ในทางเศรษฐศาสตร์ อัคคัญญสูตร มีสมมติฐานว่าในเบื้องต้นนั้น “ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์” มนุษย์หาอาหาร “เท่าที่เพียงพอ” คือเก็บมื้อกินมื้อ ไม่มีการสะสม สมมติฐานในตอนนี้หมายความว่า เศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยการแบ่งส่วนเฉลี่ยของทรัพยากรที่ขาดแคลนยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็หมายความต่อไปอีกว่า มนุษย์ยังไม่มี “ระบบ” เศรษฐกิจนั่นเอง ดังนั้น “ความอยาก” จึงเป็นต้นเหตุแห่งการนำเอาทรัพยากรมาบริโภคจนพัฒนาไปเป็น “ความโลภ” อันเป็นผลให้เกิดการ “สะสม” และการแย่งชิงผลประโยชน์ในบั้นปลาย
ความจริงในส่วนนี้ทำให้พุทธศาสนามุ่งการกำจัด “ความยาก” อย่างเกินเลย (เช่นความฟุ่มเฟือยในการบริโภค) ขจัด “ความโลภ” (เช่นการสะสม) อันเป็นเหตุให้เกิดความขาดแคลนทางปัจจัยบริโภคขึ้น ส่วนผสมในความคิดนี้เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ และการกระทำส่งผลในกรรมต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นระหว่างความคิดกับการกระทำมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า มโนกรรม หรือ “เจตนา” (Will) ที่เป็นสิ่งเชื่อมโยงต่อกัน เจตนาถูกแฝงเร้นด้วยกิเลสนานาชนิด ดังนั้น เจตนาจึงเป็นแหล่ง “สะสม” ความนึกคิดที่เป็นอกุศลทางโลกหลายชนิด เจตนาที่มีการสะสมมากๆ ก็เหมือนการสะสมรูปสมบัติ วัตถุซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทางโลกขึ้นในด้านจิตใจนั้น
การสะสมอกุศลทางโลกมากๆ เอาไว้ก็ก่อให้เกิดทุกข์ทางใจขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัสกับความขัดแย้งทางโลกมากยิ่งขึ้น ปราชญ์จิตนิยมตะวันตกผู้หนึ่ง ซึ่งสนใจในพุทธศาสนาได้ตีความหมายของคำว่า “นิพพาน” ว่าเป็นการดับสิ้น ทางเจตนา สาเหตุของความทุกข์ทรมานคือการมีเจตนาแรงกล้า ยิ่งเราผ่อนคลายความรู้สึกตลอดจนทำให้เจตนาอ่อนลง เราก็จะทุกข์ทรมานน้อยลงด้วย (The cause of suffering is intensity of will; the less we exercise will, the less we shall suffer.)
อัคคัญญสูตรได้สอนให้เรามองโลกสองด้าน ด้านหนึ่งคือด้านที่สร้างขึ้นจากความคิดทางจิตใจ ที่เรียกว่า กำหนดจากเจตนา อีกด้านหนึ่งจากความขัดแย้งทางสภาพแวดล้อมตามรูปธรรมที่มนุษย์ได้เผชิญอยู่ การกำจัดความขัดแย้งทางจิตใจนี้ หลักพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้อธิบายไว้ละเอียด แต่การกำจัดความขัดแย้งทางสภาพวิตก หรือสภาพของระบบเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ได้มีหลักพระธรรมแสดงไว้ เพราะหนทางแก้ไขความขัดแย้งทั้งมวลนั้นพระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นว่าแก้ได้โดยทางความดับของจิต ถ้าหากจะพิจารณาในแง่การเมืองและเศรษฐกิจเราก็ต้องหันกลับมาดูอัคคัญญสูตร โดยเน้นวิวัฒนาการทางด้านนี้ และค้นหาว่าในอัคคัญญสูตรภาวการณ์ขจัดความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจนั้น “เป็นไปได้” หรือไม่และอย่างไร
พระพุทธศาสนาได้ให้ข้อคิดอะไรไว้บ้าง การตีความอัคคัญญสูตรในแง่รูปโลกภาววิสัยทางวัตถุนี้ หาได้มีขอบเขตจำกัดเท่าที่มีอยู่ในหนังสือนี้ไม่ การตีความตามนัยนี้ อธิบายถึง “สภาพที่ปรากฏ” อยู่ตามคำในพระธรรม ส่วนการขยายความนั้นเป็นเรื่องของผู้เขียน ซึ่งในแนวทางแห่งการครองตนนั้น สำนึกแห่งธรรมะได้เกิดสติอยู่เสมอว่า ชีวิตอันสั้นนักของเรานั้น ไม่ใช่อยู่ที่การแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดเพื่อโภคทรัพย์และศฤงคาร แต่เป็นสัจจะแห่งความสว่างและสันติสุขจากการให้ ซึ่งมิใช่เป็นเพียงลมปากที่มนุษย์เพียงเปล่งวาจา โดยต่อหน้าเป็นอย่าง แต่ด้านหลังเป็นอีกอย่าง หลักธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือการ “สละ” ไม่ใช่ว่าให้ทิ้งโลกหรือทิ้งสุขในการครองตนแต่ประการใดไม่ ผมเห็นว่ามนุษย์นั้นอยู่กับกรรมคือการกระทำ และเป็นไปตามลิขิตแห่งกรรม
ผู้ประกอบกรรมดี โดยไม่ต้องอ้างเอาตนขึ้นอวด หรือผู้ปิดทองหลังองค์พระปฏิมาเพื่อคุณค่าแห่งคุณธรรม ก็ไม่ใช่อยู่ ณ รูปปฏิมานั้น และมิใช่ขึ้นต่อการฟังมนต์คาถา เพื่อให้หัวใจสำราญไปตามความยินดีต่อหน้าบุคคลใดๆ ไม่
แต่คุณธรรมความดี มีอยู่คู่โลกนานมาแล้วพร้อมมนุษย์ ผู้วกวนอยู่ในห้วงกิเลสตัณหาและความทะยานอยาก การสละหรือการปอกเปลือกของสรรพสิ่งออกจากจิตของเราต่างหากที่ทำให้เราหยุด เรานิ่ง เราหยุดนิ่งเพื่ออะไร คำตอบในวัฏสงสารก็คือ เราหยุดและนิ่งทางกาย วาจา และใจ ก็เพื่อมองทะลุเปลือกนอกที่เราปอกมันทิ้งไป เข้าไปค้นหาว่าสาระอันแท้จริงของมนุษย์อยู่ที่ไหนแน่