xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหุ้นทุบสถิติรอบ15ปี มูลค่ารวมทะลุ9ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ตลาดหุ้นไทยทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ที่ระดับ 1,121.04 จุด บวก 16.89 จุด ขณะที่มาร์เกตแคปทะลุ 9 ล้านล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ฯ “จรัมพร” เผยเงินต่างชาติไหลเข้าหนุนดัชนีเพิ่มขึ้นสอดคล้องตลาดหุ้นภูมิภาค ตอบรับแผนแก้ปัญหาหนี้กรีซ ด้าน กนง.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ระดับเดิมที่ 4.1%

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (22 ก.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงตั้งแต่เปิดการซื้อขายในช่วงเช้า และมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวทะลุ 1,120 จุด แตะระดับสูงสุดที่ 1,121.99 จุด ต่ำสุดที่ 1113.49 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 1,121.04 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 16.89 จุด หรือคิดเป็น 1.53% มูลค่าการซื้อขาย 39,988.35 ล้านบาท

โดยดัชนีตลาดหุ้นสามารถทำลายสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี วันที่ 9 สิงหาคม 2539 ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ระดับ 1,119.93 จุด ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) อยู่ที่ 9.17 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศยังคงมีแรงซื้อเข้ามาอย่างหนาแน่น โดยมูลค่าการซื้อขายสุทธิ 4,670.68 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 724.73 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 432.41 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ขายสุทธิ 4,378.37 ล้านบาท

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันตลาดภูมิภาคที่มีกระแสเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ (Fund Flow) ซึ่งเป็นผลจากกรณีที่กลุ่มสหภาพยุโรปอนุมัติแผนช่วยเหลือปัญหาหนี้กรีซเป็นรอบที่ 2 สำเร็จ

ประกอบกับตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจากความแน่นอนทางการเมืองในประเทศ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทยอยประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง รวมถึงการรับรองน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิส อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุน

ขณะเดียวกัน ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2/54 น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี หลังจากกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

นักวิเคราะหลักทรัพย์ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากที่ประชุมผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) มีมติให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซรอบที่ 2 บวกกับในประเทศไม่มีปัจจัยที่น่าวิตก ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี และการเมืองเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนแนวโน้มสัปดาห์ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1,110-1,135 จุด

***กนง.คงจีดีพี 4.1%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ที่ระดับ 4.1% เนื่องจากขณะนี้นโยบายของรัฐบาลใหม่ยังไม่ได้ออกมาชัดเจน อย่างไรก็ตามมองว่านโยบายภาครัฐมีโอกาสจะมีการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

ทำให้ความเสี่ยงในแง่ลบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยมีมากกว่า รวมถึงต้องติดตามความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย

“นโยบายหาเสียงของรัฐบาลใหม่ที่มีผลต่อเงินเฟ้อมากที่สุด คือ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพราะมีผลต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง โดยหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด และไม่ได้สอดคล้องกับการเพิ่มผลิตภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อแรงคาดการณ์เงินเฟ้อรุนแรง โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีก็ยิ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อต่อระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก”

ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.4% จากครั้งก่อนที่ระดับ 2.3% ซึ่งการประมาณการดังกล่าวยังไม่นับรวมนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ แต่มองว่าเรื่องนี้ต้องจับตามต่อไป เพราะมาตรการกระตุ้นภาครัฐอาจเพิ่มแรงกดดันด้านอุปสงค์และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่เร่งขึ้น
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงประมาณการณ์เดิมไว้ที่ 3.9% แต่ต้องจับตาดูราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจเร่งตัวสูงขึ้นได้ หากเศรษฐกิจโลกขยายตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ต่อข้อซักถามที่ว่า เงินบาทแข็งค่าจะช่วยลดแรงกกดดันอัตราเงินเฟ้อได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง หากมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ได้ราคาถูกลง จึงส่งผลให้ต้นทุนลดลงได้บ้าง แต่เงินบาทเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้
เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจากการที่ตลาดมองภาพรวมเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ จึงคาดว่าแนวโน้มเงินบาทจะมีความผันผวนไปในลักษณะค่อนข้างแข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ปรับประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจลดลงได้แก่ การลงทุนภาครัฐขยายตัวแค่ 0.4% จากเดิม 2.1% และดุลการค้าเกินดุล 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เครื่องชี้ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 22.4% มูลค่าการนำเข้า 26.9% ดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มเป็น 11.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 10.7% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.8% การลงทุนภาคเอกชน 10% จากเดิม 24.6% และ แต่การอุปโภคภาครัฐขยายตัวเท่าเดิม 4.1%.
กำลังโหลดความคิดเห็น