xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

มาญี่ปุ่นในปีนี้ หากไม่เล่าเรื่องแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทางการญี่ปุ่นเรียกว่า “ฮิงาชินิฮอง ไดชินไซ” (東日本大震災) ก็คงจะพลาดอะไรไปสักอย่างหนึ่งเพราะมันอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนมีผลต่ออนาคตของญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก เช่นเดียวกับการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา

บนความสูงเกือบ 12 กิโลเมตรเหนือพื้นน้ำบริเวณหมู่เกาะโอกินาวา ที่อุณหภูมิภายนอกลบ 53 องศาเซลเซียส ด้วยความเร็วกว่า 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วินตัน มาซาลิซ (Wynton Marsalis) ศิลปินแจ๊สผู้ละวางสกอร์เพลงคลาสิกของบ็าคและไฮเดิลไปสู่การไร้สกอร์ไร้รูปแบบของเพลงแจ๊สกำลังวุ่นอยู่กับทรัมเป็ตคู่ใจกับจังหวะท่วงทำนองแบกกราวด์ของเครื่องเคาะจังหวะประกอบของลีลาไก่เดินจากเพลง Big Fat Hen ในอัลบั้ม Magic Hour สู่มหานครโอซากะ

จึงขอละวางจากคมดาบซากุระ จำใจแยกทางจากคุรุสุวินัยเพื่อหันมาสู่เรื่องเล่าจากคันไซนับจากเวลานี้เป็นต้นไป

แม้เป็นเพียงเรื่องเล่าที่อาจไม่ร้อนแรงเชือดเฉือนดังเช่นคมดาบซากุระ แต่ก็เพื่อเป็นการค้นหาแง่มุมใหม่ๆ ของประเทศไทยจากข้างนอก และเข้าใจแนวคิดของญี่ปุ่นด้วยสายตาของคนนอก จึงเป็นการดูฟุตบอล เจลีค จากข้างสนามด้วยสายตาของคนนอกมากกว่าดูจากจอทีวีอยู่ที่เมืองไทย

ยังเป็นการย้อนอดีตสมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนไปสู่อนาคต จากญี่ปุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่หนึ่งในทางเศรษฐกิจมาสู่ยุคของแผ่นดินไหว สึนามิ และการรั่วไหลของรังสีที่แม้จะมิใช่จากระเบิดนิวเคลียร์ดังที่ผู้คนในแถบเมืองฮิโรชิมะเคยประสบพบมาสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างสำหรับชาวบ้านในแถบโทโฮกกุ

ระหว่างคลื่นน้ำกับคลื่นจากระเบิดเมื่อกว่าหกศตวรรษที่แล้วมา ใครจะบอกได้ถึงความแตกต่างหากดูแต่ภาพเมืองภายหลังจากที่ประสบภัยสึนามิ

แม้คลื่นสึนามิจะพัดผ่านเลยไปแล้ว ความเสียหายที่ปรากฏอาจจะยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นและอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับเอเชียตะวันออกนับต่อจากนี้ไป ใครจะบอกได้

ญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นตนเองจากซากปรักหักพังดังเช่นนกฟีนิกส์ฟื้นจากเถ้าถ่านหรือไม่ อนาคตยังรอคำตอบนี้อยู่ ทิศทางและท่วงท่าของการฟื้นตัวจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเอเชียหรือแม้แต่ของโลกต่อไปในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายฝั่งพื้นที่สีฟ้าในรูปข้างล่างที่เรียกกันว่า โทโฮกกุ หรือ “อีสาน” ของญี่ปุ่น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเป็นไปในบริเวณกว้าง ตั้งแต่แถบโตเกียวไปจนจรดเหนือสุดถึงเกาะฮอกไกโด เมืองใหญ่ของ “อีสาน” ญี่ปุ่นที่ติดทะเล เช่น ฟูคุชิมะ เซนได คิเซนนุมะ อิชิโนะมะกิ ล้วนได้รับผลกระทบเป็นระลอกสองจากคลื่นสึนามิ

“อีสาน” ของหมู่เฮาชาวญี่ปุ่นจึงช้ำชอกได้รับภัยพิบัติ “สามเด้ง” คือ แผ่นดินไหวที่ติดตามด้วยคลื่นสึนามิที่กวาดบ้านเรือนผู้คนที่อยู่ในแถบชายฝั่งตามกระแสน้ำไปด้วย และจบสุดท้ายด้วยการรั่วไหลของรังสีที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองฟุคุชิมะที่อยู่ตอนล่างของพื้นที่สีฟ้าเกือบติดสีเหลืองส่วนที่ติดกับทะเลแปซิฟิก

คนญี่ปุ่นที่ว่าฉลาดนักก็จะยังมีเข็มขัดสั้นที่คาดไม่ถึงว่าระดับความสูงของกำแพงกันคลื่นที่สร้างไว้ป้องกันคลื่นสึนามิจะต่ำไป เพราะไม่ได้คาดว่าจะมีแผ่นดินไหวรุนแรงถึงกว่าระดับ 9 ริกเตอร์สเกล ในบางพื้นที่ชายฝั่งที่มีแนวเขาโอบรอบเป็นเกือกม้าหันหน้าออกทะเล ความสูงของคลื่นที่ซัดเข้าหาตามรายงานในภายหลังสูงถึงกว่า 20 เมตรเลยทีเดียว ภาพรถโดยสารขนาดใหญ่ที่ไปอยู่บนชั้นดาดฟ้าของอาคาร 3 ชั้นเป็นเครื่องยืนยันถึงความสูงของคลื่นที่ซัดเข้ามา

