xs
xsm
sm
md
lg

"ไอ้ตู่"วืดไปเลือกตั้ง หมดสิทธิ์ใช้ส.ส.คุ้มหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ผู้ก่อการร้าย "จตุพร" อดไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 3 ก.ค. ศาลชี้ชัดไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้องขอปล่อยตัวไปเลือกตั้ง ทนายความเตรียมยื่นเรื่องให้กกต. พิจารณา พร้อมขอประกันตัวต่อ "สดศรี"ระบุหากศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวไปเลือกตั้ง จะทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.ตามกฎหมายกำหนด ส่วนกกต.ที่้เหลือยังไม่กล้าฟันธง

วานนี้ (28 มิ.ย.) เวลา 10.00 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร จำเลยที่ 2 คดีร่วมกันก่อการร้าย ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 8 พรรคเพื่อไทย เพื่อออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น.ที่หน่วยเลือกตั้ง 28 โรงเรียนสุเหร่าดอนสะแก ซ.ลาดพร้าว 96 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม.

คำร้องระบุว่า จำเลยที่ 2 ขอความเมตตาและความเป็นธรรมจากศาล ขออนุญาตประกันตัวเพียง 1 วันในวันที่ 3 ก.ค.2554 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. เพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อใช้สิทธิเสร็จแล้วจะกลับมามอบตัวต่อศาล หรือเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในเวลา 15.00 น. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 40 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะมีบทบัญญัติให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณามีคำสั่งเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศย่อมมีศักดิ์หรือฐานะยิ่งกว่ากฎหมายอื่น ขณะที่การมีคำสั่งอนุญาตก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม แต่ยังทำให้เห็นถึงความยุติธรรมที่สูงส่ง ซึ่งสาธารณชนจะเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าศาลได้ใช้ดุลยพินิจที่ให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ขณะเดียวกันหากศาลจะไม่อนุญาต สาธารณชนอาจมองทางตรงข้ามว่าจำเลย ถูกสกัดกั้นทางการเมือง ซึ่งจำเลยหลายคนในคดีนี้ศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว และยังมีแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ผู้ต้องหาคดีอาญาเช่นเดียวกับจำเลยก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

นายวิญญัติกล่าวว่า นายจตุพรเป็นผู้สมัคร ส.ส. จึงมีความจำเป็นที่จะออกไปใช้สิทธิ หากไม่ออกไปใช้สิทธิก็จะทำให้เสียสิทธิของผู้สมัคร แม้ว่านายจตุพรจะถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นนักโทษ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด จึงเป็นเพียงการควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีเท่านั้น ย่อมได้รับการคุ้มครอง ซึ่งก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะปฏิบัติเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ ดังนั้น จึงมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 (7) แต่หากไม่ได้รับการปล่อยตัว ทนายความก็จะยื่นคำร้องอีกครั้ง ซึ่งศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ถือเป็นดุลพินิจของศาล

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ทั้งศาลอาญา และศาลอุทธรณ์ เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว และกรณีตามคำร้องก็เป็นเพียงความเห็น จึงยังไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

นายวิญญัติกล่าวภายหลังอีกว่า จะต้องยื่นคำร้องชี้แจงเหตุให้กกต.ทราบว่า การเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. นายจตุพร ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้เพราะเหตุใด เพื่อป้องกันการกระทบสิทธิรับสมัครส.ส.ในภายหลังของนายจตุพร ซึ่งตามกฎหมายก็ให้สิทธิไว้ว่า สามารถยื่นแจ้งเหตุให้กกต.ทราบก่อนและหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ส่วนเรื่องการขอปล่อยชั่วคราว ทนายความก็ยังจะเดินหน้ายื่นเรื่องต่อไป

**"สดศรี"ชี้ขาดคุณสมบัติวืดเป็นส.ส.**

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า หากนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้ นายจตุพร มีปัญหาแน่นอน หากไม่ไปใช้สิทธิ เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมาย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า กกต.จะต้องพิจารณาไม่ประกาศรับรองให้นายจตุพร เป็น ส.ส. เพราะหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ทันทีที่นายจตุพร ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ทันทีเช่นกัน

"เรื่องนี้เป็นเรื่องของการขาดคุณสมบัติ มิใช่การกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องการแจกใบเหลือง ใบแดง หรือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง"นางสดศรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากนายจตุพรไม่เห็นด้วย ก็คงต้องยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อให้พิจารณา เพราะเรื่องนี้ถือเป็นกรณีใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งในอดีตเคยเกือบจะเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมาในกรณีของนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำนปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งขณะนั้นก็ถูกคุมขังอยู่ ซึ่งศาลปล่อยตัวออกมาสมัคร แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ออกมาลงคะแนน แต่ในครั้งนั้นนายก่อแก้ว ไม่ได้รับเลือกตั้ง กกต.เลยไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ไว้เป็นบรรทัดฐาน

