xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “จตุพร” ยังมีคุณสมบัติพอที่จะเป็น ส.ส.หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นหนังสือให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของนายจตุพร(5ก.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

กรณี “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง เพราะถูกคุมขังอยู่ในคุก หลังถูกถอนประกันในคดีก่อการร้าย ไม่เพียงทำให้ผู้คนสงสัยไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่านายจตุพรหมดสิทธิที่จะเป็น ส.ส.แล้วหรือยัง แต่ยังทำให้ “กกต.” เกิดอาการกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะประกาศรับรองให้นายจตุพรเป็น ส.ส.ดีหรือไม่ อย่าว่าแต่ กกต.เลย แม้แต่ “นักกฎหมาย” หลายสำนักยังมองกรณีนี้แตกต่างกัน

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

กลายเป็นปัญหาขึ้นมาทันทีเมื่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 8 พรรคเพื่อไทย อยู่ในข่ายได้รับเลือกเป็น ส.ส.ด้วยหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. คำถามตามมาทันทีว่า นายจตุพรซึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากถูกศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้าย รวมทั้งไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. จะสามารถเป็น ส.ส.ได้หรือไม่ ถือว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ไปแล้วหรือไม่

ซึ่งหลายฝ่ายมองประเด็นนี้แตกต่างกันไป เช่น แกนนำเสื้อแดงมองว่า นายจตุพรไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะการถูกคุมขังของนายจตุพรเป็นการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่ถือเป็นนักโทษเพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ส่วนเหตุที่นายจตุพรไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เจตนา แต่เป็นเพราะศาลไม่ยอมปล่อยตัวชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายฝ่ายที่เห็นว่า นายจตุพรไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้ เพราะขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ไปแล้ว เช่น นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ที่ชี้ว่า ก่อนจะมีการสมัครรับเลือกตั้ง นายจตุพรได้ถูกศาลสั่งถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้าย และถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. แม้นายจตุพรจะพยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น การถูกคุมขังย่อมส่งผลให้นายจตุพรเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. ตามมาตรา 100 (3) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รวมทั้งทำให้นายจตุพรขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในทันทีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 20 เพราะไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ นพ.ตุลย์ได้เข้ายื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาข้อกฎหมายและคุณสมบัติของนายจตุพรให้รอบคอบก่อนตัดสินใจว่าจะประกาศรับรองนายจตุพรเป็น ส.ส.หรือไม่

ขณะที่ท่าทีของ กกต.ที่ปรากฏต่อสังคม ค่อนข้างสับสน-กลับไปกลับมา โดยตอนแรก นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ออกมาส่งสัญญาณทำนองว่า กกต.จะประกาศรับรองผลการเป็น ส.ส.ของนายจตุพรไปก่อน แล้วค่อยส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ นางสดศรียังออกตัวว่า แม้ กกต.จะเห็นด้วยกับฝ่ายกฎหมายของ กกต.ที่ระบุว่า นายจตุพรพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(3) และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ กกต.หรือศาลฎีกาในการเพิกถอนสิทธิการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด

ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้ออกมายืนยันว่า กกต.ยังไม่ได้พิจารณากรณีนายจตุพรแต่อย่างใด โดยจะมีการประชุมหารือในวันที่ 12 ก.ค.นี้ และว่า การประกาศรับรองผลเลือกตั้งล็อตแรกในวันที่ 12 ก.ค.คงประกาศได้แค่ร้อยละ 95 ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกร้องคัดค้านเข้ามา ซึ่งมีจำนวน 50 คน

ขณะที่สังคมยังไม่ได้คำตอบ และ กกต.ก็ไม่กล้าฟันธงว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ ลองมาฟังมุมมองของนักกฎหมายดูว่า มองกรณีนายจตุพรอย่างไร

อ.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.แล้ว เพราะถูกคุมขังโดยหมายของศาล ทำให้ขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เมื่อขาดจากสมาชิกพรรคการเมือง ก็ไม่สามารถเป็นผู้สมัคร ส.ส.ได้

