xs
xsm
sm
md
lg

กต.แจง ต้องคุยเขมร ก่อนทำตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยผ่านเว็ปไซต์ ว่าเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เวลา 15.00 น. นายเจษฎา กตเวทิน รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศและรักษาการโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้สื่อข่าว ณ กระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับคำสั่ง (Order) ของศาลโลกกรณีกัมพูชาขอให้ศาลฯ ออกมาตรการชั่วคราว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ออกมาตรการชั่วคราวโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดความตึงเครียด และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการปะทะบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา โดยเป็นมาตรการที่จะใช้บังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินหลักเกี่ยวกับกรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี โดยในระหว่างเวลาดังกล่าว อาจจะมีการปรับมาตรการชั่วคราวให้เหมาะสมสอดคล้องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
2. ตามมาตรา 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดให้สมาชิกสหประชาชาติปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติที่มีเกียรติประวัติที่ดีในการปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ซึ่งแม้ไทยจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ได้ปฏิบัติตาม
3. เกี่ยวกับเขตปลอดทหารที่ศาลโลกได้มีมาตรการชั่วคราวให้ทหารของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาถอนกำลังออกไปโดยทันทีนั้น ขอย้ำว่า มาตรการชั่วคราวดังกล่าวไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่ออำนาจอธิปไตย และเขตแดนของไทยแต่อย่างใด ศาลโลกได้กำหนดขอบเขตของพื้นที่ดังกล่าว เพื่อลดการเผชิญหน้ากันทางทหาร ในชั้นนี้ กรมแผนที่ทหารกำลังดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แผนที่ความชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ทราบว่า การกำหนดพื้นที่ปลอดทหารดังกล่าว ไม่มีฝ่ายใดที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากน้อยไปกว่ากัน นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นเพียงเขตปลอดกำลังทหารเท่านั้น ในส่วนของพลเรือนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังคงสามารถอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ตามปกติ และมาตรการดังกล่าวจะหมดไปทันทีที่ศาลโลกมีคำวินิจฉัยตีความคำพิพากษาปี 2505
4. การตัดสินของศาลโลกในครั้งนี้ มิได้ทำให้เกิดข้อเสียเปรียบต่อฝ่ายไทย เนื่องจากกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกมีมาตรการชั่วคราวต่อไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่ศาลได้ตัดสินให้มีมาตรการชั่วคราวต่อฝ่ายกัมพูชาด้วย ซึ่งศาลโลกได้ยึดหลักความยุติธรรม และมิได้ตัดสินให้เป็นไปตามแนวทางของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
5. ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงช่วงเวลาที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาจะตกลงกันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องมีการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ และช่วงเวลาที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกต่อไป ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีพันธะผูกพันจะต้องรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวดังกล่าวต่อศาลโลกเป็นระยะ ๆ
6. สำหรับการดำเนินการต่อไปของฝ่ายไทย จะต้องมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี โดยจะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันหรือชุดต่อไปนั้น ต้องรอผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
7. แนวทางที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาได้อย่างถาวร คือ การที่ไทยและกัมพูชาจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยมองผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของทั้งสองประเทศ และประชาคมอาเซียนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ นายวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทย กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราวแล้ว ก็จะถึงการพิจารณาเรื่องที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ศาลจะกำหนดให้ฝ่ายไทยส่งคำชี้แจงกรณีดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะให้เวลาเท่าไรในการทำคำชี้แจงส่งต่อศาล คาดว่าต้นสัปดาห์หน้าจะได้คำตอบ ส่วนขั้นตอนต่อไป ศาลจะมีทางเลือกหลายทาง เช่น อาจจะตัดสินไปเลย หรืออาจจะขอฟังคู่ความอีกครั้ง หรือศาลอาจจะให้กัมพูชายื่นเอกสารเพิ่มเติม และให้ฝ่ายไทยยื่นเอกสารชี้แจงอีก คือสรุปศาลอาจจะให้ยื่นฝ่ายละสองฉบับ ซึ่งหลังจากยื่นเอกสาร หรือหลังจากนัดฟังคู่ความแล้ว ศาลอาจจะใช้เวลาอีกหลายเดือน หรืออีกหลายปีก่อนจะมีคตัดสินออกมาก็ได้ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น