ศูนย์ข่าวนครราชสีมา
การบุกรุกยึดครองพื้นที่ป่าเขา อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา คาบเกี่ยว อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นปัญหาซับซ้อนสั่งสมมานานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะช่วง 3-5 ปี หลังนี้บรรดาเศรษฐี กลุ่มนายทุน นักการเมืองใหญ่น้อย บิ๊กข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และผู้มีอิทธิพล ต่างพาเหรดเข้าไปซื้อขายที่ดินและทุ่มทุนก่อสร้างผุดรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศหรู โฮมสเตย์ และไร่สวนฟาร์มเกษตรรูปแบบต่างๆ กันเป็นดอกเห็ดกว่า 500 แห่ง รวมกว่า 10,000 ห้อง ท่ามกลางการโหมโปรโมต “วังน้ำเขียว” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักแห่งใหม่ของโคราชกันขนานใหญ่
ปฏิบัติการภาครัฐประโคมข่าวรุกเชือดกลุ่มนายทุนบุกรุกป่าวังน้ำเขียวและถูกตอบโต้จากกลุ่มผู้เสียประโยชน์อย่างดุเดือดอยู่ในขณะนี้ น่าจับตาอย่างยิ่งว่า “วังน้ำเขียว โมเดล” จะเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหา หรือ เป็นเพียงมวยล้มต้มคนดูนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้นายทุนยึดครองป่าครั้งใหญ่อย่างถูกกฎหมาย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อ.วังน้ำเขียว ทั้ง 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน ประชากร 41,636 คน (ปี 2552) นั้น มีพื้นที่ทั้งอำเภอประมาณ 7 แสนไร่ สภาพทั่วไปส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าต้นน้ำ เนินเขาสูงและที่ลาดชัน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ของ ส.ป.ก. มากที่สุด 241,018 ไร่ รองลงมาคือเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ. 2524 จำนวน 220,625 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง พ.ศ. 2516 จำนวน 193,050 ไร่ รวมทั้งเขตป่าสงวนฯ โซน C มอบให้ ส.ป.ก.เพื่ออนุรักษ์ 7,000 ไร่ - แนวเขตห้ามล่าสัตว์เขาแผงม้า 5,000 ไร่ และ พื้นที่หนังสือสำคัญของกรมที่ดิน 9, 318 ไร่
เห็นได้ว่า อ.วังน้ำเขียว เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. , อุทยานแห่งชาติ และ ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิของกรมที่ดิน มีเพียง 9,000 กว่าไร่ หรือ ประมาณ 5 % เท่านั้น และ ล้วนอยู่ในเขต ต.อุดมทรัพย์ ซึ่งเป็นตำบลเดียวที่ตั้งอยู่พื้นที่ด้านล่างภูเขา ส่วนอีก 4 ตำบลตั้งอยู่พื้นที่บนเขา ข้อมูลเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระบุว่า มีเพียงรายเดียวที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดและไม่ทราบว่าโผล่มาได้อย่างไร คือ รีสอร์ต “วังน้ำเขียววิว”
ฉะนั้นปัญหาการบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียว ที่เป็นข่าวอื้อฉาวสับสนวุ่นวายกันอยู่ในเวลานี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มปัญหาหลัก คือ การบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ. 2524 , การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง พ.ศ. 2516 และ การเปลี่ยนมือหรือใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อเกษตรกรรม
เดือดลงขันฆ่า หน.อุทยานฯ ทับลาน
ทั้ง 3 กลุ่มปัญหาดังกล่าว “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ถือเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมมากที่สุดภายใต้โครงการ “คืนผืนป่าให้แผ่นดิน” ด้วยการนำบัญชีการบุกรุก ยึดถือครอบครองเขตพื้นที่เขตอุทยานฯ เดิม ที่จับกุมดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา รวม 105 ราย แบ่งเป็นมีสิ่งปลูกสร้าง 50 ราย ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง 55 ราย รวมเนื้อที่ 4,274 ไร่ มาลงมือปฏิบัติการเชือด ล็อตใหญ่
นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน นำ ชุดเจ้าหน้าที่ลุยติดป้ายคำสั่งอุทยานแห่งชาติ ให้เจ้าของรีสอร์ต บ้านพักหรู รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามอำนาจ มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ออกจากเขตอุทยานฯ ชนิดไม่ไว้หน้าใคร แม้จะถูกกลุ่มผู้เสียประโยชน์ดิ้นรนตอบโต้ทั้งการโทรศัพท์ข่มขู่ และ มีกระแสข่าวกลุ่มนายทุนรีสอร์ต ลงขันวางแผนปองร้ายถึงขั้นเอาชีวิตหัวหน้าอุทยานฯทับลาน ลือสะพัดไปทั่วตลาดวังน้ำเขียว
ล่าสุดไล่ติดป้ายสั่งรื้อถอนไปแล้ว 2 ชุด รวม 25 ราย โดยเฉพาะชุดแรก 15 แห่ง ล้วนเป็นรายใหญ่บุกรุกยึดครองพื้นที่และมีสิ่งปลูกสร้างรีสอร์ตที่พักและบ้านพักตากอากาศหรูอยู่จำนวนมาก เช่น บ้านไร่กฤษวรรณ รีสอร์ต ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว พื้นที่ 18 ไร่ จำนวน 17 หลัง , ไร่ทองทับลาน ต.ห้วยใหญ่ อ.วังน้ำเขียว พื้นที่ 345 ไร่ จำนวน 3 หลัง , ไร่ทะเยอทะยาน ต.อุดทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว พื้นที่ 208 ไร่ จำนวน 2 หลัง ,กระทิงคันทรีวิว ต.อุดมทรัพย์ พื้นที่ 174 ไร่ จำนวน 87 หลัง ,บ้านกุลละวณิชย์ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว 79 ไร่ จำนวน 19 หลัง และ บ้านผางามรีสอร์ท ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ 38 ไร่ จำนวน 21 หลัง เป็นต้น
นักการเมือง-นายทุนปลุกม็อบต้าน
ขณะที่ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ซึ่งมีพื้นที่ใน เขต อ.วังน้ำเขียว ประมาณ 1.9 แสนไร่ กรมป่าไม้ ประเดิมตั้งเป้าเชือดรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ ฮุบป่าสงวนฯ บริเวณ “เขาแผงม้า” จำนวน 22 แห่ง เป็นล็อตแรก จากทั้งหมดข้อมูลการสำรวจในปี 2547-2548 พบ มีการบุกรุก 428 ราย จำนวน 590 แปลง รวมเนื้อที่ 6,051 ไร่
สำหรับล็อต แรก 22 ราย มีรีสอร์ตของนายทุนรายใหญ่ชื่อดังอยู่หลายแห่ง เช่น บ้านภูน้ำรินอิงเขาใหญ่ ,บ้านระเบียงดาว , บ้านบุหงาส่าหรี , รีสอร์ตภูภพดาว ,รีสอร์ตอิงกมล ,ครัวอิ่มสุข ,บ้านภูหลวง และ ภูธาราฟ้ารีสอร์ต เป็นต้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนยื่นขอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้นและแจ้งความดำเนินคดี ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
วันที่ 9 ส.ค. ชุดเฉพาะกิจปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่มี “นายเริงชัย ประยูรเวช” รองอธิบดีกรมป่าไม้เป็นประธาน จะลงพื้นที่ตั้งกองบัญชาการ อยู่ที่ สถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช ทางหลวงหมายเลข 304 กบินทร์บุรี-นครราชสีมา เพื่อดำเนินการบ้านพักและรีสอร์ต ทั้ง 22 ราย ท่ามกลางการปลุกระดมมวลชนประชาชนในพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านอย่างต่อเนื่อง
แม้แต่ “นายระพี ผ่องบุพกิจ” ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เองต้องออกมาแฉว่า กลุ่มเหล่านี้มีกลุ่มนายทุน นักการเมือง และผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือ จ้องเล่นแรงถึงขั้นปิดล้อมทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ และยกแรก ได้ระดมนำมวลชนปิดถนนสายยุทธศาสตร์ 304 ราชสีมา - กบินทร์บุรี ไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
รีสอร์ต ส.ส.ดัง ผุดในที่ ส.ป.ก. ชัดเจน
ทางด้าน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานที่ขยับตัวช้ากว่าใครเพื่อนและมีท่าทีปรองดองกับผู้บุกรุกเป็นพิเศษ จากข้อมูล ส.ป.ก.นครราชสีมา ระบุว่า ได้รับมอบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากกรมป่าไม้เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ทั้งสิ้น 241,018 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการปฏิรูปที่ดินและออกเอกสารที่ทำกิน ส.ป.ก. 4-01 มอบให้แก่เกษตรกรแล้ว 6,412 ราย รวม 139,300 ไร่
จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ผิดวัตถุประสงค์ โดยนายทุนบุกรุกสร้างรีสอร์ต บ้านพักจำนวน 25 แห่ง เช่น รีสอร์ต ภูธารฟ้า , ไร่มิตรแท้ ,ภูน้ำอิงฟ้า & รีสอร์ท ,วังน้ำเขียวลอร์ด , กระท่อมหินรีสอร์ท ,บ้านไร่ปลายตะวัน รวมทั้ง “โพธิ์คำดรากอนฮิลล์” รีสอร์ต หรู ตั้งอยู่บนยอดเขากว่า 500-600 ไร่ ของ “ปราณี เนียมสูงเนิน” ลูกสาว นายประนอม โพธิ์คำ ส.ส. นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย และเป็นภรรยา รองนายก อบจ.นครราชสีมา ที่ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็น “โกลด์เมาท์เทน วังน้ำเขียว” เป็นต้น
ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตรวจพบหลักฐานชัดเจนว่ามีรีสอร์ตเข้ามาผุดอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. แล้วจำนวน 17 แห่ง และได้ทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของรีสอร์ตทั้ง 17 ราย มาชี้แจงข้อมูล เกี่ยวกับการถือครองที่ดินภายใน 15 วัน พร้อมแจ้งไปยังเกษตรกรที่ได้รับสิทธิการถือครองที่ดิน แต่มีรีสอร์ตเข้าไปตั้งอยู่ ให้แก้ไขปรับปรุงพื้นที่ให้กลับมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ภายใน 60 วัน หากไม่ดำเนินการจะเข้าสู่การเพิกถอนสิทธิ
นักการเมือง ตัวการซื้อขายป่าวังน้ำเขียว
สาเหตุการบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียว และอุปสรรคในการแก้ปัญหา หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างได้ข้อสรุปตรงกันว่า ผู้บุกรุกยึดครองพื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นนายทุน นักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในสังคม ทำให้ยากต่อการป้องกันและแก้ปัญหา , ปัญหาความไม่ชัดเจนและทับซ้อนของแนวเขตระหว่างป่าสงวนแห่งชาติฯ , ส.ป.ก. , อุทยานฯ ทับลาน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต. ยังออกเอกสารจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ , อุทยานแห่งชาติ และ ส.ป.ก. ทำให้ เกิดการยึดถือเป็นเอกสารในการซื้อ-ขาย ทั้งที่ไม่สามารถทำได้ ตาม ม. 6 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508
“ภบท. 5” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปั่นราคาและซื้อ-ขายที่ดินวังน้ำเขียว กันอย่างมโหฬาร ของกลุ่มนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้ง ส.ส. ชื่อย่อ “ป.” , ส.อบจ. ชื่อย่อ “ช.” และ บรรดาฝ่ายบริหาร อบต. ใน อ.วังน้ำเขียว ที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน ประกอบกับความหวังจะได้รับการยกระดับเป็นพื้นที่พิเศษด้านการท่องเที่ยว ยิ่งทำให้บุกรุกซื้อขายที่ดิน อ.วังน้ำเขียว รุนแรงมากขึ้น
จับตา“เผาไทย”ปล่อยผีนายทุนฮุบป่า
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญ หลายฝ่ายต่างเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่า การแก้ปัญหาบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียว ที่ภาครัฐคาดหวังให้เป็น “วังน้ำเขียว โมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบแก้ปัญหาทั่วประเทศ นั้น สุดท้ายจะกลายเป็น “โมเดล ปล่อยผี” เปิดทางให้บรรดาเศรษฐีนายทุน และผู้มีอิทธิพล เข้ายึดครอบครองป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายครั้งใหญ่หรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการเช่า หรือ อาศัยช่อง พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาตรา 30 วรรค 5 และ ประกาศกระทรวงเกษตรฯ ข้อที่ 1.5 เกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม รวมถึงการแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
อันสอดคล้องกับข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว , นายทุนรีสอร์ต และกลุ่มม็อบวังน้ำเขียว ที่มุ่งมั่นเรียกร้องนโยบาย กำหนด อำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่พิเศษด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งยังล่ารายชื่อแก้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 , พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เตรียมผลักดันให้รัฐบาลใหม่ “เผาไทย” เสกฝันให้เป็นจริง ซึ่งถือเป็นความหวังยิ่งของกลุ่มทุนฮุบป่าอยู่ในขณะนี้ !