xs
xsm
sm
md
lg

แผงหมูหยุดขาย5วันหาดใหญ่ป่วนราคาพุ่ง160บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- แผงขายหมูใน อ.หาดใหญ่กว่า 200 แผง พร้อมใจหยุดขายเนื้อหมู 5 วัน ประท้วงฟาร์มที่ขึ้นราคาหมูจากราคาเดิมก.ก.ละ 60 บาท พุ่งเป็น 86 บาท นายกส.ผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้เผย เขียงหมูหาดใหญ่ปิดไม่กระทบผู้เลี้ยงในภาพรวม แต่กระทบผู้เลี้ยงรายย่อยซึ่งป้อนวัตถุดิบเข้าตลาด คาดจะมีหมูหายจากระบบราว 500 ตัว/วัน พาณิชย์ ชงกกร. คุมเพดานราคาสูงสุดหมูเป็นหน้าฟาร์มห้ามขายเกินโลละ 80 บาท หมูชำแหละโลละ 160 บาท

วานนี้ (3 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดสดพลาซ่า 3 เทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นตลาดที่มีแผงขายเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดของหาดใหญ่ มีแผงขายหมูกว่า 40 แผง ได้นัดกันหยุดขายเนื้อหมู วันที่ 3 - 7 ส.ค.นี้ รวมเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากราคาเนื้อหมูที่ปรับขึ้นต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์ จากราคาเดิมอยู่ที่ 130 กว่าบาทต่อกิโลกรัม(กก.) ขึ้นมาอยู่ที่ 150 - 160 บาทต่อกก. ส่งผลกระทบต่อแผงขายหมูและผู้บริโภคเนื้อหมูเป็นอย่างมาก

พ่อค้าแผงขายหมูรายหนึ่งในตลาดสดพลาซ่า 3 กล่าวว่า เดิมราคาหมูเป็นจากฟาร์ม ที่ยังไม่ได้ชำแหละอยู่ที่ 60 บาทต่อกก. และราคาเนื้อหมูชำแหละอยู่ที่ 130 บาทต่อกก. แต่ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาหมูจากฟาร์มปรับขึ้นทุกสัปดาห์ จนล่าสุดราคาหมูเป็นที่ยังไม่ได้ชำแหละสูงขึ้นมาถึง 86 บาทต่อกก. ส่วนราคาเนื้อหมูชำแหละอยู่ที่ 150 - 160 บาทต่อกก. ทำให้ลูกค้าประจำที่มาซื้อหมูเริ่มมีเสียงสะท้อนออกมาถึงราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้น

"แผงขายหมูอย่างพวกผม เมื่อราคาหมูแพงขึ้นก็ต้องปรับราคาตาม หากไม่ปรับราคาตามก็จะต้องขาดทุน เมื่อเป็นเช่นนี้ทางกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าแผงหมูในหาดใหญ่จึงได้รวมตัวกัน เพื่อที่จะหยุดขายหมูเป็นเวลา 5 วัน เพื่อเรียกร้องให้ทางฟาร์มหยุดราคาเนื้อหมูไม่ให้สูงขึ้นไปกว่านี้ เพราะหากราคายังสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แผงหมูก็เดือดร้อน ลูกค้าที่มาซื้อเนื้อหมูก็เดือดร้อน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผงขายหมูในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีอยู่กว่า 200 แผง จากตลาดสดจำนวน 10 แห่ง ทั้งของเทศบาลและเอกชน ซึ่งแผงขายหมูทั้งหมดได้ร่วมกันลงรายชื่อหยุดขายเป็นเวลา 5 วัน เพื่อเรียกร้องทางฟาร์มหยุดการขึ้นราคาเนื้อหมู

ปิดเขียงหมูกระทบผู้เลี้ยงรายย่อย

นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า การประท้วงดังกล่าวจะทำให้หมูหายไปจากตลาดหาดใหญ่วันละ 400-500 ตัวหรือ 4,500 กก. ซึ่งส่วนมากจะรับมาจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในพื้นที่ บางส่วนส่งมาจาก จ.พัทลุง และภาคกลาง แต่ในพื้นที่อื่นของภาคใต้ยังไม่มีการหยุดประท้วงเช่นนี้ และผู้เลี้ยงหมูของสมาคมฯยังไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจเขียงหมูถือว่ายังมีความเสี่ยงน้อย ซื้อมาขายไปในราคาที่แล้วแต่คุณภาพ โดยปกติสามารถทำกำไรได้ตัวละ 1,000 บาท ไม่เหมือนกลุ่มผู้เลี้ยงที่ต้องแบกภาระต้นทุนในการเลี้ยง และความเสี่ยงในโรคระบาด ระยะหลังเกิดโรคระบาดภาคกลางจึงป้อนหมูลงในพื้นที่น้อยลง จึงต้องหาสุกรในพื้นที่แทน ซึ่งยังประสบปัญหาด้านคุณภาพของสุกร แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าในช่วงนี้ผู้ขายเนื้อสุกรได้กำไรลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้จะสะท้อนให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องให้ความสำคัญกับการดูแลต้นทุนและราคาซื้อขายเนื้อหมูทั้งระบบเพื่อไม่ให้กระทบกับทุกฝ่าย

