xs
xsm
sm
md
lg

เคลิ้มยิ่งลักษณ์สุขล้นเอ่อ หวัง"ประชานิยม"อย่าเป็นแค่ลมปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความสุขคนไทยหลังเลือกตั้ง และนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สระบุรี ราชบุรี ปทุมธานี ชลบุรี น่าน กำแพงเพชร นครสวรรค์ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ขอนแก่น สงขลา และสุราษฎร์ธานี จำนวน 2,562 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 - 9 ก.ค. 54 ที่ผ่านมา พบว่า

หลังการเลือกตั้งที่ผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness) หรือที่เรียกว่า GDH เพิ่มสูงขึ้นจาก 6.61 ในเดือนมี.ค.54 มาอยู่ที่ 7.55 ในเดือนก.ค. 54 และเป็นค่าความสุขมวลรวมที่สูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันในปี52 ที่ 5.92 และปี 53 ที่ 6.77 อีกด้วย
ผลสำรวจยังพบว่า มีสิ่งที่สาธารณชนต้องการให้พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ “ทำทันที” ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ประชาชนส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 93.7 ระบุสิ่งที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทย “ทำทันที” คือ ปราบปรามยาเสพติด มาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ร้อยละ 90.9 ให้สร้างความปรองดองของคนในชาติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข อันดับที่ สาม ถึง เก้า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของประชาชนทั้งสิ้น
ที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยทำทันที ได้แก่ ร้อยละ 89.5 ลดราคาน้ำมันเบนซิน 6 – 7 บาทต่อลิตร และ ลดดีเซลลง 2 บาทต่อลิตร อันดับที่สี่ ได้แก่ ร้อยละ 85.5 นำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาใช้ใหม่ อันดับที่ห้า ได้แก่ ร้อยละ 74.0 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน อันดับรองๆ ลงไป ได้แก่ จำนำข้าวเปลือกขาว 15,000 บาทต่อเกวียน ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาทต่อเกวียน ขึ้นเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรีเริ่มขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน พักหนี้สำหรับผู้มีหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพิ่มกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเงินตำบลละหนึ่งล้านบาท และทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ แถวสมุทรสาครและสมุทรปราการ โดยไม่ต้องกู้ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่พรรคเพื่อไทย เคยหาเสียงไว้และอยากให้ทำทันทีอื่นๆ อีก เช่น ทำรถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สาย คิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำรถไฟความเร็วสูงไปโคราช ระยอง จันทบุรี แจกคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ให้เด็กนักเรียนทุกคน และออกบัตรเครดิตการ์ดให้เกษตรกร เป็นต้น
เมื่อถามถึงความมั่นใจของประชาชนต่อพรรคเพื่อไทยจะมุ่งมั่นทำงานให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกของตนเอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.4 ค่อนข้างมั่นใจ ถึงมั่นใจ แต่ที่น่าพิจารณาคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 41.6 ยังไม่ค่อยมั่นใจ ถึงไม่มั่นใจ ยิ่งไปกว่านั้น เกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.5 ยังคิดว่า ปัญหาคอร์รัปชั่น จะเหมือนเดิม และร้อยละ 20.3 จะเพิ่มขึ้น แต่เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.2 คิดว่าจะลดน้อยลง
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.6 สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ตัวเลขที่สนับสนุนที่สูงขนาดนี้ ค่อนข้างใกล้เคียงกับฐานสนับสนุนของสาธารณชนที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการเลือกตั้งครั้งแรกที่เขาได้รับ และในศาสตร์ด้านการทำสำรวจถือว่า เป็นฐานเสียงสนับสนุนที่มากพอต่อการผลักดันนโยบายต่างๆได้โดยง่าย และผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 71.0 ก็สนับสนุนให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปอีกด้วย
นายนพดล กล่าวว่า ความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นการรวมพรรคการเมืองต่างๆ จัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย และเห็นชัดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีเสถียรภาพเพื่อทำให้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน แต่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คือ การรวมตัวกันของพรรคการเมืองต่างๆ จนได้ 299 หรือ 300 เสียง จะเป็นหลักประกันเสถียรภาพของรัฐบาลที่แท้จริงหรือไม่
"ผู้วิจัยมองว่า สิ่งที่จะบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลและต้องให้ระวังคือ “อคติแห่งนครา” อันเป็นแหล่งรวมศูนย์อำนาจ และความทรงอิทธิพลของกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม ที่สามารถกดดันการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองได้ และมักจะมีอิทธิพลอยู่ในเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ของประเทศ หรืออาจอยู่ในต่างประเทศ โดยคนกลุ่มนี้พยายามกดดันการตัดสินใจของผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลให้ทำสิ่งที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของ
ประชาชนทั้งประเทศ ในขณะที่ภาคประชาชนอ่อนแอเกินที่จะต่อรองได้ และจะถูกใช้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีเกมการเมือง” ที่ห้ำหั่นกัน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายโดยรวมของประเทศและอาจทำให้เกิด “วัฏจักรแห่งความเลวร้าย” ในสังคมไทย ที่สร้างความแตกแยกของคนในชาติ ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ต้อง “หยุดอคติแห่งนครา” เสีย และหันมาส่งเสริมมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมเข้มแข็งอย่างแท้จริงมาเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ เตรียมตัวเป็นผู้นำเปิดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคอาเซียน และนานาชาติในอีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของสาธารณชน" นายนพดล กล่าว