คลื่นสึนามิยังเป็นเหตุของรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะน้ำได้ท่วมเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้ไม่สามารถนำน้ำไประบายความร้อนในเตาปฏิกรณ์ที่ยังไม่เย็นตัวลงแต่ต้องหยุดทำงานแบบฉุกเฉินอันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหว ผลก็คือเกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ แม้จะไม่หลอมละลายทะลุออกมาจากตัวห่อหุ้มแต่ก็ก่อให้เกิดความร้อน ก๊าซและแรงกดดันที่ควบคุมไม่ได้จนเกิดการระเบิดของตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างที่สร้างคลุมเตาปฏิกรณ์เอาไว้ตามที่เห็นในภาพข่าวกันโดยทั่วไปแล้ว

การรั่วไหลของรังสีจึงมาจากทั้งการฟุ้งกระจายเนื่องมาจากแรงระเบิดที่ได้กล่าวมาข้างต้น และจากการนำเอาน้ำทะเลเข้าไประบายความร้อนเมื่อเครื่องสูบน้ำฉุกเฉินไม่ทำงาน
คนจึงเป็นเพียงผู้สร้าง แต่ฟ้าเป็นผู้กำหนดผลสำเร็จหรือล้มเหลวโดยแท้ ไม่มีใครฝืนชะตาฟ้าได้

แต่ผู้คนที่อยู่ห่างออกไปเกือบ 300 กิโลเมตร เช่น ในกรุงโตเกียวก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่ากัน แม้สึนามิจะมิจะได้พัดผ่าน แต่ก็มีผลต่อการคมนาคมหลัก เช่น รถไฟ และรถยนต์ ที่ไม่สามารถใช้งานได้ อย่าลืมว่าโตเกียวในวันที่ 11 มีนาคมยังเป็นวันทำงาน และเกิดเหตุภายหลังจากที่ผู้คนส่วนใหญ่มาถึงที่ทำงานแล้ว (14.46 น.) แต่กลับบ้านตนเองไม่ได้เพราะไม่มีระบบขนส่งมวลชนให้บริการ

การที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถกลับบ้านได้ หากญี่ปุ่นไม่มีปัจจัยที่เรียกว่า “ทุนทางสังคม” หรือ Social Capital ที่มากกว่าประเทศอื่นๆ ยังวาดภาพไม่ออกเหมือนกันว่าจะเกิดความยุ่งยากวุ่นวายมากน้อยเพียงใด ภาพคนในพื้นที่โทโฮกกุเข้าแถวเรียบร้อยเพื่อรอรับสิ่งของความช่วยเหลือ หรือแม้แต่เข้าแถวซื้อสินค้าที่ตนเองต้องการโดยไม่มีการแตกแถวแย่งชิงกันแต่อย่างใดคือตัวอย่างของ “ทุนทางสังคม” เหตุการณ์ในโตเกียวในช่วงบ่ายวันที่ 11 มีนาคมก็เป็นเช่นเดียวกัน

ผู้คนที่มิได้มีที่อยู่อาศัยในโตเกียวแต่มาทำงานที่นั่นหลายคนจึงต้องไปพักค้างในคืนวันที่ 11 มีนาคมในสถานที่ต่างๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน เช่น โรงเรียน โรงโบว์ลิ่ง ห้างสรรพสินค้า โบสถ์ หรือสถานีรถไฟ เพื่อรอระบบขนส่งมวลชนทำงานอีกครั้ง

มีภาพจำนวนมากที่ไม่ได้เผยแพร่ในสื่อต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นที่ร้านค้า ร้านอาหารเอื้อเฟื้อบริการห้องน้ำให้กับผู้คนที่กลับบ้านไม่ได้เหล่านั้นที่อาจไม่ได้เข้ามาซื้อหาสินค้าหรือเป็นลูกค้าแต่อย่างใด

แม้จะมีการเตรียมพร้อมสำหรับการเกิดสาธารณภัยอยู่แล้ว อย่างน้อยในแต่ละพื้นที่ก็มีพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่หลบภัยและผู้คนก็เตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้วเพราะภัยธรรมชาติแบบนี้มิใช่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดสำหรับคนญี่ปุ่น หากแต่จะเกิดเมื่อใดและอย่างไร ผู้คนในโตเกียวก็มีมากเป็นสิบล้านคนอยู่แล้ว และหากเป็นวันทำงานจะมีคนที่มิได้อาศัยอยู่ในโตเกียวเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ถ้าคนเหล่านั้นกลับบ้านไม่ได้ ที่กิน ที่นอน ที่ขับถ่ายจะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที แถมช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงปลายฤดูหนาว

ดังนั้นการผ่านพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโดยไม่มีการจลาจลหรือความไม่สงบเกิดขึ้นตามมาก็อาจถือได้ว่านอกเหนือไปจากการเตรียมพร้อมที่มีอยู่แล้ว โครงสร้างทางสังคมญี่ปุ่นอาจนับได้ว่ามี “ทุนทางสังคม” อยู่ในระดับสูงทีเดียว

ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าบ้านเรามีเหตุเกิดแบบนี้บ้างจะโกลาหลสักขนาดไหน

* 1 The Japan Foundation Fellowship, บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วยแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น