ด้านสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์พัทลุง ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า แนวโน้มวัตถุดิบในการเลี้ยงสุกรปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อพ่อค้าคนกลางที่จะนำสุกรไปชำแหละเพื่อให้เขียงหมูรายย่อยจำหน่าย ส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายปลีกเนื้อสุกรในหาดใหญ่ไม่ได้เป็นผู้เลี้ยงเอง จึงอาจจะมีต้นทุนที่สูงกว่าผู้จำหน่ายปลีกเนื้อสุกรในพื้นที่อื่น ซึ่งเป็นทั้งผู้เลี้ยงและจำหน่ายปลีกในตลาด

ผู้เลี้ยงหมูเหนือ-อีสาน อิงกลไกตลาด

นายวรพจน์ สัจจาวัฒนา นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยกำลังประสบปัญหาโรคระบาดหลายโรค ช่วงนี้ยังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนฤดูกาล ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ซ้ำเติมให้สุกรอ่อนแอเข้าไปอีก ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงและการผลิตหมูเป็นเพิ่มขึ้นราว 25% หากรวมภาระค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ปลายข้าวที่ขยับตัวสูงขึ้นจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลใหม่ด้วย

"สิ่งที่เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐช่วย คือ การปล่อยราคาเนื้อหมูให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งความต้องการซื้อและปริมาณผลผลิตที่มีจะเป็นตัวควบคุมราคาเอง เมื่อผู้ผลิตเห็นว่าตลาดสามารถแข่งขันได้อย่างเสรี ก็จะกล้าลงทุนเลี้ยงหมูส่งผลให้ปริมาณหมูมากขึ้น ระดับราคาก็จะปรับลดลงเองโดยอัตโนมัติ " นายวรพจน์กล่าว

ด้าน นายสุนทราพร สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ให้ความเห็นว่า กลไกตลาดจะช่วยคลี่คลายปัญหาราคาสุกรได้ และที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เนื้อสุกรมีราคาแพงที่กิโลกรัมละ 150-160 บาทนั้น ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทราบดีว่าชิ้นส่วนของสุกรไม่ได้ขายในราคาดังกล่าวได้ทั้งหมด เช่น สุกรขุนหนึ่งตัวน้ำหนักประมาณ 100 กก. เมื่อถูกชำแหละและนำเอาเลือด ขน อวัยวะภายใน และส่วนที่อยู่ในทางเดินอาหารออกแล้วจะได้ซากสุกรที่ขายได้จริงเพียง 75 กก. และมีส่วนของเนื้อที่ขายได้ในราคาดังกล่าวอยู่เพียงประมาณ 42 กก.เท่านั้น

พณ.เตรียมสั่งห้ามส่งออกหมูชั่วคราว

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์(พณ.) เป็นประธาน วันที่ 5 ส.ค.นี้ กรมฯ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติให้ใช้มาตรการคุมราคาเพดานสูงสุดจำหน่ายสุกรมีชีวิตและสุกรชำแหละ เพื่อลดปัญหาการฉวยโอกาสปรับราคาและลดความเดือดร้อนให้ประชาชน หลังจากพบว่า กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรยังละเมิดกฎหมาย ขายสุกรมีชีวิตและเนื้อหมูเกินราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต่อไปหากยังฝ่าฝืนขายเกินราคาเพดานที่กำหนดจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ การใช้มาตรการควบคุมเพดานราคาสูงสุดจะเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่นำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้กับสินค้าเนื้อหมู หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยเกิดปัญหาเดียวกันในช่วงที่หมูเกิดโรคระบาดเมื่อ 30 ปีก่อน จึงได้ควบคุมราคาไว้ที่กก.ละ 36 บาท แต่มาตรการที่ใช้จะเป็นระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน เพราะรอบการเติบโตของหมูจะอยู่ 5-6 เดือนจะพอดีกับปริมาณหมูรอบใหม่ออกสู่ตลาดและมีความเพียงพอจนราคาอ่อนตัวลง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 ส.ค. จะหารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาโครงสร้างราคาหมูที่เหมาะสม โดยจะพิจารณาขยับราคาสุกรมีชีวิตจากราคากำหนดไว้ไม่เกิน 79 บาท เป็น 80 บาท เพื่อให้ราคาหมูชำแหละขายไม่เกินกก.ละ 160 บาท จากปัจจุบันไม่เกิน 150 บาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมการค้าภายในกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของมาตรการห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาความตึงตัวจากผลผลิตหมูเป็นลดลง จากปัญหาโรคระบาดทำให้ผลผลิตเสียหายกว่า 25-30% หากผลการศึกษาเสร็จสิ้น จะนำเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจ

สำหรับราคาขายปลีกเนื้อหมูในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามการสำรวจของกรมการค้าภายในล่าสุดวันที่ 2 ส.ค. พบว่าราคาหมูเนื้อแดง (สะโพก) อยู่ที่กก. 150-160 บาท หมูเนื้อแดง (ไหล่) กก. 145-160 บาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าราคาเนื้อวัว (ธรรมดา) อยู่ที่กก.ละ 130-135 บาท เนื้อวัว (สันนอก/สะโพก) กก. 140-150 บาท และสูงกว่าราคาแนะนำที่กรมการค้าภายในกำหนดกก. 140-150 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น