**จากบทบาทผู้กำกับดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และมีความถูกต้องชอบธรรมให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แต่วันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับต้องตกอยู่ในฐานะ“จำเลยสังคม” จากการที่มีส่วนสำคัญทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 เข้าข่ายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
จนมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เพิกถอนการเลือกตั้งที่ผ่านมา และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และหนักถึงขั้น “ถอดถอน” กรรมการทั้ง 5 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับได้
ยกตัวอย่างกรณีการวินิจฉัยว่า ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนขอเปลี่ยนแปลงสิทธิ์การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไม่สามารถมาใช้สิทธิ์ได้ในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องตกเป็นผู้เสียหายโดยตรง และได้นำเรื่องขึ้นร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ไปแล้วนั้น
กรณีของ พล.ต.จำลอง ถือเป็นเพียงกรณีตัวอย่าง เพราะในความเป็นจริงมีประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอีกกว่า 2 ล้านคน ที่ต้อง “เสียสิทธิ์” เฉกเช่นเดียวกับ พล.ต.จำลอง และถือเป็นจำนวนที่มาก จนอาจสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ในหลายพื้นที่ หรือตามที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ประเมินว่า หากคนกลุ่มนี้ได้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง อาจมีผลเปลี่ยนแปลงมากถึง 50-70 เขตเลือกตั้งเลยทีเดียว
ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น “ข้อบกพร่อง” ของ กกต. ต่อกรณีที่วินิจฉัยโดยอ้างหลักการทางกฎหมาย แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา และอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างกับการเลือกตั้งมื่อ 23 ธ.ค.50 ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของ กกต.ชุดนี้เช่นกัน
โดยในการเลือกตั้ง 3 ก.ค.นี้ เป็นการเลือกตั้งแบบ “เขตเดียวเบอร์เดียว” และในระบบบัญชีรายชื่อก็เป็นแบบ “เขตใหญ่” ทั่วประเทศ ทั้งยังมีการเพิ่มจำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อจาก 80 เป็น 125 ที่นั่ง ลดจำนวนเขตลง จาก 400 เหลือ 375 ที่นั่ง เบ็ดเสร็จรวมเป็น 500 ที่นั่ง ซึ่งเป็นผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการยุบสภาไม่นาน
ขณะที่การเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 นั้น เป็นแบบ “เขตใหญ่เรียงเบอร์” มี ส.ส.ได้ 400 คนและในระบบบัญชีรายชื่อก็เป็นแบบ “แบ่งโซน” ทั้งหมด 8 โซนทั่วประเทศ โดยมีส.ส.โซนละ 10 ที่นั่ง รวมเป็น 80 คน เบ็ดเสร็จคือ 480 คน
ด้วยรายละเอียดของการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลง “ขนานใหญ่” ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นความประสงค์ของบรรดา “นักเลือกตั้ง” ดังนั้นกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ จึงควรที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมไปด้วย หรือพูดง่ายๆว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเช่นนี้ “สิทธิ” ของประชาชนก็ควรที่จะไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่เช่นกัน
กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงในการออกมาตรการรองรับรายละเอียดที่แก้ไขตามกฎหมายใหม่ เพื่อให้การเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับ แต่กลับ “ตะแบง” ยืนยันที่จะใช้วิธีการเดิมตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ไม่ “ใยดี” ต่อผู้เสียสิทธิ์ และผลเสียที่จะตามมา ซึ่งเมื่อกกต.ทำงานไร้ประสิทธิภาพ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงเช่นนี้ ก็ต้องก้มหน้ายอมรับผลที่ตามมาเช่นกัน เพราะเชื่อว่าที่สุดแล้วก็จะมีผู้ไปร้องเอาผิดทางอาญากับทั้ง 5 กกต. ฐานละเว้น และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ซ้ำร้าย กกต.ยัง “แผลงฤทธิ์” ในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อ“ปล่อยผี” ส.ส.ชุดแรกออกมาเพียง 358 จากทั้งหมด 500 คน โดยไม่ปรากฏชื่อคนสำคัญอย่าง มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 พรรคประชาธิปัตย์ และ ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เบอร์ 1 จากค่ายเพื่อไทย ซึ่งติดข้อร้องเรียนอยู่
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่าการปฏิเสธที่จะรับรองหรือ “แขวน” ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อีก 10 คน ที่เป็น “แกนนำคนเสื้อแดง” ทั้ง จตุพร พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-เหวง โตจิราการ-ก่อแก้ว พิกุลทอง-วิภูแถลง พัฒนภูมิไท เป็นต้น โดยคนเหล่านี้ถูกร้องเรียนจากกรณีเคยผ่านการถูก “คุมขัง” ในฐานะผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย จนผู้ร้องเห็นว่า อาจพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพ ตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทย และไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ต้องสังกัดพรรค
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง หรือไม่ใช่เรื่องใหม่นั่นเอง ซึ่งกกต.ก็เป็นผู้ที่พิจารณารับรองสถานะความเป็นผู้สมัครให้แก่บุคคลเหล่านี้เอง โดยมิได้โต้แย้งเรื่องนี้ในชั้นการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร
** จึงเป็นความ “มักง่าย” ของ กกต.อย่างปฏิเสธไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
และเมื่อ กกต.มีความมั่นใจในข้อกฎหมาย และการพิจารณาของตัวเองให้เป็นผู้สมัครไปแล้ว ก็ควรที่จะประกาศรับรองสถานะความเป็นส.ส.ให้แก่บุคคลเหล่านี้ทั้งหมด การไม่ประกาศรับรองโดยอ้างว่า มีผู้ร้องเรียนเข้ามาภายหลัง ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และเข้าข่ายความพยายามกลั่นแกล้ง ทำให้ตัวเองกลายสภาพเป็น “ไผ่ลู่ลม” ที่ไหวไปตามกระแส ทั้งที่น่าจะเป็น “ต้นไม้ใหญ่” ที่ไม่สะทกสะท้านต่อพายุฝนที่กระหน่ำเข้ามา
กกต.ควรตระหนักว่า ตัวเองไม่ควรเป็น “ตัวเร่ง” ทำให้สถานการณ์ “กระเพื่อม” จนอาจเปิดช่องให้แนวร่วมคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้ง ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง พยายามหาเหตุในการออกมาสร้างความปั่นป่วน และหาเหตุในการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว
** การตัดสินใจของ กกต. ก็ไม่ต่างกับการ “โยนฟืนเข้ากองไฟ” ด้วยน้ำมือตัวเอง
ไม่อยากนึกภาพว่า หาก กกต.ประกาศไม่รับรอง หรือประกาศให้ “ใบแดง” ทั้ง 10 แกนนำเสื้อแดงเมื่อไร ก็เท่ากับเป็นการ “กลับคำตัดสิน” ของตัวเอง ผลที่ตามย่อมหนีไม่พ้นความปั่นป่วนวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น อย่างแน่นอน
และก็ไม่น่าเชื่อว่า กกต.ในวันนี้ ที่มีอำนาจคับประเทศ สามารถกำหนดทิศทางอนาคตของชาติได้ กลับมีพฤติการณ์ที่เข้าข่าย “ตัวถ่วง” ความก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งเหยียบย่ำทำลาย มิให้ประชาธิปไตยได้ผุดได้เกิดเสียเอง ทั้งที่ทั้ง “5 เสือ กกต.” ถือเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ และความรู้ด้านกฎหมายอย่างหาตัวจับยาก แต่กลับต้องมา “ตายน้ำตื้น” ด้วยน้ำมือของตัวเองจากการตีความบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม จึงน่าเป็นห่วง “ชะตากรรม” ของประเทศ ที่ตกอยู่ในกำมือของ กกต.ชุดนี้ เป็นอย่างมาก
** ส่วน “ชะตากรรม” ของ 5 เสือ กกต.จะ “จบไม่สวย” เหมือนรุ่นพี่ “3 หนา 5 ห่วง” หรือไม่ ต้องติดตาม...
จนมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เพิกถอนการเลือกตั้งที่ผ่านมา และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และหนักถึงขั้น “ถอดถอน” กรรมการทั้ง 5 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับได้
ยกตัวอย่างกรณีการวินิจฉัยว่า ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนขอเปลี่ยนแปลงสิทธิ์การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไม่สามารถมาใช้สิทธิ์ได้ในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องตกเป็นผู้เสียหายโดยตรง และได้นำเรื่องขึ้นร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ไปแล้วนั้น
กรณีของ พล.ต.จำลอง ถือเป็นเพียงกรณีตัวอย่าง เพราะในความเป็นจริงมีประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอีกกว่า 2 ล้านคน ที่ต้อง “เสียสิทธิ์” เฉกเช่นเดียวกับ พล.ต.จำลอง และถือเป็นจำนวนที่มาก จนอาจสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ในหลายพื้นที่ หรือตามที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ประเมินว่า หากคนกลุ่มนี้ได้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง อาจมีผลเปลี่ยนแปลงมากถึง 50-70 เขตเลือกตั้งเลยทีเดียว
ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น “ข้อบกพร่อง” ของ กกต. ต่อกรณีที่วินิจฉัยโดยอ้างหลักการทางกฎหมาย แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา และอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างกับการเลือกตั้งมื่อ 23 ธ.ค.50 ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของ กกต.ชุดนี้เช่นกัน
โดยในการเลือกตั้ง 3 ก.ค.นี้ เป็นการเลือกตั้งแบบ “เขตเดียวเบอร์เดียว” และในระบบบัญชีรายชื่อก็เป็นแบบ “เขตใหญ่” ทั่วประเทศ ทั้งยังมีการเพิ่มจำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อจาก 80 เป็น 125 ที่นั่ง ลดจำนวนเขตลง จาก 400 เหลือ 375 ที่นั่ง เบ็ดเสร็จรวมเป็น 500 ที่นั่ง ซึ่งเป็นผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการยุบสภาไม่นาน
ขณะที่การเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 นั้น เป็นแบบ “เขตใหญ่เรียงเบอร์” มี ส.ส.ได้ 400 คนและในระบบบัญชีรายชื่อก็เป็นแบบ “แบ่งโซน” ทั้งหมด 8 โซนทั่วประเทศ โดยมีส.ส.โซนละ 10 ที่นั่ง รวมเป็น 80 คน เบ็ดเสร็จคือ 480 คน
ด้วยรายละเอียดของการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลง “ขนานใหญ่” ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นความประสงค์ของบรรดา “นักเลือกตั้ง” ดังนั้นกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ จึงควรที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมไปด้วย หรือพูดง่ายๆว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเช่นนี้ “สิทธิ” ของประชาชนก็ควรที่จะไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่เช่นกัน
กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงในการออกมาตรการรองรับรายละเอียดที่แก้ไขตามกฎหมายใหม่ เพื่อให้การเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับ แต่กลับ “ตะแบง” ยืนยันที่จะใช้วิธีการเดิมตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ไม่ “ใยดี” ต่อผู้เสียสิทธิ์ และผลเสียที่จะตามมา ซึ่งเมื่อกกต.ทำงานไร้ประสิทธิภาพ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงเช่นนี้ ก็ต้องก้มหน้ายอมรับผลที่ตามมาเช่นกัน เพราะเชื่อว่าที่สุดแล้วก็จะมีผู้ไปร้องเอาผิดทางอาญากับทั้ง 5 กกต. ฐานละเว้น และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ซ้ำร้าย กกต.ยัง “แผลงฤทธิ์” ในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อ“ปล่อยผี” ส.ส.ชุดแรกออกมาเพียง 358 จากทั้งหมด 500 คน โดยไม่ปรากฏชื่อคนสำคัญอย่าง มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 พรรคประชาธิปัตย์ และ ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เบอร์ 1 จากค่ายเพื่อไทย ซึ่งติดข้อร้องเรียนอยู่
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่าการปฏิเสธที่จะรับรองหรือ “แขวน” ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อีก 10 คน ที่เป็น “แกนนำคนเสื้อแดง” ทั้ง จตุพร พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-เหวง โตจิราการ-ก่อแก้ว พิกุลทอง-วิภูแถลง พัฒนภูมิไท เป็นต้น โดยคนเหล่านี้ถูกร้องเรียนจากกรณีเคยผ่านการถูก “คุมขัง” ในฐานะผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย จนผู้ร้องเห็นว่า อาจพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพ ตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทย และไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ต้องสังกัดพรรค
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง หรือไม่ใช่เรื่องใหม่นั่นเอง ซึ่งกกต.ก็เป็นผู้ที่พิจารณารับรองสถานะความเป็นผู้สมัครให้แก่บุคคลเหล่านี้เอง โดยมิได้โต้แย้งเรื่องนี้ในชั้นการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร
** จึงเป็นความ “มักง่าย” ของ กกต.อย่างปฏิเสธไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
และเมื่อ กกต.มีความมั่นใจในข้อกฎหมาย และการพิจารณาของตัวเองให้เป็นผู้สมัครไปแล้ว ก็ควรที่จะประกาศรับรองสถานะความเป็นส.ส.ให้แก่บุคคลเหล่านี้ทั้งหมด การไม่ประกาศรับรองโดยอ้างว่า มีผู้ร้องเรียนเข้ามาภายหลัง ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และเข้าข่ายความพยายามกลั่นแกล้ง ทำให้ตัวเองกลายสภาพเป็น “ไผ่ลู่ลม” ที่ไหวไปตามกระแส ทั้งที่น่าจะเป็น “ต้นไม้ใหญ่” ที่ไม่สะทกสะท้านต่อพายุฝนที่กระหน่ำเข้ามา
กกต.ควรตระหนักว่า ตัวเองไม่ควรเป็น “ตัวเร่ง” ทำให้สถานการณ์ “กระเพื่อม” จนอาจเปิดช่องให้แนวร่วมคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้ง ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง พยายามหาเหตุในการออกมาสร้างความปั่นป่วน และหาเหตุในการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว
** การตัดสินใจของ กกต. ก็ไม่ต่างกับการ “โยนฟืนเข้ากองไฟ” ด้วยน้ำมือตัวเอง
ไม่อยากนึกภาพว่า หาก กกต.ประกาศไม่รับรอง หรือประกาศให้ “ใบแดง” ทั้ง 10 แกนนำเสื้อแดงเมื่อไร ก็เท่ากับเป็นการ “กลับคำตัดสิน” ของตัวเอง ผลที่ตามย่อมหนีไม่พ้นความปั่นป่วนวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น อย่างแน่นอน
และก็ไม่น่าเชื่อว่า กกต.ในวันนี้ ที่มีอำนาจคับประเทศ สามารถกำหนดทิศทางอนาคตของชาติได้ กลับมีพฤติการณ์ที่เข้าข่าย “ตัวถ่วง” ความก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งเหยียบย่ำทำลาย มิให้ประชาธิปไตยได้ผุดได้เกิดเสียเอง ทั้งที่ทั้ง “5 เสือ กกต.” ถือเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ และความรู้ด้านกฎหมายอย่างหาตัวจับยาก แต่กลับต้องมา “ตายน้ำตื้น” ด้วยน้ำมือของตัวเองจากการตีความบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม จึงน่าเป็นห่วง “ชะตากรรม” ของประเทศ ที่ตกอยู่ในกำมือของ กกต.ชุดนี้ เป็นอย่างมาก
** ส่วน “ชะตากรรม” ของ 5 เสือ กกต.จะ “จบไม่สวย” เหมือนรุ่นพี่ “3 หนา 5 ห่วง” หรือไม่ ต้องติดตาม...