ฉะเชิงเทรา- สภาอุตฯ แปดริ้ว ขอเวลาปรับตัว 1 ปี ก่อนรัฐบาลใหม่จะขยับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยขอให้คำนึงถึง"ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวง แนะให้เดินตามแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ดีกว่าเดินตามนโยบายฉาบฉวย
น.ส.อรพินท์ เสริมประภาศิลป์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และเจ้าของโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกรายใหญ่ ระดับต้นของประเทศ (ส.ประภาศิลป์ จำกัด) ซึ่งมีคนงานกว่า 2,500 คน กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลใหม่ เตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดครั้งมโหฬาร จากแต่ละพื้นที่ 150-221 บาท เป็น 300 บาทตามที่ได้เคยใช้เป็นนโยบายประชานิยมในการหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ว่า ถ้ารัฐบาลจะทำตามนโยบายนี้ขึ้นมาจริงๆ นั้น ก็สามารถทำได้แต่ต้องให้เวลาแก่ทางภาคเอกชน ผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี
การปรับตัวนั้น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทางด้านผู้ใช้แรงงานเองที่ต้องมีการพัฒนาฝีมือ หรือยกระดับให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือแรงงาน เพื่อให้เหมาะสมต่ออัตราค่าจ้างใหม่ที่แพงขึ้น หรือ บางโรงงานอุตสาหกรรมก็อาจจะต้องเลี่ยงค่าแรงที่แพงขึ้น ด้วยการหันไปใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรอุตสาหกรรม เข้ามาทดแทนแรงงาน เพื่อลดจำนวนคนงานลง หากไม่ทำเช่นนั้นสถานประกอบการจะอยู่ไม่รอด ซึ่งก็อาจส่งผลให้มีคนตกงานมากยิ่งขึ้น
น.ส.อรพินท์ กล่าวต่อไปว่า หากผู้ชนะการเลือกตั้ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยเสียงข้างมากนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล และมีเสถียรภาพก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวต่างชาติได้ แต่หลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นผู้ประกอบการส่งออกนั้นล้วนได้รับผลกระทบแล้ว จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและเชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะแข็งค่าอย่างต่อเนื่องต่อไป
ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนของชาวต่างชาติย่อมเกิดขึ้นอยู่แล้ว ที่เขาจะต้องชะลอการลงทุนลง เพราะประเทศเรามีค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจหันไปมองการลงทุนในที่แห่งใหม่ หรือประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงงานที่ถูกกว่ามาก จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราลดลงด้วย โดยเฉพาะที่สปป.ลาวที่เปิดให้นักลงทุน เข้าไปลงทุนโดยที่ไม่เสียภาษีเลยเป็นเวลานานถึง 10 ปี พร้อมกับการสนับสนุนด้านการลงทุน ในด้านอื่นๆ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีเวียดนาม และพม่า ที่เริ่มหันมาเป็นประชาธิปไตยและจะกลายเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ในอนาคต ที่นักลงทุนกำลังให้ความสนใจ
น.ส.อรพินท์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากให้รัฐบาล หรือนักการเมือง คำนึงถึงบ้างและควรนำมาใช้ คือ “ปรัชญา เศรษฐกิจ พอเพียง” ของในหลวงที่อยากให้เราอยู่ในความพอดี และน่าจะนำมาใช้อย่างจริงจัง และควรจะอยู่ในส่วนหนึ่งของนโยบายในการบริหารประเทศด้วย โดยจะทำอย่างไรให้คนเรารู้จักเพียงพอ อยู่กันอย่างพอดีในสายกลางและยืนอยู่ได้ด้วยขาของตัวเรา ประเทศเราเอง และใช้เป็นพื้นฐาน
ทั้งนี้ หากนำนโยบายแบบรัฐสวัสดิการมาใช้ตั้งแต่ต้น แล้วเราจะไม่มีจุดสิ้นสุด โดยจะมีแต่การเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ในทุกปีและจะต้องคำนึงถึงรายได้ของรัฐด้วยว่าจะหารายได้มาจากไหน เพื่อนำมาอุดหนุนในนโยบายสวัสดิการนั้นๆ ที่จะต้องเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปกู้เขามา คือ สิ่งที่อยากจะฝากไว้
สำหรับในอนาคตอันใกล้อยากให้รัฐบาลใหม่นำแผนแม่บท คือ แผน 11 มาทำเป็นแผนยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ในแต่ละเรื่องควรจะมีแผนอย่างชัดเจน เช่น ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ว่ารัฐมองอย่างไรและจะทำอย่างไรให้ออกมาเป็นแผนแม่บทอย่างจริงจัง ด้านภาคเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์ม มะม่วง เรามีแผนในเรื่องนี้อย่างไร แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานควรเป็นอย่างไร ทั้งน้ำมัน พลังงานทดแทน โดยแต่ละเรื่องควรจะมีแผน มียุทธศาสตร์อย่างชัดเจน แล้วเดินไปตามแผนนั้นและดูผลที่ได้ว่าไปตามแผนหรือไม่ อย่าให้เป็นนโยบายแบบเฉพาะหน้าที่ออกมา
น.ส.อรพินท์ กล่าวว่า หากมีแผนที่ชัดเจนรัฐบาลชุดไหนๆ ขึ้นมา ต้องเดินไปตามแผนนั้นต่อไป โดยเอาสิ่งที่ดีไว้ ไม่ว่า หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ก็สามารถที่จะเดินหน้าต่อเนื่องไปได้อย่างถูกทาง ประเทศก็จะเจริญก้าวหน้า หากมีความไม่ชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลแล้ว ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัวสูงมากในการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้ง ทั้งที่การแข่งขันภายนอกประเทศก็สูงอยู่แล้วหากใครมาเป็นรัฐบาลอยากให้ทำยุทธศาสตร์ในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน +และเดินไปตามนั้น อย่างต่อเนื่องกันไป