ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และกำลังจะก้าวขึ้นสู่อำนาจในการเป็นผู้จัดตั้ง “รัฐบาลปูแดง 1” ประเด็นร้อนที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินปลายด้ามขวาน ที่ประชาชนทั่วประเทศ และในในจังหวัดชายแดนภาคใต้จับตามองด้วยความสนใจ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ...
1. พรรคเพื่อไทยจะนำร่าง “พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษนครปัตตานี” มาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ และ
2. พรรคเพื่อไทยจะทำการยุบ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” จริงหรือไม่
เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น พรรคเพื่อไทยได้ถือเป็นนโยบายของพรรคและใช้ในการหาเสียงกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ซึ่งกลุ่มคนและองค์กรที่สนับสนุนให้พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเขตปกครองพิเศษ ถือว่าเป็นสัญญาประชาคม และเป็นพันธกรณี ที่พรรคเพื่อไทยต้องปฏิบัติ
จึงไม่แปลกที่หลังเสร็จศึกการเลือกตั้ง กลุ่มคนและองค์กรที่สนับให้มีเขตปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการขับเคลื่อนให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าเรื่อง พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษในทันที ??
วันนี้เรื่องของ พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษจึงกลายเป็น “ประเด็นร้อน” และร้อนกว่าการ “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” ศอ.บต.เสียอีก !!
เนื่องจากการยุบหรือไม่ยุบ ศอ.บต.มีผลกระทบที่น้อยกว่า เพราะ ศอ.บต.เป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ แก้ไขปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงไม่มี ศอ.บต.ก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่โดยตรงและสามารถรองรับได้ทุกเรื่องทุกปัญหาอยู่แล้ว แต่เรื่อง พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบกับประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส
หากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษนครปัตตานีของพรรคเพื่อไทยก็ดี หรือของนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งร่างของสถาบันพระปกเกล้า ที่อ้างว่าได้ทำเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่มาแล้วอย่างครอบคลุมและทั่วถึงก็ดี จะเห็นว่าเป็นเขตปกครองพิเศษที่ไม่เหมือน “กรุงเทพมหานคร” หรือ “เมืองพัทยา”
เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษรูปแบบใหม่ ที่ให้อำนาจการบริหารกับ “กลุ่มคนที่มาจากการเลือกตั้ง” และ “กลุ่มคนที่มาจากการสรรหา” ซึ่งสำหรับสังคมไทยแล้ว โดยเฉพาะสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงยังมั่นใจไม่ได้ว่า จะเป็นไปได้ว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่จริง
มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และขุนทหาร ที่กำกับดูแลงานด้านความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายเขตปกครองพิเศษ และการยุบ ศอ.บต.กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ในขณะที่คู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบายกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ทว่า ผลจากการเลือกตั้ง ส.ส.เที่ยวล่าสุดที่ปรากฏคือ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 ที่นั่งจากทั้งหมด 11 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยกลับกลายเป็นพรรคที่สูญพันธุ์ทางการเมืองในแผ่นดินปลายด้ามขวานไปเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงน่าจะตอบโจทย์เรื่อง พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เห็นด้วย และไม่เอานโยบายเขตปกครองพิเศษนครปัตตานีของพรรคเพื่อไทย แต่ต้องการให้มีการบริหารพื้นที่แบบเดิมๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้
แต่ถ้าดูกันให้ละเอียดและลงลึกให้ถึงแก่นแกนของแผ่นดินปลายด้ามขวาน การที่คนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เทใจให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถึง 9 ที่นั่ง จาก 11 ที่นั่ง นั่นอาจจะไม่ได้หมายถึงคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ต้องการมีเขตปกครองพิเศษ หรือความเป็นนครปัตตานีก็ได้
เนื่องเพราะในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ตัวตนของผู้สมัครของพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่ขายนโยบาย “เขตปกครองพิเศษ” หรือพรรคมาตุภูมิที่ขายนโยบาย “ทบวงสามจังหวัดชายแดนใต้” พวกเขาเหล่านั้นต่างไม่ได้นำนโยบายเหล่านี้มาใช้ในการหาเสียงเปิดเวทีปราศรัยกับประชาชนในพื้นที่
แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับเน้น “ขายตัวตน” ของเขาเองที่เป็นผู้ลงรับเลือกตั้ง และก็มีการใช้ “กระสุน” ในการหาคะแนนเสียง ?!