** รัฐบาล 300 เสียงมั่นคง

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ กรณีการจัดตั้งรัฐบาลและจัดสรรรัฐมนตรี โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,561 คน ระหว่างวันที่ 7-9 ก.ค. 54
ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ 55.38 % ประชาชนเห็นด้วยกับการที่พรรคเพื่อไทยรวมพรรคการเมือง 6 พรรคตั้งรัฐบาล 300 เสียง เพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาล ,จะได้เดินหน้าทำงานตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน ฯลฯ ขณะที่ 27.35 % ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการผูกขาดทางการเมือง , ฝ่ายค้านไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ และ 17.27 % ไม่แน่ใจ เพราะการที่มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือมีความเห็นไม่ตรงกัน , ควรดูกันที่ผลงาน และความตั้งใจในการทำงานมากกว่าฯลฯ
ส่วนการที่มีส.ส. ฝ่ายรัฐบาลถึง 300 เสียง จาก 500 เสียง ประชาชนคิดว่าจะเป็น"เผด็จการรัฐสภา" หรือไม่ ความเห็นส่วนใหญ่ 64.94 % มองว่าไม่เป็นเผด็จการรัฐสภา เพราะเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่รัฐบาลต้องกุมเสียงข้างมากไว้ เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล , การเมืองปัจจุบัน ถ้าบริหารไม่ดี หรือขาดความโปร่งใส สังคมก็จะเป็นผู้ตัดสินเอง ขณะที่ 35.06 % เห็นว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา เพราะเป็นความตั้งใจของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการกุมเสียงข้างมากในสภาไว้ , ทำให้ไม่สามารถคัดค้านหรือถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลได้
สำหรับความมั่นใจของประชาชน ต่อเสถียรภาพ หรือความมั่นคงของรัฐบาลชุดนี้ ส่วนใหญ่ค่อนข้างมั่นใจ ถึงมั่นใจว่า เพราะรัฐบาลชุดนี้มีคนที่มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก เชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศได้ตามที่สัญญาไว้ และการเลือกตั้งครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นการพิสูจน์ฝีมือของว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรัฐบาลชุดใหม่ แต่มี 25.11 % ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะจากกระแสข่าวรัฐบาลชุดใหม่เริ่มมีปัญหา หรือความขัดแย้งภายในกันเอง มีการเรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม และไม่มั่นใจเลย 17.04 % เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไทยทุกวันนี้ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ยังมีคนบางกลุ่มที่เรียกร้องหรือไม่ต้องการให้รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศ

** ต้องเลิกแจกเก้าอี้ตามโควตา

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าการจัดสรรรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไม่ควรจัดสรรตำแหน่งตามโควตาของแต่ละพรรค แต่ละกลุ่มที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นส.ส. แต่ควรพิจารณาตามคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถของผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งในแต่ละกระทรวง , อยากให้พรรคร่วมแต่ละพรรคคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ยึดติดกับเก้าอี้
รองลงมาเห็นควรจัดสรรตามโควต้า 43.76 % เพราTเป็นมารยาททางการเมืองที่ปฏิบัติกันมา เพื่อป้องกันความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ฯลฯ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการเสนอตัวเป็น “รัฐมนตรี" ของนักการเมืองในขณะนี้ อันดับ 1 ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ควรใช้เกณฑ์ในการพิจารณาตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเหมาะสม ชัดเจน และมีมาตรฐานเดียวกัน 27.76 % อันดับ 2 ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มีความยุ่งยาก ล่าช้ามากขึ้น ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล 21.74% อันดับ 3 ตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งสำคัญที่มีทั้งอำนาจ และผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ใครๆก็อยากเป็น 20.29 % อันดับ 4 เป็นสิทธิของแต่ละคนที่ต้องการเสนอตัวเข้าทำงาน ต้องการพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้เห็น 16.04 % และ อันดับ 5 ควรฟังเสียงของประชาชนด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ดี ก็สามารถปรับครม.ชุดใหม่ได้ 14.17 %
กำลังโหลดความคิดเห็น