ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นโยบายปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาทเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยรณรงค์หาเสียง และยืนยันที่จะเริ่มทำทันที 1 ต.ค.นี้
เมื่อดูฐานเงินเดือนของข้าราชการไทยจ ากข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.พ. 2554 มีข้าราชการทั้งสิ้น 1.795 ล้านคน ลูกจ้างประจำอีก 1.86 แสนคน ในปีงบฯ 2554 รัฐบาลได้จัดสรรงบฯเตรียมไว้จ่ายเงินเดือนทั้งสิ้น 495,000 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการเบิกจ่ายงบฯในส่วนนี้ไปแล้ว 3.68 แสนล้านบาท
ปัจจุบันข้าราชการบรรจุใหม่จะได้รับเงินเดือนประมาณ 8,700 บาท ผู้จบปริญญาโท12,000 หมื่นบาทต่อเดือน และผู้จบปริญญาเอก16,200 บาทต่อเดือน
ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีมาตรการสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการในระบบที่ได้เงินเดือนน้อยกว่าข้าราชการบรรจุใหม่ โดยปรับเพิ่มเงินเดือนให้ 2 ขั้นทุกคน หรือประมาณ 6% จากนั้นก็มีการปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ 5% ในระยะต่อมา
รวมถึงกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการแบบช่วง โดยให้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงพิจารณาเลือกปัจจัย 4 ข้อ จากเกณฑ์หลักของ ก.พ. 8 ข้อ เพื่อปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนแรกบรรจุเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 สำหรับปัจจัยหลักของ ก.พ. ได้แก่ 1.มีคะแนนสอบเข้ารับราชการยอดเยี่ยม 2.มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ 3.มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเข้ารับราชการ 4.มีใบประกอบวิชาชีพ 5.บรรจุเข้ารับราชการในสาขาขาดแคลน 6.มีผลงาน หรือได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ 7.มีวุฒิการศึกษามากกว่า 1 ใบ โดยตั้งใจจะใช้กับข้าราชการที่บรรจุแลกเข้าตามวันเวลาที่ปรากฎ
แต่พอฟ้าผ่าเปรี้ยง! พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง นโยบายฐานเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาท จะต้องเกิดให้ได้
โดยในการประชุมทีมนโยบายเศรษฐกิจ มีการเสนอเรื่องนี้ต่อ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ด้วยการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาทครั้งเดียว ,ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาทภายใน 2 ปี และปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาท ภายใน 4 ปี
“ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย” ประเมินว่างบประมาณเพื่อสนับสนุนนโยบายนี้จะไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณปี 2555 ใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากจะมีการปรับงบที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่สอดคล้องกันนโยบายของพรรคเพื่อไทยมาใช้จ่ายในส่วนนี้แทน
ก่อนหน้านั้น “นนทิกร กาญจนะจิตรา” เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยอมรับว่า นโยบายดังกล่าวทำได้ไม่ยาก เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างเงินเดือนของระบบข้าราชการแบ่งเป็น 4 ประเภท (แท่ง) ได้แก่ แท่งบริหาร อำนวยการ วิชาการ และทั่วไป ซึ่งอัตราเงินเดือนแต่ละแท่งก็แบ่งเป็นขั้นต่ำถึงขั้นสูงสุด
ปัจจุบันเงินเดือนบรรจุข้าราชการใหม่อยู่ที่ 9,100 บาทต่อเดือน และ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กำหนดให้ปรับขึ้นเงินเดือนในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่เกินร้อยละ 10 ถ้าเกินกว่านั้น จะต้องเสนอรัฐบาลแก้ไขกฎหมาย ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะมีการปรับเงินเดือนข้าราชการสูงถึงร้อยละ 50 จะต้องปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการใหม่ทั้งหมด รวมทั้งแก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หรือออกเป็นพระราชกฤษฎีกามารองรับในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีข้าราชการพลเรือนสังกัด ก.พ.อยู่ทั้งสิ้น 4 แสนคน และข้าราชการพลเรือนสังกัดหน่วยงานอื่นๆ อีก 1.6 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 2 ล้านคน ซึ่งการปรับเงินเดือนข้าราชการคงต้องทำให้ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะข้าราชการบรรจุใหม่ แต่ข้าราชการที่มีอยู่เดิมก็ต้องได้รับการปรับเงินเดือนบวกประสบการณ์ด้วยเช่นกัน โดยก.พ.ได้สำรวจและวิเคราะห์อัตราเงินเดือนที่ควรปรับใหม่แล้ว
อย่างไรก็ตาม “ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย” ยังกังวล ในเรื่องของกลุ่มที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป แต่เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ที่มีอยู่ประมาณ 138,000 คน เพราะกลุ่มนี้อาจจะถูกเด็กเข้าใหม่แซง และกระทบไปถึงกลุ่มที่จบปริญญาโทกินเงินเดือน 13,000 บาท และปริญญาเอกที่ได้รับเงินเดือน 16,000 บาทอีกด้วย
ตรงนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า “อาจมีปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมกับผู้ที่เข้ารับราชการก่อนหน้านี้”
ทำให้มีข้อเสนอ “ขึ้นเงินเดือนให้อยู่ในรูปเงินเพิ่มช่วยเหลือค่าครองชีพพิเศษ” เน้นเด็กจบใหม่
มีการวิเคราะห์ว่า ผู้ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท จะมีเงินเพิ่มช่วยเหลือค่าครองชีพเข้าไปเติมให้จนเต็ม ส่วนผู้ที่เงินเดือนเกินแล้วก็ไม่ได้ โดยเมื่ออยู่ไปนาน ๆ เงินเดือนขึ้นไปเรื่อย ๆ เงินเพิ่มฯก็จะลดลงจนกระทั่งเงินเดือนเกิน 15,000 บาท เป็นต้น หากใช้วิธีนี้จะต้องใช้งบฯเพิ่มอีกปีละ 12,000 ล้านบาท
อย่างไรก้ตามที่ว่ามานี้ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 เพราะกฎหมายกำหนดให้การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการปรับได้ไม่เกิน 10% หากปรับมากกว่านั้นก็ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
ประกอบกับข่าวที่“พรรคเพื่อไทย” เตรียมที่จะรื้องบประมาณปี 2555 โดยเฉพาะที่กระทบกับเงินเดือนข้าราชการซึ่งเป็นงบด้านบุคลากร.