รวมทั้งชัยชนะของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้มาก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่ง เช่น “ฝนตกห่าใหญ่” และการใช้ “อำนาจรัฐอย่างเต็มร้อย” ในทุกพื้นที่ ?!
เห็นได้จากขุนพลคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายถาวร เสนเนียม และนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ขนสรรพกำลังและเสบียงกรังลงพื้นที่อย่างเต็มสูบ รวมทั้งยังสามารถหอบหิ้วเอา นายชวน หลีกภัย ที่มีความพิเศษ สามารถทั้งออดทั้งอ้อนบรรดาแม่ยกได้อย่างชะงักนัก ลงพื้นที่ขอคะแนนเสียงอย่างไม่เคยปรากฏภาพแบบนี้มาก่อน
ดังนั้น ณ วันนี้ที่ทุกฝ่ายทั้งที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษควรต้องตั้งหลักกันให้มั่น โดยเฉพาะฝ่ายความฝ่ายมั่นคงต้องไม่ด่วนสรุปแบบฟันธงลงไปก่อน เพราะหาก “ตั้งโจทย์ผิด” ก็จะกระทบถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในวันนี้ยังมี “ปม” ปัญหามากมายที่ยังไม่ได้แก้ไข ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้เกิด “ปมใหม่” ขึ้นมาอีกก็เป็นได้
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในวันนี้ พ.ร.ก.เขตปกครองพิเศษยังไม่ “ตกผลึก” ในความคิดความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากพรรคเพื่อไทยต้องการเดินหน้าผลักดันเขตปกครองพิเศษให้เป็นจริง พรรคเพื่อไทยต้องมีขบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างละเอียดและรอบคอบ
เนื่องจากผลจากการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นขององค์การต่างๆ รวมทั้งจากสถาบันการศึกษาที่ทำมาก่อนหน้านี้ ยังเป็นเพียงเวทีเล็กๆ ที่ยังใช้ในการ “ตัดสิน” ไม่ได้ว่าเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่อย่างแท้จริงหรือไม่ ??
และที่สำคัญเขตปกครองพิเศษก็ยังไม่ใช่ “ยาวิเศษ” ที่จะแก้ปัญหา “ไฟใต้” ที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ??
ทว่า “ผลเสีย” ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดหลังจากเขตปกครองพิเศษกลายเป็น “ประเด็นร้อน” ก็คือ คนส่วนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคนไทยพุทธเริ่มวิตกกังวลกับคำว่าเขตปกครองพิเศษ บางคนวิตกถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับเลยก็มี บางคนถึงกับเตรียมขยับขยายเพื่อย้ายหนีจากพื้นที่แล้ว เช่นเดียวกับคนไทยมุสลิมที่ต่างวิตกกังวลถึงความ “แตกแยก” ที่อาจขยายวงกว้างขึ้นจาก “ความไม่เข้าใจ” ในเรื่องเขตปกครองพิเศษที่ถูกนำมาเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่ในขณะนี้
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยต้องเร่งทำให้กระจ่างชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรกับนโยบายให้จัดทำ พ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้ และที่สำคัญก็ต้องเร่งสื่อสารกับคนในพื้นที่ ให้เข้าใจโดยด่วน !!!!
เพราะมิฉะนั้นแล้ว เรื่องเขตปกครองพิเศษชายแดนใต้นี้ก็อาจจะกลายเป็นอีก “เงื่อนไข” หนึ่งให้ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” นำไปเป็นประโยชน์จนทำให้ “วิกฤตไฟใต้” เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก ?!?!