ส่วนกรณีที่นายจตุพรอาจจะทำหนังสือแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่จะเป็นเหตุผลที่รับรับฟังหรือเข้าต่อข้อกฎหมายหรือไม่ ก็คงต้องพิจารณากันอีกครั้ง และอาจจะต้องยื่นต่อศาลเพื่อให้เป็นผู้พิจารณา แต่กกต. คงจะพิจารณาประกาศไม่รับรองให้เป็น ส.ส.ไปก่อน

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีดังกล่าวรัฐธรรมนูญมาตรา 100 กำหนดว่า ผู้ที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาล หรือคำสั่งที่ชอบโดยกฎหมาย เป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะที่มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง กำหนดว่าผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องเสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งทำให้นายจตุพรจำต้องขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครไปโดยปริยายและไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้

**กกต.ไม่กล้าฟังธง

นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีของนายจตุพร ว่า ในทางปกติ ผู้ต้องขังในวันเลือกตั้ง เป็นผู้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่มีข้อร้องเรียน หรือข้อสงสัยในคุณสมบัติของส.ส. กกต.มีเวลาอีก 30 วันหลังจากวันเลือกตั้ง ที่จะพิจารณาคุณสมบัติของส.ส. ก่อนที่จะประกาศผลการเลือกตั้ง โดยในกรณีนี้จะต้องพิจาณากันอีกหลายทาง เนื่องจากมีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ ตนจึงยังไม่ฟันธงลงไปว่ากรณีนี้จะตัดสินออกมาอย่างไร เพราะจะต้องผ่านการพิจารณาในการประชุมกกต.เสียก่อน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า การเพิกถอนสิทธิ์ต้องดูตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังถือว่านายจตุพรยังคงเป็นผู้สมัคร ถึงแม้จะถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ระหว่างถูกคุมขังนายจตุพรก็เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่ตนก็ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่านายจตุพรเข้าข่ายคุณสมบัติการเป็นส.ส.หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกต.ทั้ง 5คน ว่ามีมติประกาศให้เป็นส.ส.หรือไม่

**ประกาศให้เป็นส.ส.ก่อนส่งเชือด

แหล่งข่าวจากกกต. กล่าวว่า ถึงแม้กกต.จะประกาศให้นายจตุพรได้เป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 8 เพราะการสมัครเป็นผู้สมัครในส่วนของบัญชีรายชื่อไม่จำเป็นต้องมาด้วยตัวเอง ซึ่งไม่เหมือนกับการสมัครเป็นผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ ต้องรอดูในวันที่ 3 ก.ค. ว่านายจตุพร ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ และกกต.จะประกาศให้เป็นส.ส.หรือไม่ ซึ่งในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. หากนายจตุพร ได้เป็น.ส.ส.ตามมาตรา 105 ที่ระบุว่า สมาชิกภาพของสมาชิกภาพผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสิ้นสุดความเป็นส.ส.ด้วยตามมาตรา 19 ประกอบ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุว่า ผู้จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น กรณีนี้ ก็จะต้องเข้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 100 ระบุไว้ว่า ในวันเลือกตั้งบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งนายจตุพร ที่ถูกคุมขังโดยคำสั่งของศาลจะเข้าอยู่ใน (3) ที่เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากต้องคุมขังโดยหมายศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อนายจตุพร ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง จึงเป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับมาตรา 8 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ด้วยพรรคการเมือง นายจตุพร จึงไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ระบุการสิ้นสุดของสมาชิกภาพส.ส. กรณีของนี้ ที่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 101 (3) ที่ส.ส.จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง นายจตุพรจึงสิ้นสุดการเป็นส.ส.

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับกกต.ว่า หลังเลือกตั้งแล้วพรรคเพื่อไทยได้คะแนนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อถึงลำดับที่นายจตุพรได้เป็นส.ส.หรือไม่ หากคะแนนของพรรคเพื่อไทยได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อถึงลำดับที่นายจตุพรได้เป็น ส.ส. กกต.จะพิจารณาว่าจะประกาศให้นายจตุพรเป็นส.ส.หรือไม่ หรืออาจต้องประกาศให้เป็นส.ส.ไปก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาเรื่องการขาดสมาชิกภาพที่หลังจากที่กกต.มีมติ และส่งเรื่องให้กับประธานรัฐสภาดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้พ้นจากเป็นสมาชิกภาพส.ส.
กำลังโหลดความคิดเห็น