเงินเดือน ส.ส.มากขึ้นแต่กลับทำงานน้อยลงแล้วจะตอบประชาชนอย่างไร เข้าใจว่าท่านประธานสภาคงต้องกลับไปหาข้อสรุปอีกครั้ง
เมื่อถามว่าถ้าหากประธานสภาทำเช่นนี้แสดงว่าไม่มีอำนาจในการจัดการ นายอภิสิทธ์กล่าวว่า ต้องให้โอกาสประธานสภาอีก1สัปดาห์ ซึ่งตนคิดว่าควรยึดแนวปฏิบัติที่เคยทำมาเพราะปัญหาครั้งที่แล้วคือเรื่องขององค์ประชุมไม่ใช่เวลาในการประชุม เป็นความผิดปกติการขอนับองค์ประชุมในที่ประชุม

**นพ.วรงค์โวยฝ่ายรบ.เบี้ยวข้อตกลง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า น่าจะเกิดควันหลงในความไม่ลงตัวในการจัดคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเกิดเหตุการณ์ที่ทางฝ่ายรัฐบาลเบี้ยวกันเอง และลามมาเบี้ยวกับฝ่ายค้านด้วย ทั้งที่มีการประชุมหารือนอกรอบ โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเชิญตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองเข้าร่วมหารือเมื่อ วันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้ข้อตกลงร่วมกัน แต่ปรากฏว่าในการประชุมวันนี้ทางฝ่ายรัฐบาลกลับเสนอกรอบเวลาใหม่คือ ให้มีการประชุมในเวลา 13.30 น. ทั้งที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นสอดคล้องกับมติในที่ประชุมนอกรอบ แต่อยากขยายระยะเวลาการประชุมในวันพฤหัสบดี เช่นเดียวกับวันพุธ จนถึงเวลา 19.00 น.
"อย่างไรก็ตาม จึงอยากให้ทางฝ่ายรัฐบาลไปตกลงกันให้ได้ก่อน อย่านำประเด็นความขัดแย้งจากการจัดตั้ง ครม.มาเป็นประเด็นขัดแย้งในสภา นอกจากนี้ ประธานสภาควรจะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้อภิปรายปรึกษาหารือให้มากกว่านี้ เพราะในวันแรกก็มาประชุมสาย และยังรีบปิดการประชุมทั้งที่การรับฟังข้อเสนอแนะของ ส.ส.เพื่อที่จะทำให้ไม่ต้องมีการพูดคุยกันนอกรอบอีก" นพ.วรงค์กล่าว

**ปชป.ทวิตอัด รบ. หวังยื้อตั้ง กมธ.
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ทวิตเตอร์ผ่าน @Thanitpol ว่า เรื่องเวลาประชุมสภา ตนมองควรเริ่มประชุมแต่เช้า และไปปิดช่วงเย็นจะดีที่สุด เพราะเป็นเวลาปรกติของคนทำงานทั่วไป ไม่ใช่เริ่มบ่ายแล้วปิดตอนไหนไม่รู้ ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าจะกำหนดประชุมบ่ายเพราะจะให้กรรมาธิการ(กมธ.)ได้มีโอกาสประชุมในช่วงเช้า แต่ข่าวที่ได้รับคือจะยื้อไม่ให้ตั้งกรรมาธิการได้เร็วเพราะกลัวการตรวจสอบ วันนี้ประชาชนเลือกส.ส.เข้าไป หวังให้ทำงานหนัก แต่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกลับขอทำงานน้อยเริ่มงานบ่ายโมงไปเสร็จเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้ แล้วปัญหาของประชาชนจะแก้ได้ไง

**ปธ.วิปค้านแนะตั้งกมธ.โดยเร็ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการของสภาว่า พรรคประชาธิปัตย์ อยากเห็นการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเกิดขึ้นโดยเร็วไม่ควรถ่วงเวลาให้ล่าช้า เพราะมีประเด็น ที่มีการหยิบมาพูดว่าต้องการที่ให้มีการแก้ไขข้อบังคับใหม่ และตั้งกรรมาธิการ เพราะหากเป็นเช่นนี้ จะใช้เวลา อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4 เดือนจึงจะมีข้อบังคับใหม่ เพราะอย่างข้อบังคับที่เราใช้อยู่ตั้งแต่นับหนึ่งกระบวนการ จนถึงการบังคับใช้ เวลา 4 เดือน เพราะฉะนั้นจะเท่ากับว่า 1สมัยประชุมอย่างน้อยจะไม่มีกรรมาธิการสามัญปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจะเป็นการสกัดกั้นการตรวจสอบหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่าหากมีความพยายามเช่นนั้นก็เป็นคำตอบที่ชัดเจน ตนอยากให้เร่งกระบวนการเพราะสภาฯจะได้มีกลไกในการบริหารราชการ
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเป็นเช่นนี้จะซ้ำรอยสมัยที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ นายจุรินทร์ กล่าวว่าเป็นสิ่งที่กลัวว่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะในยุคนั้นกว่าที่จะต้องกรรมาธิการสามัญได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน และคนที่ขาดทุนคือประชาชน

**ร้องรัฐยกโควตาให้ฝ่ายค้านเพิ่มอำนาจ
นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรโควตา กมธ.คณะหลักให้พรรคฝ่ายค้านเพื่อเพิ่มอำนาจการตรวจสอบของประชาชนและพิสูจน์ถึงความจริงใจของนายกรัฐมนตรี เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะทำเพื่อประเทศชาติและคนไทยทุกคน ดังนั้น เพื่อแสดงถึงความตั้งใจตามคำแถลงดังกล่าว นายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลควรจัดสรรตำแหน่งประธาน กมธ.คณะหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงสำคัญต่างๆ ให้แก่พรรคฝ่ายค้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น