xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงของโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเกียกกาย

เผยแพร่:   โดย: พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
ptorsuwan@yahoo.com


หลังจากที่รัฐบาลได้ข้อสรุปในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมถนนสามเสน บริเวณใกล้แยกเกียกกาย ส่งผลให้ทางกรุงเทพมหานครจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ที่บริเวณเกียกกายแห่งนี้ สาเหตุมาจากสภาพการจราจรในฝั่งพระนครบริเวณนี้จะเป็นปัญหาอยู่แล้ว เพราะสภาพของถนนที่มีความคับแคบไม่สามารถขยายออกไปได้อีก เนื่องจากมีสถานที่ราชการ กรมทหาร อาคารพาณิชย์ บ้านเรือนผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น ดังนั้นถ้ามีการเปิดใช้รัฐสภาแห่งใหม่แล้ว จึงมีการคาดกันว่าน่าจะมีจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 คันต่อวันในชั่วโมงเร่งด่วน และนั่นก็จะทำให้สภาพการจราจรในบริเวณนี้เข้าสู่ขั้นวิกฤต

สะพานเกียกกายแห่งนี้มิได้ถูกออกแบบให้เป็นแค่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาธรรมดาเท่านั้น แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายการจราจรเชื่อมระหว่างแนวตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เพราะสะพานแห่งนี้สามารถเชื่อมตั้งแต่ถนนพหลโยธินตรงบริเวณตลาดนัดจตุจักร เป็นทางยกระดับที่วิ่งคร่อมถนนกำแพงเพชร ต่อไปบนถนนเทอดดำริห์ คร่อมถนนทหาร และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณใกล้แยกเกียกกายไปยังฝั่งธนบุรี ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ไปสิ้นสุดสะพานนี้ที่แนวถนนคู่ขนานทางรถไฟสายใต้สายใหม่ (ราชพฤกษ์-บางซื่อ) และเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยสะพานเกียกกายแห่งนี้จะมีระยะทางทั้งสิ้น 5.9 กิโลเมตร และมีจุดขึ้นลงสะพานมากถึง 9 แห่ง

แน่นอนที่สุดว่าโครงการสะพานเกียกกายนอกเหนือจากจะเชื่อมสองฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะช่วยบรรเทาความคับคั่งของการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็นสะพานพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 8 สะพานซังฮี้ หรือสะพานพระราม 7 ได้แล้ว ด้วยโครงสร้างของสะพานเกียกกายแห่งนี้มีลักษณะเป็นเหมือนทางด่วนยกระดับ จึงสามารถย่นระยะเวลาเดินทางจากบริเวณกรุงเทพฯ ตอนเหนือไปยังฝั่งธนบุรีได้ภายในเวลาไม่กี่นาที จากเดิมที่จะต้องฝ่าการจราจรอันวิกฤตใช้เวลานับชั่วโมง ดังนั้นถ้าจะดูอย่างผิวเผินแล้วโครงการสะพานเกียกกายจึงเป็นโครงการที่น่าจะเกิดประโยชน์อย่างมากกับคนในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกเฉพาะแก่สมาชิกรัฐสภาเท่านั้น

การดำเนินการในโครงการนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างบริษัท เอพซิลอน จำกัด ให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาในการออกแบบ โดยมีฝ่ายโยธาของกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ทางกรุงเทพมหานครจำเป็นจะต้องจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครก็ได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์ไปแล้ว 4 ครั้ง โดยล่าสุดคือครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย

นอกจากนี้ทางกรุงเทพมหานครยังได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยเสริมอีก 3 ครั้ง โดยการทำประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ครั้งและการสัมมนากลุ่มย่อยอีก 3 ครั้งนั้น ทุกครั้งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากพอสอควร เนื่องจากโครงการสะพานเกียกกายนี้เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนผู้คนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นวงกว้างอีกด้วย กล่าวคือจะมีที่ดินที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 382 แปลง เป็นที่ดินของรัฐจำนวน 98 แปลง และที่ดินของเอกชนที่จะต้องถูกเวนคืนจำนวน 284 แปลง โดยจะต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด 492 หลัง เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของรัฐจำนวน 87 หลัง และเป็นของเอกชนจำนวน 405 หลัง

สำหรับการประชาพิจารณ์นั้น ภาพรวมจะเป็นการนำเสนอโครงการนี้โดยกรุงเทพมหานครและบริษัทที่ปรึกษาฯ จากนั้นก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ตั้งคำถามตลอดจนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ ซึ่งแน่นอนว่าก็มีความหลากหลายออกไป บ้างก็เห็นด้วยที่จะแก้ไขปัญหาจราจร บ้างก็คัดค้านที่โครงการจะมาเวนคืนที่ดินบ้านเรือนของตน บ้างก็สอบถามถึงค่าตอบแทนที่ทางราชการจะชดเชยให้ว่าเป็นอัตราเท่าใดและจะได้รับเมื่อไหร่

