xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-กัมพูชาเตรียมถก"จีบีซี" ยังไม่ให้อินโดฯสังเกตการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 28 ก.ค. ) พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงถึงกรณีเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอดรับคำตัดสินของศาลโลก กรณีเขาพระวิหารว่า วันนี้ที่ประชุมสภากลาโหมเสนอความเห็นในเรื่องนี้ว่า น่าจะใช้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานความมั่นคง เป็นช่องทางที่ใช้การ เจรจาหารือกับฝ่ายกัมพูชา ในกรอบของการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ( จีบีซี ) โดยแนวทางดังกล่าวกระทรวงกลาโหมมีความพร้อม และเห็นพ้องที่จะใช้กลไก แบบทวิภาคี
รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการเสนอกรอบวาระที่จะมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ครั้งที่ 8 เข้าสู่การพิจารณารับรองของคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาแล้ว โดยเนื้อหาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการดูแลความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจจำเป็นจะต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายกรอบการเจรจาให้ครอบคลุม ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงนำเข้าสู่รัฐสภา เพื่อพิจารณารับรองให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย ตาม ม.190
"การประชุม จีบีซี.ที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป มีวาระสำคัญที่ต้องมีการเจรจาเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้ กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยประสานงาน ในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติร่วมกัน โดยมีซึ่งต้องมีความโปร่งใสเสมอภาค และยุติธรรม" โฆษกกลาโหมระบุ

**ไทยยังไม่พร้อมให้อินโดฯเข้ามา

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงกรณีที่คำตัดสินของศาลโลกที่ระบุให้ไทย-กัมพูชา ถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท แต่ทางกัมพูชากลับเรียกร้องให้ประเทศที่สาม อย่างอินโดนีเซีย เข้ามาสังเกตการณ์โดยเร็วว่า ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มกระบวนการไปแล้ว ซึ่งแล้วแต่ความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ประธานอาเซียนเองก็บอกว่ารออยู่ เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาในการพิจารณาทุกแง่ทุกมุมของศาลโลก
ทั้งนี้ เชื่อว่าประธานอาเซียน จะแจ้งให้ทราบเพราะที่ผ่านมามีการเอ่ยถึงว่า จะให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร และสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และศาลโลกก็ระบุแล้วว่าหากทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม เมื่อไรก็ตาม ก็พร้อมที่จะช่วยทำหน้าที่ในการทำหน้าที่อำนวยความสะดวก
ผู้สื่อข่าวถามว่า กัมพูชา เรียกร้องให้ อินโดนีเซีย เข้าไปทันทีแต่ทางฝั่งไทยเห็นว่าควรจะพร้อมทั้งสองฝ่าย นายสุรินทร์ กล่าวว่า คงจะเป็นในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมเมื่อนั้นทุกอย่างก็จะเดิน

**ศาลโลกแจ้งไทยส่งเอกสารก่อน21 พ.ย.

นายฮิซาซิ โอวาดะ ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก แจ้งให้นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งเอกสารการตั้งข้อสังเกตของฝ่ายไทย (Written Observation) ภายในวันที่ 21 พ.ย. ชี้แจงต่อคำร้องกัมพูชา ที่ส่งให้ศาลโลกเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ให้ตีความคำพิพากษาศาลโลกในปี 2505
ทั้งนี้ เอกสารคำร้องให้ตีความของกัมพูชา ได้ระบุว่า การที่ศาลโลกในปี 2505 ใช้แผนที่อัตราส่วน 1:200,000 ของฝรั่งเศส พิจารณาประกอบคำตัดสินให้ปราสาทพระวิหาร อยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา เท่ากับเป็นการยอมรับของศาลโลก ถึงแนวเขตแดนที่กำหนดไว้ตามแผนที่ดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทย อยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชาทั้งนี้ ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 ให้ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา และให้ไทยถอนกำลังทหารออจากพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาท ระหว่างการชี้แจงต่อศาลโลกเมื่อปลายเดือนพ.ค.
นายวีรชัย หัวหน้าคณะทนายความไทย ระบุถึงคำตัดสินในในปี 2505 เป็นเรื่องอธิปไตยของกัมพูชาเหนือตัวปราสาท ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดนอย่างที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวอ้าง และหลังการส่งเอกสารให้ศาลโลก ศาลจะใช้เวลาในการศึกษาข้อเท็จจริงก่อนนัดฟังคำชี้แจงจากทั้ง 2 ฝ่าย และคาดว่าจะมีคำพิพากษาต่อคำร้องของกัมพูชาภายใน 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น