xs
xsm
sm
md
lg

‘ศอ.บต.’ ใต้อุ้งมือ ‘เพื่อไทย’เดินหมากผิดจะยิ่งโหมไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มโจรใต้ก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการยุบและตั้งหน่วยงานมากมายขึ้นมาดูแลและแก้ไข ภายใต้รัฐบาลใหม่ สิ่งที่น่าจับตาคือ จะมีการยุบ ศอ.บต.อีกหรือไม่ หลังสมัยรัฐบาลทักษิณเคยทำมาแล้ว
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

ในครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีผู้เรืองอำนาจ ได้สั่งการให้รื้อโครงสร้างอำนาจการบริหารพื้นที่พิเศษอย่าง “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ครั้งใหญ่ เพราะเชื่อมั่นใน “ข่าว” จาก “คน” ใกล้ชิดว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนจบสิ้นแล้ว ปฏิบัติการต่างๆ ที่ยังเกิดขึ้นเป็นฝีมือของ “โจรกระจอก” เท่านั้น

ด้วยความเชื่อมั่นในข่าวและคนของตนเอง พ.ต.ท.ทักษิณจึงได้สั่งยุบทิ้ง “ศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” องค์กรที่มักเรียกชื่อย่อกันติดปากว่า “ศอ.บต.” และ “กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43” ที่มีชื่อย่อว่า “พตท.43” ซึ่งเป็น 2 หน่วยงานหลักกำกับดูแลพื้นที่ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็เป็นเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

หลังยุบ ศอ.บต.และ พตท.43 ทิ้ง จึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันนี้เหตุการณ์และสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจาก “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังไม่มีท่าที่ว่าจะยุติลงได้

ทั้งๆ ที่รัฐบาลที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และจนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เวลานี้ต่างได้ทุ่มงบประมาณให้กองทัพกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น แต่ทุก “ยุทธศาสตร์” และ “แผนปฏิบัติการ” ยังส่อให้เห็นถึงความล้มเหลว ณ ห้วงเวลานี้แนวรบด้านทิศใต้ของประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง

การฟื้น ศอ.บต.ในครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือแนวทางหนึ่งของการสร้างสันติสุขของชายแดนใต้ให้กลับคืนมา แต่ในยุคสมัยของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ต่อเนื่องจนถึงยุคสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กลับไม่สามารถทำให้ ศอ.บต.ขับเคลื่อนงานการ “ดับไฟใต้” ได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล

เหตุผลหนึ่งว่ากันว่า เนื่องจาก ศอ.บต.ตั้งขึ้นมาโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นเสมือน “องค์กรเถื่อน” ที่ขึ้นอยู่กับ “กอ.รมน.” จึงไม่สามารถตอบสนองในสิ่งที่ ศอ.บต.ควรจะเป็นและต้องการทำ

“พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งตกเป็นจำเลยเวลานี้ เพราะมาเป็นรัฐบาลกว่า 2 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว จึงได้คิดผลักดัน “พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือที่มักเรียกกันว่า “พ.ร.บ.ศอ.บต.” เพื่อทำให้ ศอ.บต.เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย และก็สามารถผ่านสภาฯ ได้สำเร็จก่อนที่สภาฯ จะถูกยุบเพียง 2 เดือน

โดยโครงสร้างของ ศอ.บต.ที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่ถือว่าค่อนข้างจะเป็นประโยชน์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ ตั้งแต่การมีตัวแทนจากภาคประชาชน 49 คนเข้าไปทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มีตัวแทนประชาชนจังหวัดละ 1 คนทำหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรี มีงบประมาณเป็นของตนเอง มีอำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการที่ไม่สนองนโยบายและสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ เป็นต้น

