ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีความเห็น 4 ต่อ 1 รับรองนายจตุพร พรหมพันธุ์ ให้เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางข้อกังขาต่อคุณสมบัติของนายตุพรกรณีที่เขาถูกจำคุกด้วยคำสั่งศาลในคดีก่อการร้าย ในช่วงก่อนจะเปิดรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 19 พ.ค.54
นายสมชัย จึงประเสริฐ 1 ใน กกต.เสียงข้างมากอ้างว่า กกต.จำเป็นต้องประกาศรับรองนายจตุพร เป็น ส.ส.ตาม มาตรา 8 พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ฯ เพราะกรณีของนายจตุพรนั้นไม่ใช่การทุจริตเลือกตั้ง แต่มีปัญหาว่าขาดความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เนื่องจากนายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.
นอกจากนี้ กกต.จะต้องประกาศผลภายในกรอบเวลา 30 วัน หลังเลือกตั้ง ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อประชาชนลงประชามติเห็นชอบนายจตุพรให้เป็น ส.ส.แล้ว กกต.ก็ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แก่นายจตุพร การไม่ประกาศผลเลือกตั้งให้นายจตุพรจะเป็นการทำให้ กกต.ถูกฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ กกต.ติดคุกได้
เห็นได้ชัดว่า เหตุผลตามที่นายสมชัยยกมากล่าวอ้างนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่มุ่งจะคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา แต่เลือกที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อปัดภาระให้พ้นๆ ตัวไปเท่านั้น
ประเด็นคุณสมบัติของนายจตุพรนั้นได้สร้างแรงกดดันให้แก่ กกต.พอสมควร เนื่องจากแกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในเชิงข่มขู่ตลอดเวลาว่า หากกกต.ไม่รับรองนายจตุพรซึ่งเป็นแกนนำเสื้อแดงคนสำคัญ ก็จะออกมาเคลื่อนไหวแน่นอน ยิ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและกำลังจะได้กุมอำนาจรัฐ ก็เป็นอีกแรงกดดันอีกทางหนึ่งที่มีต่อ กกต.ชุดนี้
เห็นได้ว่า ก่อนที่จะมีการวินิจฉัยกรณีนายจตุพรนั้น นางสดศรี สัตยธรรม หนึ่งใน กกต.เสียงข้างมากได้ให้สัมภาษณ์ในทำนองว่าตนเองถูกโทรศัพท์ข่มขู่ให้รับรองนายจตุพร และได้ตอบกลับไปว่าหากมีการข่มขู่กันอย่างนี้ อาจจะทำให้ทหารออกมายึดอำนาจ ซึ่งการให้สัมภาษณ์ทำนองนี้ เหมือนกับต้องการทำให้สาธารณชนเข้าใจว่า กกต.ต้องตัดสินกรณีนายจตุพรภายใต้สถานการณ์ที่ถูกคุกคาม เพราะฉะนั้นเมื่อผลออกมาอย่างไรก็อย่ามาโทษ กกต.ก็แล้วกัน
อย่างไรก็ตาม คำพูดของนายสมชัยหลังจากมีการลงมติรับรองนายจตุพรไปแล้วนั้น เห็นได้ชัดว่าต้องการปัดสวะให้พ้นตัว เพื่อให้พ้นจากแรงกดดันที่มีเข้ามา โดยอ้างว่า ปัญหาของนายจตุพรไม่ใช่การทุจริตเลือกตั้ง เป็นแค่ปัญหาเรื่องคุณสมบัติเท่านั้น จึงเอาตัวรอดแบบง่ายๆ ด้วยการรับรองนายจตุพรไปก่อน แล้วตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้ง
หากจะมองตามข้อเท็จจริงทางกฎหมาย กกต.สามารถตัดสิทธิการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของนายจตุพรได้ทันที เนื่องจากได้ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทย เมื่อถูกคุมขังตามหมายศาลระหว่างพิจารณาคดีก่อการร้าย เมื่อวันที่ 12 พ.ค.54 ซึ่งการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องสิ้นสุดลงทันที เนื่องจากเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 20(3) ประกอบมาตรา 19 และ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ประกอบกับมาตรา 100 (3)ของรัฐธรรมนูญ
