พัทลุง - นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดพัทลุง เผยผู้ค้าเนื้อหมูรายย่อยในตลาดหาดใหญ่รวมตัวประท้วงปิดเขียง 5 วัน กระทบผู้เลี้ยงในพัทลุง 30% แต่จะช่วยลดปัญหาสุกรในฟาร์มที่กำลังขาดแคลน ฉะเรื่องหมูถูกรัฐบาลแทรกตลอดโดยไม่เคยช่วยเหลือผู้เลี้ยงแต่มักเข้าข้างเจ้าของเขียงหมู
วันนี้ (4 ส.ค.) นายวิชัย มงคล นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า จากการหยุดจำหน่ายเนื้อหมูของบรรดาเขียงหมูในตลาดสดพลาซ่า เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา กว่า 100 เขียงในขณะนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะสุกรในตลาดหาดใหญ่ จ.สงขลา มีผู้ค้าส่งจำนวนหลายราย ตั้งแต่ผู้เลี้ยงสุกร จาก จ.ตรัง สงขลา นครศรีธรรมราช และ จ.นครปฐม เป็นต้น
“ปัจจุบันสุกรมีชีวิตราคาควบคุมที่หน้าฟาร์มภาคใต้ 85 บาท แต่ที่พัทลุงขายเพียง 82 บาทต่อ กก.เท่านั้น แต่เมื่อเป็นเนื้อสุกรที่ชำแหละแล้ว โดยเฉพาะเนื้อแดงราคาที่เขียงตกประมาณ 160-170 บาทต่อ กก. และหากรวมถึงเนื้ออื่นๆ แล้วตกเฉลี่ยประมาณ 150 บาทต่อ กก. จากการประท้วงไม่จำหน่ายเนื้อสุกรก็เป็นการดี เพราะจะทำให้สุกรเหลือในฟาร์มซึ่งขณะที่กำลังขาดแคลนอยู่” นายวิชัยกล่าวด้วยว่า
พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูที่รวมตัวกันไม่จำหน่ายเนื้อหมูที่ระบุว่าราคาสุกรสูงเกินไปนั้น จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีกำไรขาดทุน จากเดิมที่ได้สุกรประเภท 100 กก. จะมีกำไรประมาณ 700-1,500 บาท มาเหลืออยู่ที่ 300 บาท จึงไม่พึงพอใจ ขณะนี้นี้ผู้เลี้ยงสุกรเองมีกำไรประมาณ 1,000 บาทต่อตัว แต่เวลาขาดทุน ประมาณ 1,200 บาทต่อตัว ผู้เลี้ยงมีจำนวนหลายร้อยตัวหลายพันตัว ก็ขาดทุนขนาดหนัก ไม่เห็นได้รับความช่วยเหลือดูแล เพราะรัฐบาลไม่เคยเหลียวแลผู้เลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงสุกรจะต้องจัดการเองทุกอย่าง แม้กระทั่งยารักษาก็ต้องซื้อเอง
ในขณะที่ผู้เลี้ยงสัตว์อื่นๆ ได้รับการช่วยเหลือ เช่น เลี้ยงวัว เป็นต้น ธุรกิจการเลี้ยงหมูมีการเมืองเข้ามาแทรกตลอดจึงไม่หมู เช่น หมูราคาสูงก็มีการทำหมูธงฟ้า เป็นต้น กรมการค้าภายในเข้าข้างพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมู แต่ไม่เคยเหลียวแลเห็นใจเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเลย สำหรับผู้เลี้ยงรายใหญ่ในพัทลุง มีบริษัท ภาคใต้ค้าสัตว์, บริษัท เบทาโกร และบริษัท ซีพี เป็นต้น