วุฒิสภาประชุมงบปี 56 วันที่ 2 “นิคม” ขอให้พูดแค่คนละ 15 นาที คาดลงมติหลัง 5 ทุ่ม “ส.ว.พิเชต” ซักต่อ บอกรัฐทำงบพอรับได้ แต่ยังกลัวสัดส่วนรายได้สูงกว่างบลงทุน จี้เข้มระเบียบการเงิน ขยายฐานภาษี ขอปีหน้าระบุรายละเอียดตัวเลขงบสำรองจ่ายฉุกเฉิน ชี้งบเพื่อสนองยุทธศาสตร์รัฐซ้ำซ้อน
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว ในวันที่ 2 เป็นการอภิปรายในภาพรวมของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2556 หลังจากที่ในวันแรกได้มีการลงรายละเอียดเป็นรายกระทรวง และหน่วยงาน โดยตัวแทนของคณะกรรมาธิการฯ ประจำวุฒิสภา โดยนายนิคม แจ้งต่อที่ประชุมว่า มี ส.ว.ที่ขออภิปรายจำนวน 48 คน ทั้งนี้ได้กำหนดเวลาอภิปรายคนละไม่เกิน 15 นาที เบื้องต้นจะใช้เวลา 12 ชั่วโมง ดังนั้นการอภิปรายจะแล้วเสร็จเวลาประมาณ 22.00 หรือ 23.00 น. จากนั้นจะมีการลงมติ ดังนั้นขอให้ส.ว.มีการอภิปรายตามกรอบเวลา หากอภิปรายไม่ถึง 15 นาทีไม่เป็นไร แต่อย่าขอให้เกินเวลา
สำหรับภาพรวมของการอภิปราย ยังคงเป็นการอภิปรายในภาพรวมทั้งหมดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2556 โดยนายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ภาพรวมของการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ในปี 2556 ถือว่ายอมรับได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ยังมีบางประเด็นที่น่ากังวล คือ สัดส่วนรายได้ ที่สูงกว่างบประมาณเพื่อใช้ในการลงทุน ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะยืนยันว่าจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ในปี 2559 ตนขอให้รัฐบาลเข้มงวดต่อการรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง รวมถึงหามาตราการจัดเก็บรายได้ทางภาษี โดยการ ลดภาษีบางประเภท หรือขยายฐานภาษีบางประเภท เช่น การจัดเก็บภาษีมรดก และปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสม นอกจากนั้นแล้วในการใช้งบประมาณ ซึ่งมาจากเงินกู้ ขอให้ใช้ความระมัดระวัง รอบคอบ และคำนึงถึงประสิทธิผลมากกว่าประโยชน์ทางการเมือง
นายพิเชตกล่าวต่อว่า ในการทำงบประมาณปีถัดไป ขอเรียกร้องให้รัฐบาลระบุในรายละเอียดของตัวเลขงบประมาณ ในส่วนของการจัดสรรงบเพื่อสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณาตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส นอกจากนั้นแล้วในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนองยุทธศาสตร์ของรัฐบาล พบว่าไม่ได้มีการตอบสนองปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วน รวมถึงการทำงบประมาณยังมีความซ้ำซ้อน ทั้งนี้ บางภารกิจควรมีการบูรณาการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตนมองว่าการทำงานที่ซ้ำซ้อน ขาดการบริหารจัดการที่ชัดเจนจะเป็นปัญหาและเป็นภาระต่องบประมาณ