xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 ก.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “เพื่อไทย” คว้าชัยเลือกตั้ง ได้ 265 เสียง ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ประกาศจับมือ 6 พรรคตั้งรัฐบาล 300 เสียง!
 บรรยากาศการจับมือ 5 พรรคจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดึงพรรคประชาธิปไตยใหม่มาร่วมอีก 1 พรรคในภายหลัง(4 ก.ค.)
หลังการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ผ่านพ้นไป คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35 ล้านคนเศษ จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเกือบ 47 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75.03 สำหรับบัตรเสียมีประมาณ 3.7 ล้านใบ ส่วนบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน(โหวตโน)มีประมาณ 2.3 ล้านใบ ส่วนจำนวน ส.ส.ของพรรคต่างๆ ที่ได้รับเลือกตั้งนั้น ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยมีผู้สมัคร ส.ส.ได้รับเลือกมากถึง 265 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 159 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย 34 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 19 คน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 7 คน พรรคพลังชล 7 คน พรรครักประเทศไทย 4 คน พรรคมาตุภูมิ 2 คน ขณะที่พรรครักษ์สันติ พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ได้พรรคละ 1 คน ทั้งนี้ กกต.จะประกาศรับรองผลการเป็น ส.ส.ของผู้ที่ไม่ถูกร้องเรียนภายใน 7 วัน หรือภายในวันที่ 12 ก.ค.นี้ ส่วนผู้ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกร้องคัดค้านผลการเลือกตั้ง กกต.จะตรวจสอบและประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังเลือกตั้ง หรือก่อนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับผู้ที่ถูกร้องเรียนที่น่าสนใจได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 8 พรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะได้เป็น ส.ส.ด้วย แต่เกิดปัญหาว่า นายจตุพรถูกคุมขังอยู่ในคุก ในฐานะผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ที่ถูกศาลถอนการประกันตัว จึงถูกคุมขังตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค. นายจตุพรก็ไม่สามารถออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะศาลไม่อนุญาต จึงเกิดปัญหาว่านายจตุพรยังมีคุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส.หรือไม่ โดยมีผู้เข้ายื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของนายจตุพร คือ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ซึ่งเห็นว่านายจตุพรไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้ เนื่องจากถูกคุมขังโดยหมายของศาล ทำให้นายจตุพรเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และทำให้ขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เมื่อไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็ไม่สามารถเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ด้าน กกต.เตรียมพิจารณาคุณสมบัติของนายจตุพรวันที่ 12 ก.ค.นี้

ส่วนการฟอร์มรัฐบาลนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และว่าที่นายกรัฐมนตรี ได้เปิดแถลง(4 ก.ค.)จับมือ 5 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม 299 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา-พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน-พรรคพลังชล และพรรคมหาชน แต่ภายหลังได้ทาบทามพรรคประชาธิปไตยใหม่มาร่วมรัฐบาลอีก 1 พรรค 1 เสียง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงมากถึง 300 เสียง

อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า อาจเกิดกลุ่มงูเห่าในพรรคภูมิใจไทย คือ กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา ซึ่งมี ส.ส.ในมือ 7 คน ที่อาจจะแยกตัวไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธว่าจะรับกลุ่มนายสมศักดิ์เข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่ดูเหมือนกลุ่มนายสมศักดิ์จะพยายามเอาใจพรรคเพื่อไทย โดยมีข่าวว่า จะให้ ส.ส.ในกลุ่มโหวตหนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อที่อาจจะได้เข้าร่วมรัฐบาลในอนาคต

สำหรับโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ ขณะนี้ยังไม่นิ่ง โดยบรรดา ส.ส.ของพรรคต่างวิ่งกันฝุ่นตลบ บางส่วนถึงกับเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันมีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณเกี่ยวกับโผ ครม.เช่นกัน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ออกมาปฏิเสธ โดยบอกว่า คนที่จะจัดตั้งรัฐมนตรีอยู่ในไทย ไม่ใช่ต่างประเทศ