แต่วันนี้ พ.ร.บ.ศอ.บต.เพิ่งเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งข้าราชการผู้ปฏิบัติงานใน ศอ.บต.และสภาที่ปรึกษาฯ ยังไม่ได้ขับเคลื่อนแนวทางเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จริงจัง และยังไม่มีการสรรหาตัวแทนภาคประชาชนที่จะเข้าไปนั่งใน กพต.ด้วย เพราะทุกอย่างอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ โดยคาดว่า ศอ.บต.ยุคใหม่จะสามารถขับเคลื่อนได้พร้อมๆ กับรัฐบาลใหม่ภายในเดือนส.ค.นี้

แต่คำถามหนึ่งของคนในชายแดนใต้ รวมถึงคนใน ศอ.บต.ด้วยคือ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความเห็นอย่างไรต่อ ศอ.บต. เนื่องจากในการหาเสียงและการประกาศนโยบายของพรรค มีการพูดว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะ “สั่งยุบ ศอ.บต.” อีกหน โดยจะให้จัดตั้ง “เขตปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “นครปัตตานี” ขึ้นมาทดแทน

ดังนี้แล้ว ก่อนที่จะถึงการจัดตั้งนครปัตตานี พรรคเพื่อไทยจะมีนโยบายอย่างไรกับ ศอ.บต.บ้าง จะใช้งานต่อไปแบบให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและผู้นำองค์กร หรือจะยุบทิ้งในทันทีที่ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์รัฐบาล ??

วันนี้คนในชายแดนใต้กำลังจับตามองการกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคนี้ก็คือพรรคเดียวกับที่ชื่อ “ไทยรักไทย” และ “พลังประชาชน” ซึ่งเคยสร้างบาดแผลให้เกิดขึ้นแก่แผ่นดินชายแดนใต้มาแล้วจากความผิดพลาดมากมาย เช่น ยุบทิ้ง ศอ.บต.และ พตท.43 การใช้กำปั้นเหล็กในการปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่างจนเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมอย่าง “เหตุการณ์กรือเซะ” และ “เหตุการณ์ตากใบ” รวมทั้งกรณีอื่นๆ เช่น การอุ้มฆ่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย ที่จนถึงบัดนี้ทุกกรณียังกลายเป็น “บาดแผลร้าวลึก” อย่างยากจะเยียวยา

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดคือ ความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่ยังหวาดกลัวนโยบายของพรรคเพื่อไทย และวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต รวมทั้งต้องรับรู้ว่าการผลักดัน พ.ร.บ. เขตปกครองพิเศษก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่นั่นด้วย โดยเฉพาะเขตปกครองพิเศษก็ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดความสงบในชายแดนใต้ได้

ทว่า การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของ ศอ.บต.ที่ผ่านๆ มาเป็นที่ยอมรับว่าสามารถเปรียบได้กับ “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ถ้าทำให้ทุกบ้านของคนในชายแดนใต้มีไว้ใช้ ก็อาจจะมีประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันเบื้องต้นได้ ซึ่งจะเป็นผลดีในการขับเคลื่อนนโยบายอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง

การเคยก้าวพลาดในการแก้ไฟใต้และได้ส่งผลอย่างชัดเจนในวันนี้ กล่าวคือ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.ในชายแดนใต้แม้แต่ที่นั่งเดียว นั่นหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตอบรับนโยบายของพรรคนี้ การกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจึงต้องรอบคอบในนโยบายที่จะใช้แก้ปัญหา อะไรที่เป็นนโยบายหาเสียง แต่ทำไม่ได้จริงก็ต้องไม่ทำ และอะไรที่เป็นนโยบายที่ดี แม้จะไม่ใช่ของพรรคตนเอง ถ้าเป็นความต้องการของประชาชนก็ต้องคงไว้

เนื่องเพราะผลพวงของ “ความผิดพลาด” แต่ละครั้งของ “ฝ่ายการเมือง” ต่อปัญหาไฟใต้ ผู้ที่รับกรรมทั้งหมดคือ ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งหากการหวนคืนอำนาจครั้งนี้ยังจะทำผิดพลาดอีกละก็ อาจจะถึงขั้นคนไทยต้องสูญเสียแผ่นดินปลายด้ามขวานไปเลยก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น