อัคคัญญสูตรกับการอธิบายสังคม
แม้พระพุทธเจ้าจะมิได้ทรงอธิบายลักษณะของวิวัฒนาการ สังคมโดยตรงก็ตาม แต่อัคคัญญสูตรมีข้อความที่เป็นระบบ (Systematic) อธิบายลักษณะการเติบโตของสังคมในชุมชน อธิบายถึงสาเหตุแห่งความขัดแย้งในมนุษย์ อธิบายถึงลักษณะของการจัดตั้งยุคบุพกาล และอธิบายถึงการก่อเกิดชนชั้นในสังคม รวมทั้งอธิบายการก่อตัวของสังคมศักดินาไว้ด้วย
นอกจากนั้นอัคคัญญสูตรก็ได้แสดงถึงวิวัฒนาการของการเกิดระบบเศรษฐกิจกล่าวคือ กฎว่าด้วยความไม่พอในปัจจัยบริโภค (Law of natural scarcity) การแบ่งผลผลิต การจัดระบบเศรษฐกิจแบบสมมติในสภาวะโบราณ
ในด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณี อัคคัญญสูตรได้อ้างจุดแรกเริ่มของข้อห้ามทางสังคม ซึ่งอาจถือเป็นกฎหมายมหาชน (Civic Law) ในต้นยุคสมัยของมนุษย์ได้ อัคคัญญสูตรให้สมมติฐานของกฎหมายว่าเกิดโดยตรงจากความขัดแย้งในมวลมนุษย์ ลักษณะของการอธิบายความในอัคคัญญสูตรจึงชี้ชัดว่า พระเจ้าไม่เคยสร้างกฎหมาย กฎธรรมชาติหรือ (Natural Law) เป็นเพียงกฎอธิบายวิวัฒนาการสังคม เศรษฐกิจและการเมืองโดยตรง
อัคคัญญสูตร (2)
จากการจำแนก แยกการวิวัฒนาการ สังคมนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งเริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสังคมพัฒนาไปเรื่อยๆ สมุหฐานของความขัดแย้งในชั้นแรกคือ การดูถูกดูหมิ่นจากความแตกต่างทางกายภาค (ร่างกายของมนุษย์) ทำให้มนุษย์เริ่มสร้างครัวเรือน และเริ่มลงมือผลิตพร้อมๆ กับการขยายปริมาณจำนวนมนุษย์ (ซึ่งเริ่มจากการเสพเมถุน) ทำให้ธรรมชาติของปัจจัยในการบริโภคเกิดขาดแคลนสังคมจึงเริ่มมีความขัดแย้งต่อกันและสังคมการเมืองจึงเกิดขึ้น
ดังนั้น ข้อสรุปเบื้องต้นของสังคมการเมือง จึงมีความหมายดังต่อไปนี้
(1) เกิดความขัดแย้งทางเผ่าพันธุ์ และทางเศรษฐกิจก่อนที่มี “การเมือง”
(2) การปกครอง เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ตกลงที่จะให้มีผู้ตัดสินความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ
(3) กฎหมายดั้งเดิมที่เกิดขึ้นก็เพื่อคุ้มครองการแย่งชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
(4) กษัตริย์เป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งในครั้งแรกที่มีชุมชน กษัตริย์คือผู้ที่จะตัดสินปัญหาทางเศรษฐกิจ ก่อนปัญหาอื่นๆ
(5) กษัตริย์เป็นสมมติบุคคลปลอดจากการผลิต แต่ได้รับผลผลิตโดยมหาชนร่วมกันแบ่งให้ ดังนั้น กษัตริย์หาใช่เจ้าของปัจจัยในการผลิตหรือเป็นผู้ครอบครองอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหมดในสังคมไม่
(6) กษัตริย์เป็นสมมติบุคคลที่มีความเจริญมากที่สุด มีบารมีและปลอดจากความขัดแย้งทางใจมากกว่าผู้อื่น จึงได้รับการยกย่อง
(7) พวกพราหมณ์ทำหน้าที่สั่งสอนให้ธรรมทางจิตใจเท่านั้นในเบื้องต้น ส่วนกษัตริย์ทำหน้าที่ความขัดแย้งทางรูปวัตถุ กษัตริย์ที่เจริญด้วยความรู้ผิดชอบที่ถูกต้องและปกครองตามธรรมนั้น ย่อมเปรียบเสมือนกษัตริย์นักปราชญ์หรือ Philosopher King
ปัญหาเรื่องความเสื่อมของสังคม
จากอัคคัญญสูตรเราทราบว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะพัฒนาจิตใจสอดคล้องไปสู่กิเลสทางรูปธรรมต่างๆ มากมาย กิเลสเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่มนุษย์มีกรรมหรือประกอบพฤติกรรมกับโลกมากขึ้นนั่นเอง ความขัดแย้งทางจิตใจจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางโลก และความขัดแย้งอย่างมีขอบเขตทางโลก โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยหลัก (ไม่ใช่ปัจจัยเดียว) ทำให้เกิดความขัดแย้งทางใจอย่างไม่รู้ประมาณอีกด้วย
ระเบียบเศรษฐกิจตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง อันนำมาถึงการฆ่าฟันกันและเป็นสงครามในบั้นปลายที่สุด ถ้าสังคมพัฒนาจากจุดที่ปลอดจากการขัดแย้งที่สุดไปสู่ความขัดแย้งสูงสุด เราอาจสามารถแยกลักษณะการแปรปริมาณและคุณภาพของความขัดแย้งทั้งทางจิตและทางวัตถุได้
ความเสื่อมของสังคมจึงน่าจะหมายถึง “ความเจริญทางวัตถุที่แบ่งกันไม่เป็นธรรม” ส่งผลให้สังคมพัฒนาความขัดแย้งทางโลกและทางจิตไปสู่สังคมที่พัฒนาขึ้นจากชุมชนไปสู่เมืองและชาติ ระเบียบสังคมงอกเงยมาจากความพยายามของมนุษย์ที่จะขจัดความขัดแย้งทั้งสองด้านโดยสิ้นเชิง แต่ทัศนะทางพุทธศาสนาเน้นว่า ความขัดแย้งนั้นเริ่มต้นจากสมมติเหตุของมนุษย์ที่เริ่มด้วย “ความอยาก” คือลองชิม “ง้วนดิน” และ “ความอยาก” ก็เป็นปัจจัยสำคัญหรือสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์วิวัฒนาการจากสัตว์มาเป็นมนุษย์ที่มีชุมชน และมีความขัดแย้งที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ (ติดตามตอนจบในสัปดาห์หน้า)