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศจะเดินหน้า 6 ภารกิจเร่งด่วน โดยจะดำเนินการทันทีหลังแถลงนโยบายต่อสภา ได้แก่ 1.ยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเฉพาะน้ำมันบางชนิด เช่น เบนซิน 95 ลดลง 7.50 บาท เบนซิน 91 ลดลง 6.70 บาท ดีเซล ลดลง 2.20 บาท 2.แก้ไขปัญหาของแพง 3.จัดทำระบบประกันสุขภาพใหม่เกี่ยวกับ 30 บาทรักษาทุกโรค 4.แก้ไขปัญหายาเสพติด 5.เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และ 6.เริ่มดำเนินการตามแผนปรองดอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเดินหน้านโยบายปรองดองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดา ในฐานะพี่ชาย ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า งานสำคัญที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องทำเป็นลำดับต้นๆ ก็คือ สร้างความปรองดอง เพราะเชื่อว่าถ้าสร้างความปรองดองสำเร็จ การแก้ไขปัญหาของประเทศก็จะง่ายขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังให้สัมภาษณ์ข้ามประเทศผ่านสื่อมวลชนไทยด้วยว่า อยากกลับประเทศ แต่ถ้ากลับแล้วเกิดปัญหาตามมา ก็จะยังไม่รีบกลับ “ความจริงผมอยากกลับบ้านตั้งแต่เมื่อวาน(วันที่ 2 ก.ค.) แต่บังเอิญว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและความเหมาะสม ผมไม่อยากให้ตัวผมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ถ้าผมกลับไปแล้วเกิดปัญหา ผมก็ไม่จำเป็นต้องรีบกลับ ผมอยู่ได้...”

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกจากจะเดินหน้านโยบายปรองดองเป็นภารกิจเร่งด่วนแล้ว ยังไฟเขียวให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เดินหน้าทำงานต่อไปด้วย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อทำงานร่วมกับ คอป. ด้านพรรคประชาธิปัตย์ รีบออกมาดักคอ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยว่า อย่าแทรกแซงการทำงานของ คอป.

2. “อภิสิทธิ์” แสดงสปิริตไขก๊อกหัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมแบะท่า รีเทิร์นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค!
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค
หลังพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)พ่ายศึกเลือกตั้งอย่างยับเยิน ในที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้แสดงความรับผิดชอบตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ที่บอกว่า หากพรรคได้เสียงไม่ถึง 170 เสียง ซึ่งถือว่าต่ำกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จะแสดงความรับผิดชอบ เพราะทำให้พรรคถดถอย ปรากฏว่า หลังพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้แค่ 159 คน นายอภิสิทธิ์จึงได้ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 4 ก.ค. พร้อมบอกว่า “ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำพรรคลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา โดยเฉพาะเทียบเคียงกับการเลือกตั้งปี 2550 แล้วพรรคได้คะแนนเสียงน้อยลง ผมก็คิดว่าการเป็นผู้นำที่ดีขององค์กรจะต้องแสดงความรับผิดชอบ...”

ทั้งนี้ การลาออกของนายอภิสิทธิ์ ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยข้อบังคับพรรคกำหนดว่าต้องประชุมใหญ่เพื่อเลือกใหม่ภายใน 90 วัน ส่วนนายอภิสิทธิ์จะยอมนั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ โดยบอกว่า ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่อยากกลับมานั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคอีก โดยบอกว่า “ถ้าผมคิดจะรับแล้วจะลาออกทำไม ผมคงต้องแสดงความรับผิดชอบในการที่ทำให้พรรคไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง” ทั้งนี้ นายสุเทพ ยืนยันว่า ไม่ว่าตนจะเป็นเลขาธิการพรรคหรือไม่ ก็ยังหนุนนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค เพราะเป็นผู้ที่มีความพร้อมสมบูรณ์เหมาะที่จะเป็นผู้นำของชาติในยุคนี้ และว่า ตนจะทุ่มเททำงานให้พรรค ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ก็ตาม ส่วนการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่นั้น นายสุเทพ บอกว่า ตั้งใจจะจัดช่วงปลายเดือน ส.ค. แต่ไม่ควรนานเกินไป เพราะต้องรีบมีหัวหน้าพรรคมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาปฏิเสธกรณีมีข่าวว่าเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะถูกเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรค โดยบอกว่า ยังไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น และเป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรคที่จะจัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรคใหม่

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นใจและให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์ พร้อมเห็นด้วยที่นายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพราะนักการเมืองอาชีพต้องรักษาคำพูด อย่างไรก็ตาม นายชวนเห็นว่าคนที่เหมาะจะเป็นหัวหน้าพรรคที่สุดยังเป็นนายอภิสิทธิ์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค พร้อมเชื่อว่า จะไม่เกิดรอยร้าวในพรรคเหมือนในอดีต และคิดว่าคนส่วนใหญ่ในพรรคจะเห็นใจนายอภิสิทธิ์ที่ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนจำนวน ส.ส.ของพรรคที่ลดลง คิดว่าไม่ใช่จุดที่ต่ำสุดของพรรค ผู้สื่อข่าวถามนายชวนด้วยว่า หากถูกเสนอชื่อให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค จะรับหรือไม่ นายชวน รีบปฏิเสธ โดยบอกว่า “ไม่รับครับ ผมชัดเจน ไม่มีเงื่อนไข จ้างก็ไม่รับ ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค ไม่ใช่ตำแหน่งที่เราจะไปกำหนดได้ ตามข้อบังคับจะให้หัวหน้าพรรคเสนอตัวบุคคลเข้ามา”

ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลง(6 ก.ค.)ว่า หลังจากได้หารือร่วมกับนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ,นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง กทม. รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.กทม.และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคแล้ว ต่างเห็นตรงกันว่า อยากให้นายอภิสิทธิ์ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคต่อไป

3. ศาลโลกนัดชี้ขาด จะสั่งไทยถอนทหารออกจากพื้นที่พระวิหารหรือไม่ 18 ก.ค.นี้ ด้าน “กษิต” เตรียมนำทีมบินไปฟังเอง!

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ได้ออกแถลงการณ์นัดให้ประเทศไทยและกัมพูชาไปฟังคำพิพากษากรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราว ระหว่างรอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ซึ่งกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราว 3 ข้อ คือ 1.ให้ไทยถอนทหารพร้อมอาวุธออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารอย่างไม่มีเงื่อนไข 2.ห้ามทหารไทยทำกิจกรรมใดใดบริเวณปราสาทพระวิหาร และ 3.ให้ประเทศไทยหยุดพฤติกรรมหรือการกระทำใดใดที่อาจเป็นการแทรกแซง ยั่วยุ หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับข้อพิพาทขึ้นมาอีก โดยศาลโลกได้นัดทั้งไทยและกัมพูชาฟังคำพิพากษาว่าจะออกมาตรการชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอหรือไม่ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ หลังจากได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายชี้แจงครบถ้วนแล้ว

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 ก.ค. เพื่อรายงานให้ทราบเรื่องที่ศาลโลกนัดฟังคำพิพากษา โดยหลังเข้าพบ นายชวนนท์ เผยว่า ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อต่อสู้ไปว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ อีกทั้งไทยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว จึงหวังว่าคำตัดสินของศาลโลกที่จะออกมาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย นายชวนนท์ ยังฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า เรื่องอธิปไตยเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลควรมีความเห็นตรงกัน จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีแนวทางไม่ต่างจากรัฐบาลชุดเดิม เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยืนยันได้ว่าไม่มีเจตนารุกรานเพื่อนบ้าน แต่ทำเพื่อรักษาอธิปไตย โดยรัฐบาลใหม่ต้องยืนยันแนวทางการใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาเท่านั้น เพราะแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ทำให้ไทยเสียเปรียบ

ขณะที่นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า สัปดาห์หน้านายกษิตจะนำคณะเดินทางไปฟังคำพิพากษาของศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมา ไทยมั่นใจว่าได้ชี้แจงให้ศาลเข้าใจอย่างดีที่สุดแล้ว และหวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยืนยันว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทีมกฎหมาย ทีมที่ปรึกษา หรือทีมทนายความ พร้อมวอน อย่าเพิ่งคิดอะไรไปในแง่ร้าย

ส่วนความเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.และได้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา รีบออกมาบอกว่า การที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาดีขึ้น พร้อมชี้ว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างกัน อีกทั้งจะทำให้ความแตกต่างทางความคิดระหว่างประเทศทั้งสองได้รับการแก้ไขโดยสันติวิธี