บ้างก็สอบถามถึงผลกระทบทางเรื่องเสียง ฝุ่นละออง หรือควันพิษในกรณีที่บ้านเรือนของตนเองไม่ได้อยู่ในแนวเวนคืนแต่ตั้งอยู่ติดหรือบริเวณใกล้เคียงกับโครงสร้างของสะพาน บ้างก็มาคัดค้านเกี่ยวกับที่ตั้งโครงการสะพานทางด่วนซึ่งพาดผ่านหน้าหน่วยงานของตนเองอย่างกรมทหารที่ตั้งอยู่บนถนนทหาร แต่ถึงแม้ว่าจะมีเสียงติติงหรือคัดค้านประการใด ฝ่ายดำเนินการประชาพิจารณ์ก็สามารถทำได้เพียงตอบคำถามและปฏิเสธที่จะทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเกี่ยวกับโครงการสะพานเกียกกายนี้แต่อย่างใด (เพราะไม่มีอำนาจ)

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าในการทำประชาพิจารณ์โครงการนี้ทุกครั้ง จะไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครเข้าร่วมฟังความคิดเห็นหรือร่วมตอบข้อสงสัยแต่ประการใด จะมีก็แค่ระดับผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการฝ่ายที่มากล่าวต้อนรับเพียงชั่วครู่แล้วรีบจากไป ปล่อยให้ภาระการตอบข้อสงสัยข้อซักถามหรือข้อติติงอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของบริษัท เอพซิลอนฯ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฯ เท่านั้น

เกี่ยวกับโครงการสะพานเกียกกายนี้ถ้าไม่พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก็จะเห็นว่ามีความเหมาะสมดี เพราะสามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาการจราจรที่ดำรงอยู่และจะมีแนวโน้มจะวิกฤตมากขึ้นได้จริง จะมีเพียงแต่ประเด็นเรื่องที่ตั้งของสะพานช่วงข้ามเจ้าพระยาและแนวสะพานยกระดับ (ทางด่วน) คร่อมถนนของโครงการนี้ อาจจะเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับความมั่งคงแห่งรัฐได้เลยทีเดียว

เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการสะพานเกียกกายนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการเกิดขึ้นของรัฐสภาแห่งใหม่นี้เป็นหลัก แต่การที่กรุงเทพมหานครและบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้ออกแบบโครงสร้างสะพานที่วิ่งแนบเข้ามาด้านข้างอาคารรัฐสภานั้น เป็นการสร้างโอกาสสำหรับการก่อวินาศกรรมได้อย่างง่ายดาย กล่าวคือการใช้ยานพาหนะวิ่งด้วยความเร็วแล้วยิงใส่ด้วยอาวุธสงครามไม่ว่าจะเป็นปืนกล หรือเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ที่เราทั้งหลายน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วตลอดหลายปีแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเมืองของเรา วิธีการเยี่ยงนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในเมืองหลวงกรุงเทพมหานครและก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วด้วย

ยกตัวอย่างเช่นการยิงลงมาจากสะพานข้ามห้าแยก ณ ระนองในกรณีการประท้วงในตลาดคลองเตย มีประชาชนเสียชีวิตไปหลายคน หรือการยิงจากทางด่วยดอนเมืองโทลล์เวย์เข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่สนามบินดอนเมืองมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เคยที่จะมีการจับคนร้ายได้ ถึงแม้ว่าจะมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่หลายตัวก็ตาม ความพยายามอธิบายจากบริษัทที่ปรึกษาออกแบบโครงการนี้ว่าสามารถป้องกันการก่อวินาศกรรมได้โดยการสร้างกำแพงสูงขึ้นหรือการติดกล้องวงจรปิด จึงไม่น่าจะสามารถป้องกันอย่างได้ผล เนื่องจากเครื่องยิงระเบิดนั้นยิงเป็นวิถีโค้ง มืออาชีพสามารถกะระยะการยิงได้อย่างแม่นยำพอสมควร ส่วนการเสนอวิธีป้องกันการก่อวินาศกรรมโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิดนั้น ถ้าจะประสบผลสำเร็จได้จริงแล้วปัญหาความรุนแรงในภาคใต้คงจะแก้ไขไปได้นานหลายปีแล้วเช่นกัน

อาคารรัฐสภาเป็นสถานที่สำคัญ ไม่ใช่แต่เพียงเป็นที่ทำงานและที่ประชุมของผู้แทนปวงชนเท่านั้น ยังจะเป็นบริเวณซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ทางการเมืองในอนาคต พื้นที่การเมืองในยุคต่อไปนั้นยังเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา แต่ถ้าจะให้จินตนาการได้อย่างง่ายๆ แล้ว ก็คงคล้ายกับพื้นที่สนามหลวงหรือโดยรอบอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินในอดีต ต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือเคลื่อนมาอยู่ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งล่าสุดการชุมนุมประท้วงก็ได้เคลื่อนมาอยู่ย่านการค้าธุรกิจที่กลางแยกราชประสงค์ โดยจะเห็นได้ว่าทุกๆ พื้นที่ทางการเมืองนั้นเคยมีคนตายเพราะความขัดแย้ง จะมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไปตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่บริเวณแยกราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน โดยกล่าวกันว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะถูกยิงลงมาจากตำแหน่งบนโครงสร้างรางรถไฟฟ้าบีทีเอสอีกด้วย!