“ขาดครับ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มันมีวรรคหนึ่ง ผู้ที่ต้องหมายศาลโดยคำสั่งของศาล หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถจะมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เพราะฉะนั้น เขาก็เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ มันขาดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เมื่อเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ ก็มาอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ มันต้องย้อนไป (ถาม-บางคนบอกว่า เขาไม่ได้เจตนาไม่ไปใช้สิทธิ?) ไม่ไปใช้สิทธิ มันเป็นผลตามมา แต่เอาเริ่มต้นก่อน เริ่มต้นว่า เขาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ไหม ขาดคุณสมบัติมั้ย มันขาด ตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แม้แต่ระเบียบของพรรคนั้นเอง เขาอ้างมาตรานี้ในมาตรา 100 กว่าๆ เนี่ยเอาไปใช้ เมื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ แม้จะมีชื่อว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและรวมอยู่ ในระบบบัญชีรายชื่อ มันก็ไม่สามารถที่จะได้รับการเลือกตั้งได้”

ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ เห็นต่าง โดยมองว่านายจตุพรยังไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เพราะการติดคุกโดยคำสั่งของศาลในกรณีนี้ เป็นคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด

“ในความเห็นผมเนี่ยไม่ขาด เพราะขณะที่วันที่เขาสมัคร คุณสมบัติเขามี แต่ต่อมาเขาถูกศาลถอนประกัน เขาต้องติดคุกโดยคำสั่งของศาล แต่คำสั่งของศาลยังไม่ถึงที่สุดว่าเขาผิดหรือไม่ผิด กฎหมายบอกว่าตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเยี่ยงผู้กระทำความผิดมิได้ เหตุที่เขาไม่ไปลงคะแนน ก็เพราะถูกคุมขังอยู่ มีเหตุอันอ้างได้ตามกฎหมาย เหมือนกับว่าเราไม่ไปลงคะแนน เพราะเราเดินทางไปต่างประเทศหรือเราติดภารกิจอะไร สิทธิของเราก็ไม่เสียไป ดังนั้นก็ยังมีความเห็นว่าจตุพรเขาก็มีสิทธิ (ถาม-แม้จะถูกคุมขังโดยหมายของศาล แต่คุณสุวัตรมองว่าคดียังไม่ถึงที่สุด?) ถูกต้อง เพราะมันเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกากรณีสมัคร สุนทรเวช และเนวิน ชิดชอบ ตอนนั้นศาลวางหลักไว้ว่า คำว่าจำคุก ต้องจำจริง ตอนนั้นถูกรอลงอาญา 2 คน ก็ไม่ได้จำคุกจริง จึงไม่ขาดคุณสมบัติที่มาเป็นรัฐมนตรี”

ขณะที่ รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า กรณีของนายจตุพร มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ 1.ถูกคุมขังโดยหมายของศาล 2.ไม่ได้ไปเลือกตั้ง ซึ่งผลจากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ส่วนการถูกคุมขังโดยหมายของศาลนั้น จริงๆ แล้วน่าจะหมายถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่กรณีของนายจตุพรเป็นการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม อ.ทวีเกียรติบอกว่า ต้องดูต้นเหตุด้วยว่าทำไมนายจตุพรจึงถูกคุมขัง เพราะนายจตุพรทำผิดเอง จึงต้องถูกหมายขังเป็นธรรมดา

