ยะลา - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ “อลงกรณ์ พลบุตร” พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดยะลา รับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐ และเอกชน ในเรื่องลอจิสติกส์ การค้า การลงทุน ประกาศภายใน 5 ปี สถานการณ์ใต้สงบ
วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมศรียะลา ชั้น 3 อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา (หลังใหม่) อ.เมือง จ.ยะลา นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ เดินทางมาร่วมประชุม และรับฟังความคิดเห็นของภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่เกี่ยวข้องทางด้านลอจิสติกส์ การค้า การลงทุน โดยมีนายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ภาคเอกชนทุกภาคส่วน ร่วมให้การต้อนรับ
โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิต และ ทรัพย์สิน วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งได้ส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจที่ขาดทุน และ ขาดแคลนแรงงาน
สำหรับการประชุมหารือ รับทราบปัญหา อุปสรรค ความคิดเห็นของภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ในครั้งนี้นั้น จะเน้นเกี่ยวกับ การวางมาตรการและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การค้าการลงทุนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยสร้างความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา เป็นอย่างมาก
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและภาคเอกชน ประกอบด้วยส่วนราชการ และผู้แทนหอการค้า เดินทางไปเยี่ยม 4 รัฐของประเทศมาเลเซีย มีความตั้งใจและมีส่วนร่วมสร้างความแจริญก้าวหน้าและสร้างอนาคตใหม่ให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยได้พบกับผู้แทนการค้าและมุขมนตรีของรัฐเปรัค กลันตัน เคดาห์และเปอร์ลิด เกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมาประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดยะลา เป็นจังหวัดสุดท้าย ซึ่งผลการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ตนจะนำเรื่องทั้งหมดที่ได้รับหารือกับรัฐชายแดนของประเทศมาเลเซียและรับฟังในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าสู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า คือ การริเริ่มโครงการใหม่ เพื่อให้เกิดความหวังใหม่ อนาคตใหม่ ในการแก้ไขปัญหาให้พ้นจากภาวะความไม่สงบ ภาวะความไม่มีอนาคต นั่นคือโครงการระเบียบเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 คือ ความร่วมมือในการพัฒนา 5 จังหวัด และ 5 รัฐของมาเลเซีย ซึ่งรวมไปถึงรัฐปีนัง ไปด้วยใน 5 สาขา ประกอบด้วยสาขาการการค้า การท่องเที่ยว การลงทุนลอจิสติกส์ และฮาลาล และตั้งเป้าหมายใน 5 ปี ทุกอย่างต้องสงบ เพราะเชื่อว่าการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ การกระจัดความยากจน การขจัดความล้าหลัง บนพื้นที่ของความร่วมมือของ 5 รัฐ และ 5 จังหวัด เพื่อเข้าสู่มิติใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่บนผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน บนความหลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จะสามารถยุติปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถาวร