xs
xsm
sm
md
lg

กนง.ขึ้นดอกเบี้ยรับมือเงินเฟ้อพุ่ง"ประสาร"วอนรัฐบาลคุมหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ประชุม กนง.วันนี้ (13 ก.ค.) ไม่มีทางเลือก ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าแบงก์ชาติยอมรับเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยหลักที่น่าห่วงทั้งราคาสินค้า น้ำมันและแรงคาดการณ์เงินเฟ้อจ่อปรับสูงขึ้น แนะรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญปัญหาหนี้สาธารณะ หวั่นซ้ำรอยปัญหาหนี้ในต่างประเทศ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 13 ก.ค.นี้ ทีมสายนโยบายการเงินของ ธปท.จะนำข้อมูลล่าสุดในรอบด้านทางเศรษฐกิจทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศนำมารายงานให้แก่ กนง.รับทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณา ก็ยังคงเป็นความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สินในกลุ่มประเทศหลัก

ขณะที่ปัจจัยสำคัญภายในประเทศไทย คือ อัตราเงินเฟ้อแม้ข้อมูลเดือนล่าสุดอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาอาหารและน้ำมัน รวมไปถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตอาจจะสูงขึ้น จากนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จากการใช้จ่ายงบประมาณที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ธปท.จะต้องติดตาม เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อในอนาคตสูงขึ้น ฉะนั้นเรื่องเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ธปท.จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

"เท่าที่ไปประชุมองค์การระหว่างประเทศทั่วโลก รวมถึงประชุมธนาคารโลก พบว่า ทุกประเทศกำลังติดตามสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจุดสำคัญที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร โดยทุกฝ่ายรวมถึงธปท.เองก็กำลังศึกษาเหตุผล หรือที่มาของปัญหาหนี้สินหนี้ของประเทศหลักว่าที่แท้จริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร" นายประสารกล่าว

โดยขณะนี้เป็นสถานการณ์ ที่ยากลำบากกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดล๊อคไปหมดทุกอย่างจนไม่สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ รวมถึงยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อกับสภาคองเกรส ในการอนุมัติขยายเพดานหนี้ประเทศเพิ่มจาก 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยไม่ให้สหรัฐฯผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ได้

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาในกรีซที่สถานการณ์ยากลำบากไม่แพ้กัน ประกอบกับปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือต่างๆ อยู่มาก ส่วนประเทศไอร์แลนด์ จุดเริ่มต้นหากไม่ไปรับประกันหนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ไว้ ประเทศก็จะไม่เจอปัญหาหนี้สาธารณะขนาดใหญ่โตเช่นนี้ ด้านประเทศญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาหนี้สาธารณะเต็มเพดานเช่นกัน และเมื่อประเทศญี่ปุ่นต้องมาประสบภัยสึนามิส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยเอง ก็ต้องติดตามดูว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่จะตระหนักถึงเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันก็หวังว่าไทยจะไม่เกิดปัญหาแบบกลุ่มประเทศหลักเหล่านั้น ซึ่งจุดสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยจะประสบปัญหาเหล่านี้ได้ ก็คือ การดำเนินนโยบายการคลังที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็ต้องคอยติดตามดูตัวเลข การขาดดลุงบประมาณ ระดับหนี้สาธารณะ รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น