4. “พระราชินี” พระราชทานแจกันดอกไม้ให้กำลังใจ “หมอมุก” ด้านตำรวจ เตรียมสรุปสำนวน-แจ้งข้อกล่าวหาคนขับชนสัปดาห์หน้า!
 ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน นางสนองพระโอษฐ์ เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นำแจกันดอกไม้พระราชทานมาเยี่ยมอาการหมอมุก(8  ก.ค.)
ความคืบหน้ากรณี พ.ต.พญ.หทัยพร อิ่มวิทยา หรือหมอมุก อายุ 34 ปี แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถูกรถยนต์นิสสัน ซันนี่ ทะเบียน วค 1355 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนอย่างแรง ขณะเตรียมถอยรถเข้าบ้านพักที่เสาวรสคลินิค ย่านถนนเศรษฐศิริ เขตพญาไท ขณะนี้ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ขณะที่ พ.อ.ศักดิ์สิทธิ์ ภู่กลั่น ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานปลัดบัญชีทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พญาไท โดยตอนแรกอ้างว่าเป็นแค่คนดูแลรถ ไม่ได้เป็นคนขับรถชน แต่ภายหลังกลับออกมาพูดใหม่ว่าเป็นคนขับรถคันที่ก่อเหตุ ด้านตำรวจยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาใคร โดยจะรอสอบปากคำลูกสาวของ พ.อ.ศักดิ์สิทธิ์ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย และยังไม่ยอมเข้าให้ปากคำ โดยอ้างว่าติดเรียน รวมทั้งจะสอบปากคำหมอมุกด้วยนั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. น.ส.พินพิสุทธิ์ ภู่กลั่น อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านรังสิต ลูกสาวของ พ.อ.ศักดิ์สิทธิ์ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พญาไท โดยเดินทางมาพร้อมด้วยนายทหารพระธรรมนูญ 2 นาย เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.พินพิสุทธิ์ สวมหมวกปีกกว้างและใส่แว่นตาสีดำ รวมทั้งคาดหน้ากากผ้าปิดบังใบหน้า ระหว่างเข้าให้ปากคำพนักงานสอบสวน ผู้สื่อข่าวพยายามถ่ายรูป แต่ผู้ติดตาม น.ส.พินพิสุทธิ์พยายามยืนบัง ด้านเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานได้มาร่วมตรวจดีเอ็นเอของ น.ส.พินพิสุทธิ์ เพื่อนำไปเทียบกับดีเอ็นเอในรถยนต์นิสสัน ซันนี่ คันที่ก่อเหตุด้วย ขณะที่ตำรวจ สน.พญาไท ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ น.ส.พินพิสุทธิ์ เพื่อนำไปเทียบกับลายนิ้วมือบนกระจกรถยนต์ของหมอมุก ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนใช้เวลาสอบปากคำ น.ส.พินพิสุทธิ์นานกว่า 5 ชั่วโมง

ด้าน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เผยหลังร่วมสอบปากคำว่า น.ส.พินพิสุทธิ์มาให้ปากคำในฐานะพยาน โดยให้การทำนองว่า วันเกิดเหตุเดินทางไปกับใครบ้าง นั่งอยู่ตรงไหนของรถ และทำอะไรบ้างในวันดังกล่าว แต่รายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ในสำนวน นอกจากนี้ น.ส.พินพิสุทธิ์ ยังให้การด้วยว่า พ.อ.ศักดิ์สิทธิ์ บิดาเป็นคนขับรถ ซึ่งตรงกับคำให้การของ พ.อ.ศักดิ์สิทธิ์ และว่า เมื่อการสอบปากคำเสร็จสิ้นและผลพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ออกมาแล้ว จะแจ้งข้อหาทันที เพราะหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอแล้ว แต่จะเป็นข้อหาอะไรและแจ้งกับใครนั้น พล.ต.ต.วิชัย บอกว่า ไม่สามารถบอกได้

2 วันต่อมา(6 ก.ค.) พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้ออกมาเผยว่า หลักฐานที่มีอยู่ค่อนข้างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องสอบปากคำหมอมุกก็ได้ เพราะคดีจะล่าช้าไปมาก พร้อมคาดว่าจะสรุปสำนวนทั้งหมดได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยจะชี้ชัดได้ว่าเป็นเช่นไรและควรแจ้งข้อหาอะไรบ้าง

ด้าน พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้บัญชาการกองพิสูจน์หลักฐาน เผย(8 ก.ค.)ว่า ได้ส่งหลักฐานที่ตรวจพิสูจน์ในคดีหมอมุกให้พนักงานสอบสวนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลพิสูจน์ลายนิ้วมือ ผลพิสูจน์ดีเอ็นเอ รวมถึงภาพที่เห็นจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ พร้อมเชื่อว่า หากนำพยานหลักฐานที่มีอยู่ตอนนี้ไปประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ โดยเฉพาะพยานบุคคล ถือว่าเพียงพอต่อการแจ้งข้อกล่าวหาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบปากคำหมอมุกเพิ่มเติม

ส่วนความคืบหน้าอาการของหมอมุกนั้น มีพัฒนาการที่ดีขึ้นทุกวันอย่างเห็นได้ชัด พญ.พรรณกร อิ่มวิทยา มารดาของหมอมุก เผยว่า หมอมุกสามารถลุกเดิน ช่วยเหลือตัวเองได้ดี รับประทานอาหารได้เอง และโยนลูกบอลกับแม่ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์นำแจกันดอกไม้พระราชทานไปเยี่ยมอาการของหมอมุกที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า โดยทรงห่วงใยอาการของหมอมุก พร้อมพระราชทานกำลังใจให้หมอมุกหายไวไว สร้างความปลาบปลื้มแก่หมอมุกและครอบครัวเป็นอันมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น