xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลใหม่กับแนวทางการใช้อำนาจของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สุริยะมงคล

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ได้แสดงเจตจำนงที่จะมอบหมายให้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ใช้อำนาจของประชาชนใน 4 ปีข้างหน้า หรือตามวิถีของระบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ขอแสดงความยินดีและขอเอาใจช่วยให้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นบริหารประเทศแทนรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอความคิดเห็นและข้อสังเกตบางประการ เพื่อเป็นแนวทางการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนนราษฎรและเป็นแนวทางการใช้อำนาจของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ดังนี้

ประการแรก การที่ท่านได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เท่ากับท่านได้รับมอบหมายจากประชาชนให้มาเป็นผู้แทนหรือผู้ใช้อำนาจของประชาชนเป็นการชั่วคราวเท่านั้น อำนาจที่ท่านได้รับมอบหมายยังเป็น “อำนาจของประชาชน” ท่านไม่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนอย่างเด็ดขาด (Absolute power) หรือได้สิทธิอย่างเด็ดขาด (Absolute right) การใช้อำนาจของท่านไม่ว่าจะเป็นทางนิติบัญญัติหรือทางการบริหาร จึงต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจเป็นสำคัญ และต้องไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจของประชาชน เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองหรือเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องท่านเท่านั้น

หากเป็นเช่นนี้แล้ว จึงจะถือได้ว่าท่านใช้อำนาจอย่างถูกต้อง ชอบธรรม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกตั้งท่านมา ซึ่งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้อำนาจที่ถูกต้อง ชอบธรรม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว จะเห็นหรือรู้สึกได้ว่าท่านจะมีอำนาจยิ่งขึ้น ในขณะที่บางคนที่ใช้อำนาจไปในทางชั่วร้ายหรือเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้องก็จะมีอำนาจลดลงหรือหมดมือในที่สุด นี่คือสัจธรรมที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ประการที่สอง สืบเนื่องมาจากแนวคิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจในประการแรก ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง เพราะนั่นจะเป็นหนทางที่นำความเสื่อมมาสู่ตนเองและรัฐบาล โดยเฉพาะท่านไม่เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงการทำทุจริตคอร์รัปชันเท่านั้น แต่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของท่านอย่างซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้แก่ผู้คนในสังคม และควรต้องมีนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเรียกศรัทธาในหมู่พี่น้องประชาชน หรือในกรณีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแก่คนบางคนบางกลุ่มก็ไม่พึงทำ เพราะนั่นคือการทำลายหลักนิติรัฐ และเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวม

ประการที่สาม รัฐบาลควรกำหนดนโยบายสาธารณะที่มุ่งแก้ไขปัญหาโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ถูกปล่อยปละละเลยมาช้านาน เช่น การปฏิรูปที่ดินทำกินของเกษตรกร การออกกฎหมายภาษีมรดก และการปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงาน จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum wage) มาเป็นอัตราค่าจ้างตามค่าครองชีพ (Living wage) ซึ่งจะเป็นธรรมและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานไทย จึงขอฝากให้รัฐบาลใหม่เร่งพิจารณานโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมเหล่านี้ เป็นต้น

หากรัฐบาลมีความจริงใจและตั้งใจบริหารบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่โดยแท้จริงแล้ว ย่อมทำให้การใช้อำนาจของรัฐบาล ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงรัฐบาลจะมีความชอบธรรมสูงและมีอำนาจมากขึ้นนั่นเอง

            pisansuriyamongkol@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น