xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จุดจบ กกต. ส่อแววซ้ำรอย “ 3หนา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ชุดปัจจุบันที่มีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน นับว่าเป็น กกต.ที่ทำให้การเมืองไทยประสบปัญหาความยุ่งยากไม่แพ้ กกต.ชุดก่อนที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน และมีความเป็นไปได้ว่า กกต.ทั้งสองชุดนี้อาจต้องพบจุดจบในลักษณะเดียวกัน

กกต.ชุดก่อนที่ได้รับฉายาว่า “3 หนา” นั้น ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะถูกศาลพิพากษาให้มีความผิด กรณีจัดการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้กำหนดวันเลือกตั้งกระชั้นชิดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทยที่เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ และจัดคูหาลงคะแนนในลักษณะที่หันหลังออกด้านนอกให้ผู้อื่นมองเห็นการกาบัตรลงคะนนของผู้ใช้สิทธิได้ ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งกรณีการอนุญาตให้ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองขนาดเล็กที่สอบตกไปแล้ว ย้ายไปสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครพรรคเดียวในการเลือกตั้งรอบใหม่ เพื่อให้ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยไม่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ต้องได้คะแนนร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ส่วน กกต.ชุดปัจจุบัน ก็มีผลงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการไม่ให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.ระบบสัดส่วนพรรคพลังประชาชน ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ทั้งที่มีหลักฐานการซื้อเสียงชัดเจน แต่กลับรับรองให้นายยงยุทธเป็น ส.ส.ไปก่อนแล้วรอสอยทีหลัง ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงเพราะนายยงยุทธได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลนอมินีของทักษิณ ชินวัตรสำเร็จลง และเตรียมการจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยให้ทักษิณพ้นจากความผิดเป็นเหตุให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องออกมาชุมนุม

หาก กกต.ชุดนี้ให้ใบแดงนายยงยุทธแต่แรก พรรคพลังประชาชนอาจต้องถูกยุบไปก่อนที่พันธมิตรฯ จะออกชุมนุม ซึ่งหมายถึงว่าไม่ต้องมีการชุมนุม 193 วัน ไม่ต้องมีเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ไม่ต้องมีคนร้ายยิงเอ็ม 79 เข้าใส่ผู้ชุมนุมในทำเนียบจนเสียชีวิตร่วมสิบคน และพันธมิตรฯ ก็ไม่ต้องไปชุมนุมที่สนามบิน

นอกจากนี้ กกต.ชุดปัจจุบันยังได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ทำให้คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคต้องหมดความศักดิ์สิทธิไปโดยปริยาย กรณีที่ปล่อยให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหลายคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2550 ทั้งที่นักการเมืองเหล่านั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี อันเนื่องจากมาจากคดียุบพรรค

รวมทั้งการไม่ยอมเอาผิดพรรคพลังประชาชนกรณีเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไปแล้ว โดย กกต.มีคำวินิจฉัยว่า แม้พรรคพลังประชาชนจะเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย แต่อ้างว่าไม่มีข้อกฎหมายที่จะเอาผิดได้

อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนไปดูที่มาของ กกต.ชุดนี้ ก็จะพบว่า หลังจากที่ กกต.ชุด 3 หนา ต้องสิ้นสภาพไปเพราะตัดสินจำคุกแล้ว ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็น กกต. 10 คนให้วุฒิสภาชุดที่เคยได้ฉายาว่า “สภาทาส”ได้คัดเลือกเหลือ 5 คน ว่ากันว่าวุฒิสภาชุดนั้นได้เลือกเอาผู้ที่ “อ่อน”ที่สุดมาเป็น กกต. ส่วนคนที่มีประวัติเรื่องความเที่ยงธรรมและเด็ดขาดกลับไม่ได้รับการคัดเลือก อาทิ นายวิชา มหาคุณ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นต้น

ตลอดระยะเวลาที่ กกต.ชุดนี้ได้ทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2550 จึงเห็นถึงความโลเล ไม่เด็ดขาด และมีคำวินิจฉัยโอนเอนไปตามกระแส หาหลักยึดที่แน่นอนชัดเจนไม่ค่อยได้ มาจนกระทั่งการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งส่อว่ากกต.ชุดนี้อาจจะถึงขั้นกระทำผิดกฎหมายในหลายกรณี อาทิ