เท่ากับว่า นายจตุพรสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.54 เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ที่มีการไปยื่นในวันที่ 19 พ.ค.ได้ ซึ่งในการวินิจฉัยเรื่องนี้ กกต.ไม่จำเป็นต้องไปสอบถามพรรคเพื่อไทย หรือนายจตุพรว่ายังเป็นสมาชิกพรรคอยู่หรือไม่ เพราะ กกต.สามารถใช้อำนาจวินิจฉัยเองได้ และหากเป็นกรณีที่ถือได้ว่าพรรครู้ข้อเท็จจริงนั้นแล้ว แต่ยังยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคของนายจตุพรอยู่ พรรคอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ได้
นอกจากนี้ ไม่ว่าข้อบังคับพรรคจะกำหนดไว้อย่างไรหรือยืนยันอย่างไร ก็จะขัดต่อกฎหมายไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่านายจตุพรจะได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป เพราะนายจตุพรได้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.แล้ว และไม่ได้มีการไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยใหม่ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการถูกคุมขังมาโดยตลอด
ข้ออ้างของนายสมชัยที่ว่า ต้องรับรองผลการเลือกตั้งภายในกรอบ 30 วัน และเมื่อประชาชนเลือกนายจตุพรมาแล้วก็ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น เพราะกรณีนี้ข้อเท็จจริงชัดเจนอยู่แล้ว กกต.สามารถประกาศไม่รับนายจตุพรได้ และนายจตุพรก็เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกนายจตุพรโดยตรง แต่เลือกพรรค ซึ่งหากนายจตุพรถูกตัดสิทธิ์ ก็สามารถเลื่อนผู้สมัครในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้
ส่วนข้ออ้างที่ว่า หากไม่รับรองนายจตุพร ก็จะทำให้ กกต.ถูกฟ้องในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย เพราะ กกต.มีอำนาจเต็มที่ที่จะรับรองหรือไม่รับรองก็ได้ ตรงกันข้าม การประกาศรับรองนายจตุพรโดยข้อแย้งกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่างหาก ที่จะทำให้ กกต.ถูกดำเนินคดีในข้อหาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็มีกลุ่มของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ที่ประกาศจะฟ้อง กกต.ในประเด็นนี้ไว้แล้ว ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้เตรียมฟ้องต่อศาลอาญากรณีที่ กกต.ทำให้ประชาชนเสียสิทธิเลือกตั้งกว่า 2 ล้านคนไว้แล้ว
นี่เป็นการปัดภาระอย่างมักง่ายอีกครั้งของ กกต.ชุดปัจจุบัน หลังจากที่เคยปล่อยผีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ให้ได้เป็น ส.ส.ก่อน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ทั้งที่มีหลักฐานการซื้อเสียงอย่างชัดเจน แม้จะมีการลงมติสอยนายยงยุทธภายหลัง แต่การที่นายยงยุทธ ได้เข้าไปเป็นประธานรัฐสภา และเป็นคนทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลนอมินีของทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาได้ ก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาลก่อนแล้ว
ต้องจับตาว่า หลังจากนี้นายจตุพร ที่ กกต.ชุดนี้ปล่อยให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา จะสร้างความเสียหายอย่างไรต่อบ้านเมืองหรือไม่ เพราะกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา คงต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบทำความเห็นเสนอเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองให้ความเห็นก่อน หากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่านายจตุพรขาดความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กกต.จะต้องส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายจตุพรต่อไป
แต่ที่แน่ๆ หลักนิติธรรมของบ้านเมือง ได้ถูก กกต.ชุดนี้ทำให้ไร้ค่าไปเสียแล้ว และ กกต.เองต้องเตรียมตัวรับชะตากรรมที่จะต้องถูกดำเนินคดีจนอาจต้องเข้าคุกซ้ำรอย กกต.ชุด “3 หนา”เมื่อปี 2549