“ใจผมน่ะคิดอย่างนั้นนะ ทีนี้บางคนอาจจะตะแบงไป เอ๊ะ! เขายังบริสุทธิ์ แต่ในกรณีที่ถูกหมายขังชั่วคราว อาจารย์ว่าเข้าไง เพราะคุณทำผิดเองน่ะ และเป็นการตัดสิทธิเท่านั้นเอง ตัดสิทธิที่คุณทำไม่ถูกต้องน่ะ คือหลักในเรื่องเลือกตั้ง คุณต้องประพฤติตัวดีน่ะ ต้องระวัง ไม่ใช่ทำอะไรเกะกะจนต้องถูกหมายขัง อันนี้มองตามเนื้อหาตามกฎหมาย แต่ถ้าในแง่การกลั่นแกล้งหรือมองภาพรวม ก็เป็นไปได้ว่าถ้าเจอศาลไม่ดีก็กลั่นแกล้งได้ คราวก่อนคุณปล่อย คราวนี้ใกล้ๆ เลือกตั้งปุ๊บ คุณยกเลิกประกัน มันก็มีทางได้รับความไม่เป็นธรรมได้ แต่ถ้าเกิดตีความว่า ถูกหมายขังชั่วคราว ก็ยังมีสิทธิได้เนี่ย อันนี้อาจารย์ว่าไม่ถูก เพราะชั่งน้ำหนักดูแล้วคิดว่าตัดสิทธิจะดีกว่า”

ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มองว่า นายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.แล้ว เพราะนายจตุพรถูกคุมขังโดยหมายของศาลตั้งแต่ก่อนเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงถือว่าถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้นับแต่นั้น

“การถูกขังโดยหมายของศาล หรือหมายที่ชอบด้วยกฎหมายเนี่ย มันทำให้ไม่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อไม่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มันต้องห้ามสมัครด้วย ไม่รู้ล่ะว่าได้เป็นผู้สมัครโดยอะไร แต่ถ้าเกิดมาย้อนดูตรงนี้เนี่ย สถานะเหล่านี้มันเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ถ้าเกิดมันเกิดขึ้นก่อนเนี่ย มันก็เท่ากับว่ามันไม่สามารถที่จะเลือกตั้งได้ ก็แปลว่าก็ไม่สามารถเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็น ส.ส.ไม่ได้ด้วย แต่มันต้องไปดูวันตรงนี้ วันที่จำคุก คือผมไม่ได้มานั่งจำนะว่าวันที่จำขังวันอะไร เท่าที่ผมจำได้เนี่ย เขาต้องหมายก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง คือต้องหมายก่อนสมัคร (ถาม-อ.มองว่าถ้าต้องหมายก่อนสมัครไม่ได้?) ถ้าก่อนไม่ได้ ถ้าหลังอาจจะได้ สมมติถ้าตอนเป็น( ส.ส.) เขาขาดคุณสมบัติ ก็เท่ากับว่าก็เลือกคนอื่นขึ้นมาแทน เพราะเขาอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ถูกมั้ย ถ้าเกิดเป็นรายเขต ก็เลือกใหม่ หรือไม่ก็เลื่อนคนที่ได้ที่ 2 ขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าเขาขาดคุณสมบัติตั้งแต่ก่อนสมัคร ก็เท่ากับว่าไม่สามารถเป็นผู้สมัครได้ พอไม่สามารถเป็นผู้สมัครได้ ก็ไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้ แต่ถ้าเป็นผู้สมัครได้ เราก็ต้องมาดูที่เขาเป็น ส.ส.ว่า เขาขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส.หรือเปล่า”

งานนี้ต้องติดตามว่า กกต.จะตัดสินใจอย่างไร จะกล้าประกาศรับรองให้นายจตุพรเป็น ส.ส.หรือไม่ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ขู่ไว้แล้วว่า ถ้า กกต.ประกาศรับรองนายจตุพรเมื่อไหร่ จะฟ้อง กกต.ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ!!
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เดินทางไปเยี่ยมนายจตุพรที่เรือนจำ(7 ก.ค.)
แม้จะถูกคุมขังอยู่ในคุก แต่นายจตุพรยังต้องถูกนำตัวขึ้นศาลในหลายคดี
นายจตุพร  กับบทบาทแกนนำ นปช.ที่มีการกล่าวปราศรัยข้อความที่อาจเข้าข่ายจาบจ้วงสถาบันจนถูกเพิกถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น