การทำให้ผู้ที่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 จำนวนมาก ต้องเสียสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะการออกระเบียบกำหนดให้ผู้ที่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ต้องไปแจ้งยกเลิกการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตก่อน หากต้องการกลับไปใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งที่โดยหลักการแล้ว การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตควรจะเป็นการขอใช้สิทธิชั่วคราวเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ ไป ไม่ใช่ให้มีชื่ออยู่ถาวร แล้วรอให้ผู้มีสิทธิไปแจ้งยกเลิกเอง

รวมทั้งกรณีที่อาจจะเข้าข่ายกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ปล่อยให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิอันเนื่องมาจากคดียุบพรรคยังเข้ามามีบทบาทในการช่วยผู้สมัครพรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงเลือกตั้ง หรือการปล่อยผี ให้การรับรองว่าที่ ส.ส.ที่ถูกร้องเรียน ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ด่อน โดยอ้างว่าจะตามสอยทีหลัง แต่เมื่อ ส.ส.เหล่านี้ได้เข้าสภา ก็จะไปยกมือเลือกนายกฯ ยกมือรับรองนโยบายรัฐบาล หรือลงคะแนนผ่านกฎหมายต่างๆ หากต้องมีการสอยหรือให้ใบแดง ส.ส.เหล่านี้ภายหลัง ก็จะมีปัญหาความชอบธรรมตามมา

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บัตรเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อกับระบบเขตไม่เท่ากัน ทั้งที่ในการลงคะแนนนั้น ผู้ไปใช้สิทธิจะได้รับทั้งบัตรเลือกตั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่ออย่างละใบเท่ากันทุกคน เพราะฉะนั้นจึงควรจะมีบัตรเลือกตั้งเท่ากันทั้งสองระบบ การที่บัตรเลือกตั้งทั้งสองระบบไม่เท่ากัน ย่อมน่าสงสัยว่าอาจมีการทุจริต

อีกกรณีที่อาจเข้าข่ายผิดมาตรา 157 ก็คือการปล่อยให้อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เข้ามามีบทบาทครอบงำพรรคการเมืองต่างๆ ได้เหมือนไม่ได้ถูกลงโทษอะไรเลย เพราะมีการตีความอย่างแคบว่า การตัดสิทธิทางการเมืองกินความหมายแค่การตัดสิทธิการลงรับสมัครเลือกตั้ง ตัดสิทธิการลงคะแนนน ตัดสิทธิการเป็นรัฐมนตรี ตัดสิทธิการเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่ในทางปฏิบัติอดีตกรรมการบริหารพรรคเหล่านี้กลับยังมีบทบาทในการบงการพรรคการเมืองรวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม

ที่เห็นชัดเจนคือกรณีพรรคเพื่อไทย ซึ่งทักษิณ ชินวัตร อดีตกรรมการบริหารหัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ เป็นผู้ประกาศนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งเสียเอง รวมทั้งกระทำการท้าทายกฎหมายด้วยการชูสโลแกน “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ” ซึ่ง กกต.อาจตีความแบบมักง่ายว่า ทักษิณแค่เสนอความเห็น แต่ถ้าหากนำพยานแวดล้อมอื่นๆ มาประกอบ ก็พิสูจน์ได้ไม่ยากว่า ทักษิณ ชินวัตร คือผู้บงการพรรคเพื่อไทยตัวจริง

อีกกรณีหนึ่ง ที่อาจทำให้ กกต.ชุดนี้กระทำผิดมาตรา 157 คือการเพิกเฉยต่อพรรคการเมืองที่หาเสียงด้วยวิธีการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เพื่อจูงใจให้เลือกพรรคตัวเอง ซึ่งจะเห็นว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ขนาดกลางเกือบทุกพรรคต่างเสนอนนโยบายแนวประชานิยม ลดแลกแจกแถม ซึ่งเข้าข่ายการเสนอผลประโยชน์ที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ อาทิ ให้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท,ให้เงินเดือนคนจบปริญญาตรีขั้นต้น 15,000 บาท แจกแท็บเล็ตฟรีให้เด็กนักเรียน เป็นต้น

กรณีความผิดเหล่านี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ จะนำไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ดำเนินคดีเอาผิดต่อ กกต.ทั้ง 5 คน นั่นหมายถึงว่า กกต.ชุดนี้ กำลังจะเดินไปสู่จุดจบตามรอย กกต.ชุด 3 หนาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น