คำอธิบายของบริษัทที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานออกแบบโครงการสะพานเกียกกายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในระหว่างการประชาพิจารณ์ว่าความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในบ้านเมืองของเรานั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ รักสงบ ซึ่งทำเอาบรรดาผู้ฟังรวมถึงผู้เขียนต้องตะลึงในความมุ่งมั่นที่จะรับใช้ผู้กำหนดนโยบายโดยไม่ลืมหูลืมตาของคณะวิศวกรและผู้ออกแบบโครงการนี้จริงๆ เพราะถ้าความเสี่ยงต่อชีวิตของประชาชนในอนาคตอาจจะไม่มีคุณค่าพอสำหรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือตำแหน่งที่ตั้งของสะพานแล้ว เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมวางระเบิดทำเนียบรัฐบาลนอร์เวย์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาอาจเป็นตัวอย่างได้ดี ทั้งๆ ที่นอร์เวย์ถือเป็นประเทศที่มีความสงบสุขมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็ตาม

แต่การก่อวินาศกรรมต่อที่ทำการหลักๆ ของรัฐ อย่างทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา สถานทูต หรือแม้กระทั่งศาลาว่าการเมืองหรือมลรัฐ ล้วนมีนัยเกี่ยวกับการต่อต้านอำนาจรัฐในเชิงสัญลักษณ์ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก และนั่นก็ควรจะเป็นอุทธาหรณ์สำหรับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และคณะที่ปรึกษาออกแบบโครงการสะพานแห่งนี้ ที่จะได้ฉุกคิด ไตร่ตรอง และทบทวนเกี่ยวกับโครงการนี้ใหม่ให้มีความรอบคอบมากกว่านี้

นอกเหนือจากความเสี่ยงของที่ตั้งสะพานซึ่งอยู่แนบกับอาคารรัฐสภาซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญ เพราะเป็นสถานที่รวบรวมคณะบุคคลในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของประเทศไว้ได้มากที่สุดแล้ว ไม่ไกลจากอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ก็คือที่ตั้งของกรมทหาร ซึ่งก็มีอีกหลายหน่วยงานย่อยภายในอาณาบริเวณนั้น แต่มีหน่วยงานสำคัญที่เข้ามาร่วมแสดงเสียงคัดค้าน ก็คือตัวแทนจากรมสรรพาวุธทหาร โดยตัวแทนของกรมฯ ได้ชี้แจงว่าโครงการสะพานเกียกกายในส่วนที่เป็นทางด่วนคร่อมถนนทหารนั้น ไม่สมควรที่จะดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง การเข้ามาตั้งอยู่ของรัฐสภาแห่งใหม่ก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการกลายเป็นพื้นที่การเมืองอยู่แล้ว

การสร้างโครงสร้างทางยกระดับคร่อมเหนือถนนทหารตลอดสายกลับเป็นการสร้างชัยภูมิที่ดีสำหรับการก่อการร้าย เนื่องจากภายในกรมสรรพาวุธทหารเป็นคลังเก็บอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ถ้าเกิดจะมีการโจมตีคลังเก็บวัตถุระเบิดโดยการยิงจรวดหรือยิงเครื่องระเบิดอื่นใดจากบนสะพานทางด่วน ก็จะก่อให้เกิดหายนะในวงกว้างถึงหลายตารางกิโลเมตร นอกจากจะครอบคลุมพื้นที่ของอาคารรัฐสภาแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอื่น ตลอดจนอาคารบ้านเรือนของประชาชนเป็นจำนวนมากที่อาจจะได้รับอันตรายอีกด้วย

การก่อสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยาเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในบริเวณย่านเกียกกายมีความจำเป็น แต่ตำแหน่งที่ตั้งของตัวสะพานตลอดจนแนวของทางยกระดับก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แนบชิดกับอาคารรัฐสภาดังที่ทางกรุงเทพมหานครและบริษัทที่ปรึกษานำเสนอ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีที่ไหนในโลกเค้าจะสร้างทางด่วนยกระดับขนาบข้างอาคารสถานที่สำคัญแบบนี้

อันที่จริงการวางตำแหน่งแนวของสะพานและโครงข่ายทางด่วนสามารถปรับเลื่อนห่างออกไปหนึ่งหรือสองกิโลเมตรก็ยังคงสามารถอำนวยความสะดวกให้สมาชิกรัฐสภาตลอดจนแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณนี้ได้อย่างไม่แตกต่างกัน เหนือสิ่งอื่นใดก็คือประเด็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและความมั่นคงแห่งรัฐควรจะเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนเรื่องการแก้ปัญหารถติดมิใช่หรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น